Pastel Keyboard แอปพลิเคชันที่เปลี่ยนคีย์บอร์ดธรรมดาๆ บนมือถือให้เป็นมากกว่าแค่แป้นพิมพ์ ก่อตั้งโดย คุณเอก-เอกชัย เจริญพัฒนมงคล ในปี 2015 คุณเอกเล่าว่า เขาดูถ่ายทอดสดงาน WWDC เห็นคนรวยข้ามคืนโดยการทำธุรกิจบนแอปพลิเคชัน จึงมีฝันอยากจะทำแอปพลิเคชันที่มีคุณค่าทั้งทางจิตใจและการใช้งานของลูกค้าบ้าง แต่ในตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี
ในอดีตคุณเอกเคยเดินดูโทรศัพท์มือถือตามร้านตู้ต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า แล้วเห็นในยุคสมัยหนึ่งเกือบทุกร้านจะต้องขายหน้ากากคีย์บอร์ดของโทรศัพท์สำหรับ Blackberry ต่อมาในยุคที่สมาร์ทโฟนอื่นๆ เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด คีย์บอร์ดที่เคยเป็นแป้นพิมพ์ก็พัฒนามาเป็น คีย์บอร์ดบนหน้าจอ หรือ On-Screen Keyboard ผู้ใช้ก็จะไปหาซื้อเคสโทรศัพท์แทน ทั้งหน้ากากคีย์บอร์ดและเคสมือถือ หาซื้อได้ง่าย มีทางเลือกให้ลูกค้ามากมาย แต่พอสิ่งที่ต้องใช้งานทุกวันอย่าง On-Screen Keyboard กลับไม่มีทางเลือกให้ผู้ใช้ได้ปรับเปลี่ยนคอนเทนต์หรือธีมตามความพอใจของแต่ละบุคคลเลย คุณเอกจึงมีแนวคิดที่จะสร้างทางเลือกใหม่นี้ให้กับผู้ใช้
เคาะปุ่ม Enter!
คุณเอกเป็นคนมีพื้นฐานเรื่องไอทีและการตลาดอยู่แล้ว แต่ยังต้องการเพื่อนร่วมทางมาโฟกัสการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ก็นึกถึงเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน จึงไปชวน คุณปองพล วรพฤกษ์พิสุทธิ์ มาดูแลด้านเทคโนโลยี และคุณนิธิศา เจตน์มงคลรัตน์ มาดูแลด้านการบริหารการเงิน
ทั้ง 3 คน ตั้งเป้าว่า จะต้องหารายได้จากแอปพลิเคชันได้ตั้งแต่ตอนที่ผู้ใช้ดาวน์โหลด จึงกำหนดราคาของแอปพลิเคชันที่ 35 บาท เป็นการตัดสินใจที่สวนกระแสในสมัยนั้นที่คนนิยมให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดได้ฟรี แต่ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกทีเดียว หลังจากที่คุณเอกเคาะปุ่ม Enter ส่ง Pastel Keyboard ขึ้นบน App Store ของ iOS ปรากฏว่า มีเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม ลูกค้ายินยอมที่จะจ่ายเงินในการดาวน์โหลดเพื่อรับคอนเทนต์และธีมฟรีที่มีให้บริการอยู่แอปฯ
จากนั้นไม่นาน คุณเอกจึงได้เริ่มพัฒนาเวอร์ชันสองที่มี In-App Purchase ให้ผู้ใช้สามารถซื้อธีมได้เพิ่มเติมจาก Pastel Store ทำให้สร้างรายได้แบบมั่นคงในระดับหนึ่ง จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเปิดบริษัทของตนเอง
จากจุดเล็กๆ ของผู้ก่อตั้งเพียง 2-3 คน ปัจจุบันทีมขยายขึ้นร่วม 10 คน แม้ยังคงเป็นทีมเล็กๆ อยู่ แต่ก็สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดใน Paid Store ได้สูงมากกว่า 300,000 ดาวน์โหลด และยังคงรักษาตำแหน่ง Top Download ได้ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
กลยุทธ์รักษาแชมป์ในแบบ Pastel Keyboard
ตลอดระยะเวลา 3 ปี Pastel Keyboard สามารถรักษาตำแหน่ง Top Download ใน Paid App Store (แอปพลิเคชันที่ลูกค้ายอมเสียเงินในการดาวน์โหลด) เป็นการยืนยันศักยภาพของแอปพลิเคชันจากผู้ใช้งานจริง คุณเอกเผยว่า การยืนหยัดในตำแหน่ง Top Chart ได้นั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพียงให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการพัฒนาทุกๆ มิติ ทั้งการสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่โดนใจผู้ใช้อยู่สม่ำเสมอ สร้างคอนเทนต์และธีมที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แต่ต้องตรงกับใจผู้ใช้ ดังนี้
โฟกัสกับความต้องการของผู้ใช้
Pastel Keyboard มีจุดเปลี่ยนอยู่หลายครั้งมากๆ เราเกิดครั้งแรกมาได้ด้วยความสวยงาม ลูกค้าชื่นชอบ เราจึงทำฟีเจอร์การใช้งานเข้ามาเสริมเรื่อยๆ ด้วยความเข้าใจว่า ยิ่งเรามีตัวเลือกให้ลูกค้ามากเท่าไร ลูกค้าจะยิ่งชอบและใช้งานมากขึ้นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วพอวิเคราะห์การใช้งานลูกค้าจริงๆ จึงพบว่า ผู้ใช้ให้ความใส่ใจกับความสวยงาม และการปรับแต่งการใช้งานที่เลือกตามบุคคลมากกว่าตัวเลขของจำนวนฟังก์ชัน เราจึงหันกลับมาให้ความใส่ใจด้านลูกเล่นของแต่ละฟังก์ชันมากขึ้น เน้นที่ความตื่นเต้น ความสวยงามเป็นหลัก มากกว่าจะเพิ่มจำนวนฟังก์ชันโดยไม่จำเป็น
ชื่อแอปฯ และโลโก้สำคัญไม่แพ้การใช้งาน
เนื่องจากเป็นแอปฯ ที่ต้องเสียเงินก่อนดาวน์โหลด การเลือกชื่อและโลโก้ที่ถูกใจผู้ใช้ก็เป็นก้าวกระโดดแรกที่จะพาไปสู่ชัยชนะ เป็นประตูแรกที่จะทำให้ผู้ใช้หันมามอง การตั้งชื่อต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจและเข้าถึง คนเอเชียชอบอะไรที่น่ารัก ดูอ่อนโยน คุณเอกจึงตั้งชื่อและออกแบบโลโก้ให้สบายตา เข้าใจง่ายตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ทุกเพศ ทุกวัย
คอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์
ในระยะเวลาหนึ่ง มีคนพยายามทำแอปพลิเคชันคล้ายคลึงกันมาแข่ง Pastel Keyboard จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับเจ้าของลิขสิทธิ์ International Character อย่างเช่น Hello Kitty ทำให้เกิดยอดขายที่เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
คอมมูนิตี้ของผู้สร้าง
คุณเอกสนับสนุนให้เกิดคอมมูนิตี้ของนักสร้างคอนเทนต์และธีมคีย์บอร์ด จึงเปิดระบบ Pastel Crafter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้นักออกแบบทั่วโลกสามารถส่งคอนเทนต์และธีมคีย์บอร์ดของตัวเองขึ้นมาขายบน Pastel Store ได้ด้วย ทำให้ Pastel Keyboard มีคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามานำเสนอผู้ใช้อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันมีจำนวนสูงกว่า 6,000 รูปแบบ
เทคโนโลยีก็สำคัญ
การทำงานของ Pastel Keyboard จะเน้นในรูปแบบออโตเมชัน (Automation) หรือการจัดการแบบอัตโนมัติด้วยการคำนวณของคอมพิวเตอร์ เช่น การบริหารจัดการคอนเทนต์ในระบบ Pastel Crafter ตั้งแต่การนำคอนเทนต์ขึ้นมาในระบบ การจัดเก็บ การซื้อ-ขายคอนเทนต์ การแบ่งรายได้ และอื่นๆ ถูกดำเนินการด้วยรูปแบบออโตเมชันเกือบทั้งหมด เพื่อการรองรับการเข้ามาของนักพัฒนาคอนเทนต์จำนวนมาก
นิยามคำว่า Scale ในแบบ Pastel Keyboard
ความสำเร็จของ Pastel Keyboard ให้การใช้งานจริงของลูกค้ามากกว่าการได้รับเงินลงทุน คุณเอกให้นิยามคำว่า Scale คือการที่สามารถสร้างลูกค้าใหม่ที่ใช้งาน Pastel Keyboard ได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดการเติบโตแบบออร์แกนิก หรือการเติบโตของผู้ใช้ที่ปราศจากการกระตุ้นด้วยการใช้เงินอัดฉีด
ก้าวต่อไปในธุรกิจของ Pastel Keyboard
แม้ Pastel Keyboard จะครอง Top Chart มาเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจหยุดพัฒนา คุณเอกมองการขยายธุรกิจใน 2 ตลาด คือ ตลาดเดิม และตลาดใหม่ ปัจจุบัน Pastel Keyboard สร้างธุรกิจบนตลาด B2C โดยมีสโตร์ของคอนเทนต์และธีม เพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้ใช้ คุณเอกขยายโอกาสในตลาดเดิมด้วยแผนการพัฒนา Build-in Features Store เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้เดิมสามารถปรับแต่งฟังก์ชันการใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ด้วยตัวเอง ตามความต้องการของการใช้งาน เป็นทางเลือกที่มากกว่าแค่เรื่องคอนเทนต์
ในอีกตลาดที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ ตลาด B2B2C เป็นคีย์บอร์ดสำหรับองค์กร เพื่อทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงผู้ใช้ยุคใหม่ด้วยกลยุทธ์ Brand-in (Blend-in) แทรกตัวเข้าไปอยู่ร่วมกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนโดยสามารถเข้าถึงบริการขององค์กรนั้นๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น หากคุณเป็นโบรกเกอร์ คุณก็อาจจะมีข้อมูล ราคาทองคำให้ผู้ใช้สามารถแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อย่างรวดเร็วผ่านคีย์บอร์ด เป็นต้น
ข้อคิดสำหรับนักพัฒนาแอปฯ รุ่นหลัง
สุดท้ายนี้ คุณเอกยังฝากถึงน้องๆ รุ่นหลังๆ ที่มีไอเดียในการสร้างแอปพลิเคชัน ต้องศึกษาตลาดก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีคู่แข่งไหม และเราจะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ด้วยกลยุทธ์อะไร หลายครั้งไอเดียที่เราคิดว่าดีมากๆ ไม่มีใครซ้ำแน่ๆ แต่พอค้นหาข้อมูลจริงๆ อาจเจอคนอื่นที่ทำเหมือนไอเดียเราก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อยู่ที่เราเหมือนกัน ว่าในฐานะคนมาทีหลังจะนำเสนออย่างไรให้แตกต่าง
Pastel Keyboard เข้าร่วม AIS The StartUp Monthly Pitching เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการร่วมเป็นสมาชิกใหม่กับ AIS เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งในตลาดเก่าและตลาดใหม่ และสำหรับนักคิดนักพัฒนารุ่นใหม่ที่อยากสร้างโอกาสให้ตนเองเพิ่มเติมกับ AIS เช่น Pastel Keyboard สามารถส่งผลงานมาร่วมพิจารณาได้ที่ www.ais.co.th/thestartup