บรรดาสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจปลดพนักงานหลายร้อยรายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังเติบโตสูงดูเหมือนจะยังไม่สามารถทนทานต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทั่วโลก โดยบริษัทเทคโนโลยีอย่างน้อย 6 บริษัทลดพนักงานลง ซึ่งก็รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์อย่าง Sea Limited
นักลงทุนสายเทคโนโลยีมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการลดพนักงานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้เท่านั้น หลังจากที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น และเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องหันมาโฟกัสกับความสามารถในการทำกำไรมากกว่าการเติบโตอย่างรวดเร็ว
สตาร์ทอัพจำนวนมากปลดพนักงานนับร้อยราย
Jessica Huang Pouleur หุ้นส่วนของ Openspace บริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) กล่าวว่า เมื่อปีก่อนเงินทุนต้นทุนต่ำจำนวนมากไหลเข้ามาสู่ตลาด ส่งผลให้บริษัทต่างๆ เติบโตขึ้นได้ไม่ว่าต้นทุนของบริษัทจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ตามมาคือบริษัทต่างๆ จ้างคนเพิ่มอย่างมาก แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น บริษัทก็แค่ปลดคนออก
“ฉันคิดว่าเราน่าจะเห็นการปลดคนเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”
บริษัทอย่าง Shopee ได้ปลดพนักงานในธุรกิจขนส่งอาหารและธุรกิจชำระเงิน ซึ่งก็รวมถึงทีมพนักงานจากอาร์เจนตินา ชิลี และเม็กซิโก
ทั้งนี้ Chris Feng ซีอีโอของ Shopee ได้ส่งอีเมลถึงพนักงาน โดยมีใจความสำคัญว่า “ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น เราเชื่อว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ยาก แต่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบริษัท”
ด้านบริษัทอย่าง StashAway ซึ่งเป็นบริษัทดิจิทัลด้านการบริหารสินทรัพย์ ปลดพนักงาน 31 คน หรือคิดเป็น 14% ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ iPrice บริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์สัญชาติมาเลเซีย ลดพนักงานลงไปประมาณ 1 ใน 5 ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยบริษัทระบุว่า ก่อนหน้านี้มีพนักงานอยู่ทั้งหมด 250 คน ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษาของอินโดนีเซียอย่าง Zenius ปลดพนักงานออกกว่า 200 คน
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอย่าง Crypto.com ที่ปลดพนักงาน 260 คน หรือราว 5% บริษัท JD.ID ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JD.com ก็ปลดพนักงานเช่นกัน ซึ่ง Jamie Simon ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไปของ JD.com กล่าวว่า การปลดพนักงานดังกล่าว เพื่อให้บริษัทยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งแข่งขันอย่างรุนแรงในอินโดนีเซีย
ขณะที่สถิติการเปิดรับพนักงานด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์ก็ลดลงจาก 9,200 ตำแหน่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2021 มาเหลือ 8,850 ตำแหน่ง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ปี 2022
ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุน และกดดันให้บริษัทสำรองเงินสดยาวขึ้น
ด้าน Jefrey Joe กรรมการผู้จัดการของ Venture Capital อย่าง Alpha JWC กล่าวว่า ดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้ต้นทุนการเงินของบริษัทต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้อัตรากำไรสุทธิของแต่ละบริษัทลดลง และการปลดพนักงานน่าจะมีให้เห็นตามมาอีก
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สตาร์ทอัพจำเป็นต้องเผื่อเงินสดไว้ให้เพียงพอประมาณ 18-36 เดือน จากก่อนหน้านี้ที่อาจจะเผื่อไว้เพียง 12-18 เดือน ก่อนที่จะระดมทุนรอบใหม่” James Tan กรรมการผู้จัดการของ Quest Ventures กล่าว
เนื่องจากการที่นักลงทุนให้มูลค่าสตาร์ทอัพลดลง ทำให้บริษัทไม่ต้องการที่จะเร่งระดมทุนใหม่ และได้มูลค่าที่ต่ำลงจากการระดมทุนรอบที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทหันมาพยายามลดต้นทุนแทน
อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการเลือกสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่ง
Jefrey Joe กล่าวต่อว่า ช่วงขาลงเช่นนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับนักลงทุนในการเลือกบริษัทที่ยังทำได้ดีในขณะที่มูลค่าต่ำลง
หากนักลงทุนเริ่มมองหาโอกาสในตลาดหมี ผลลัพธ์อาจจะออกมาดีมากหากสามารถออกจากการลงทุนได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวกลับมาได้แล้ว
“เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างบริษัทที่ดีและบริษัทที่แย่ได้ชัดเจนขึ้น จากการที่บริษัทที่แย่จะปล่อยพนักงานที่มีความสามารถย้ายไปยังบริษัทที่ใหญ่กว่า แข็งแรงกว่า ซึ่งสามารถจ้างงานได้ดีกว่า”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP