×

เปิดเบื้องลึกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต้องทำอย่างไรคนไทยถึงไม่ตกเป็นเหยื่อ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2023
  • LOADING...
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาชญากรรมในรูปแบบ ‘ออนไลน์’ กลายเป็นภัยระดับประเทศที่สร้างความเสียหายกระจายไปได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากผู้เสียหายไม่ได้เกาะกลุ่มหรือมีประเภทที่ชัดเจน แต่ ‘เหยื่อ’ จะเป็นใครก็ได้ที่เพียงแค่มีโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนในมือ

 

ข้อมูลสถิติจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ประเด็นคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

 

  1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ จำนวน 108,383 ครั้ง
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน จำนวน 38,669 ครั้ง
  3. หลอกให้กู้เงิน จำนวน 35,121 ครั้ง
  4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 23,545 ครั้ง
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) จำนวน 21,482 ครั้ง

 

แม้คดีในรูปแบบการข่มขู่ทางโทรศัพท์หรือคอลเซ็นเตอร์จะมีอัตราคดีอยู่ลำดับที่ 5 แต่ความจริงแล้วมูลค่าความเสียหายถือว่าไม่ได้น้อยไปกว่าคดีรูปแบบอื่นๆ นอกจากผู้เสียหายจะต้องสูญเสียทรัพย์สินแล้ว เหตุการณ์ล่าสุดที่กลายเป็นข่าวเตือนภัยสังคม จากเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้เสียหายมากกว่าทรัพย์สินที่ผู้เสียหายได้สูญเสียไป

 

ในครั้งนั้นมิจฉาชีพเลือกใช้วิธีการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่เคยพบเจอ คือการหลอกผู้เสียหายที่เริ่มจากนักศึกษา (เหยื่อคนแรก) คนร้ายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติของพัสดุ ขอให้ทำตามคำแนะนำและขั้นตอนหากไม่อยากมีความผิดหรือคดีติดตัว

 

เรื่องราวดำเนินต่อไปอย่างไร้พิรุธ นักศึกษารายนี้ไม่รู้ตัว คนร้ายสร้างประเด็นต่อทันที โดยการหลอกว่าพบความผิดปกติของบัญชีธนาคาร มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะข้องเกี่ยวกับขบวนการยาเสพติด คนร้ายทำการหลอกล่อให้นักศึกษารายนั้นทำตามขั้นตอนโอนเงินทั้งหมดมาฝากไว้ที่บัญชีเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเงิน จนทำให้นักศึกษารายดังกล่าวสูญเงินหลักหมื่นบาทไป

 

แต่เท่านั้นยังไม่พอคนร้ายยังขยายผลการหลอกลวงไปถึงผู้ปกครอง (เหยื่อรายที่ 2) ของนักศึกษา (เหยื่อคนแรก)

 

โดยสร้างสถานการณ์จำลองว่านักศึกษารายนี้กำลังตกอยู่ในเหตุการณ์ลักพาตัวถูกเรียกค่าไถ่ หากผู้ปกครองต้องการสวัสดิภาพของลูกจะต้องจ่ายเงินมูลค่าหลักล้านบาทเพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกตัวเอง

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความปวดใจให้กับครอบครัวดังกล่าวอย่างมาก สถานการณ์นั้นสมจริงจนพ่อและแม่คิดว่าจะสูญเสียลูกของตัวเองไป แต่อย่างไรก็ตาม กรณีของครอบครัวนี้ยังถือว่าโชคดี ที่สุดท้ายเหตุการณ์เลวร้ายจบลงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าให้การช่วยเหลือและระงับการสูญเสียเงินจำนวนมากได้ทันเวลา พาตัวลูกกลับสู่อ้อมกอดของพ่อแม่ได้อย่างปลอดภัย

 

 

THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล หัวหน้าชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีนี้ เล่าว่า รูปแบบที่ใช้ในการหลอกผู้เสียหายครั้งนี้ถือว่าเป็นรูปแบบผสมผสาน เริ่มต้นจากการ ‘หลอกแบบเดิม’ คือหลอกว่ามีพัสดุไปรษณีย์ตกค้าง เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้เสียหายไม่สามารถเดินทางไปประสานงานได้ด้วยตัวเอง ต้องให้เจ้าหน้าที่ปลายสายช่วยจัดการ

 

“วิวัฒนาการในเรื่องของความเลวร้ายเพิ่มมากขึ้นคือการสร้างความกดดันและความรู้สึกเจ็บปวดสะเทือนจิตใจให้กับผู้เสียหาย ทำให้รู้สึกกลัวหรือช็อกจนถึงขีดสุด ด้วยการเล่นกับความรู้สึกของคนเป็นพ่อเป็นแม่” พล.ต.ต. ธีรเดชระบุ

 

พล.ต.ต. ธีรเดชอธิบายต่อว่า ถ้าเป็นการหลอกแบบที่ผ่านๆ มา คอลเซ็นเตอร์สาย 1-3 จะหลอกผู้เสียหายเพียงคนเดียว และจะพยายามสะกดไม่ให้ผู้เสียหายไปสื่อสารกับผู้อื่น แต่ครั้งนี้เป็นการหลอกผู้เสียหายไปพร้อมกับการหลอกผู้ปกครอง 

 

 

ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดยหลักพื้นฐานของผู้ปกครอง สิ่งที่เขารักและห่วงมากที่สุดคือลูกของเขา แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบและยืนยันได้ว่าบุตรหลานไม่ได้ถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ตัวคนร้ายอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน แม้เจ้าหน้าที่จะมีการให้ข้อมูลผู้ปกครองไปแล้ว แต่ผู้ปกครองที่ได้รับสายโดยตรงจากคนร้ายว่าจะทำร้ายร่างกายลูกก็เลือกที่จะเชื่อคนร้าย

 

“การหลอกแบบเรียกค่าไถ่ถือว่าจิตใจของเขาเลวร้ายมาก แม้ตำรวจจะมองว่าปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ผู้ปกครองจะมองว่าเป็นเรื่องของการเรียกค่าไถ่ ถ้าในตอนท้ายสุดตำรวจหาตัวบุตรหลานหรือนักศึกษาที่ถูกหลอกไม่เจอ ผู้ปกครองก็จะยอมโอนเงินตามคำขอของกลุ่มผู้ร้าย” พล.ต.ต. ธีรเดชระบุ

 

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าชุดสืบนครบาลเคยเจอกรณีที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เลวร้ายถึงขนาดนี้ ขณะนั้นไม่มีการนำเรื่องของชีวิตมาล้อเล่น ไม่เคยมีความพยายามแยกแม่กับลูก ครั้งนี้จึงเป็นรูปแบบล่าสุดที่เกิดขึ้น 

 

 

พล.ต.ต. ธีรเดชอธิบายถึงขั้นตอนที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ว่า หากเป็นวิธีการหลอกลวงแบบเรียกค่าไถ่ การทำงานของคอลเซ็นเตอร์สายที่ 1 (สายแรก) จะวิเคราะห์น้ำเสียงของผู้เสียหาย (นักศึกษา) ว่ามีน้ำเสียงกลัว สามารถโน้มน้าวได้หรือไม่ ถ้ารายไหนมีท่าทีขัดขืนผู้ร้ายจะตัดสายทิ้งทันที แต่ถ้ามีท่าทีหลงเชื่อสามารถหลอกต่อได้ก็จะโอนสายไปที่สายที่ 2 และ 3

 

โดยการทำงานของคอลเซ็นเตอร์สายที่ 2 จะรับหน้าที่ในการสร้างสถานการณ์ให้สมจริงมากยิ่งขึ้น ผู้ทำหน้าที่เป็นสายที่ 2 จะมีการฝึกอบรมทุกคืน คืนละ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้การที่ผู้เสียหายถูกโอนสายต่อมาที่สายที่ 2 แล้ว แสดงว่าผู้เสียหายหลงเชื่อกับการหลอกลวงแบบ 100% แล้ว หลังจากนี้จะกลับตัวไม่ได้ และสูญเสียทรัพย์สินในท้ายที่สุด

 

สิ่งที่สังคมสงสัยว่าทำไมวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถยกระดับในการปราบปรามคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างหมดสิ้น ยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่ออยู่ พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวว่า 

 

ประเด็นที่ 1 คือตัวผู้เสียหายไม่กล้าที่จะออกมาเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น เนื่องจากกลัวเสียงจากสังคมสะท้อนกลับมาว่าทำไมถึงถูกหลอก รู้เห็นกับคนร้ายสร้างสถานการณ์หรือไม่ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ถึงกลัวคำขู่ของผู้ร้าย

 

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของการที่คนไทยหลายคนยินยอมและเอื้ออำนวยกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ในการเปิดบัญชีม้าเพื่อเป็นเส้นทางการเงิน ให้เงินสามารถโอนออกนอกประเทศได้ ที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างเปิดบัญชีม้าอยู่ที่ 500 บาทต่อบัญชี แต่ด้วยการปราบปรามของตำรวจที่เข้มข้นขึ้น การเปิดบัญชีม้าทำได้ยากขึ้น อัตราค่าจ้างเปิดบัญชีจึงเพิ่มสูงถึง 17,000 บาท จำนวนเงินที่มากหลายเท่าจึงกลายเป็นสิ่งล่อตาล่อใจให้หลายคนเลือกที่จะรับเปิดบัญชีม้า 

 

พล.ต.ต. ธีรเดชย้ำว่า ส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยเรื่องการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ได้หรือช่วยระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นคือหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นสายคือหน่วยงานรัฐ เอกชน ต้องดูแลข้อมูลของประชาชนอย่างจริงจัง มีแผนป้องกันความปลอดภัยหลายชั้น

 

และอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ปลายทางสุดท้ายอย่างธนาคารต่างๆ ที่จะต้องช่วยรับเรื่องประสานจากประชาชนให้เร็วที่สุด ธนาคารควรมีคู่สายพิเศษ ช่องทางพิเศษเปิดให้บริการตลอดเวลา เพื่อระงับการโอนเงิน เส้นทางของเงินให้ได้เร็วที่สุดก่อนที่เงินจะถูกโอนต่อไปเรื่อยๆ จนถึงประเทศเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

 

“การปราบปราม การป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นอกจากฝ่ายตำรวจจะต้องทำอย่างเต็มที่แล้ว ธนาคารเองก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะลดความเสียหายให้ประชาชน การช่วยเหลือที่ถูกจุดและทันท่วงที จะสามารถปกป้องเงินของประชาชนได้อย่างแน่นอน” พล.ต.ต. ธีรเดชกล่าวตอนท้าย

 

เราจะเห็นได้ว่ารูปแบบการหลอกลวง หรือกลุ่มมิจฉาชีพต่างก็ปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไป เมื่อช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการติดต่อของคนยุคปัจจุบัน การหลอกลวงเองก็แทรกซึมเข้ามาเพื่อสร้างความเสียหาย วัคซีนที่ดีที่สุดที่ประชาชนจะต้องมีคือ การตระหนักรู้และตื่นรู้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ แต่หากเกิดเหตุหลอกลวงไปแล้วยารักษาที่ต้องเข้ามาจัดการก็คือเจ้าหน้าที่ และธนาคารที่เข้ามาเยียวยาอย่างรวดเร็วและถูกจุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X