×

Startup Scale Up EP.6: ‘Fail Fast, Learn Faster’ ถอดประสบการณ์ FoodStory จากโมบายล์แอปฯ สู่การเป็นระบบบริหารจัดการร้านอาหารครบวงจร

04.07.2018
  • LOADING...

ก้าวสู่เอพิโสดครึ่งหลังของ Startup Scale Up Series เราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิด หลักการสำหรับรับมือในการเปลี่ยนแปลงของ FoodStory ในแต่ละช่วงเวลาของการดำเนินธุรกิจ

 

แนวคิดเริ่มต้นในการทำ FoodStory เป็นมาอย่างไร

บริษัท ลีฟวิ่ง โมบาย จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2012 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ด้วยทีมงานกลุ่มเล็กๆ เพียง 3 คนในออฟฟิศห้องเดียวเล็กๆ ใต้อพาร์ตเมนต์แถวโชคชัย 4

 

จากความชอบสรรหาของอร่อยของทีมงาน ทำให้ได้พบปัญหาที่สร้างความหงุดหงิดในหลายๆ ครั้งเมื่อไปใช้บริการร้านอาหาร จึงมีแนวคิดที่ว่าต้องการจะปฏิวัติการบริหารจัดการร้านอาหารแบบเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปมากตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน แต่ร้านอาหารมากกว่าครึ่งยังคงบริหารจัดการแบบเดิม ในช่วงเริ่มต้นได้มีความพยายามจะเชื่อมโยงลูกค้าร้านอาหารกับทางร้านค้าผ่าน Mobile Application แล้วก็ค้นพบว่าร้านค้าไม่มีอุปกรณ์ที่จะเชื่อมโยงเข้ากับมือถือลูกค้า ทำให้เป็นที่มาของการเริ่มต้นทำ ‘FoodStory’ ระบบบริหารจัดการร้านอาหาร เพื่อเชื่อมโยงร้านเข้าสู่โลกออนไลน์ ในรูปแบบการสื่อสารแบบเรียลไทม์ระหว่างร้านอาหารกับลูกค้าร้านอาหาร  

ปัจจุบันมี FoodStory ร้านค้าใช้บริการมากน้อยแค่ไหน

ปัจจุบันเราให้บริการร้านอาหารมากกว่า 600 ร้านค้า ในไทย, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, ลาว, กัมพูชา, กาตาร์ และบรูไน โดยกลุ่มลูกค้าหลักยังเป็นลูกค้าในเมืองไทย และตัวแทนจำหน่ายในสิงคโปร์และออสเตรเลีย และมีการขยายไปในประเทศอื่นๆ ตามร้านค้าที่มีการขยายแฟรนไชส์

 

ความเปลี่ยนแปลงของ FoodStory จากวันเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนก็มีเรื่อยๆ เลยนะครับ แต่ละปีมีเรื่องราวให้พวกเราต้องปรับตัวและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่พัฒนาโปรดักต์ที่ยังไม่มีใครเคยใช้ เราก็ทำจากสิ่งที่เราคาดการณ์ จากการจ้าง Software House มาเป็น Inhouse วิธีการหาผู้ใช้งานกลุ่มแรก และหาลูกค้าที่พร้อมจะควักกระเป๋าให้เราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากลูกค้าหลักสิบราย เป็นร้อยราย และตอนนี้ที่ประสบอยู่จากลูกค้าหลักร้อยเป็นหลักพันเราต้องปรับวิธีการทำงานต่างๆ ในทุกๆ วัน สิ่งที่เคยดีในวันนี้อาจจะดีไม่พอสำหรับวันพรุ่งนี้ที่จะเปลี่ยนไป ทีมงานเราเลยหยุดนิ่งไม่ได้เช่นกัน จาก 3 คน ปัจจุบันกำลังจะ 30 คน วิธีการบริหารจัดการทีมงานก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

เราทำระบบสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ ระบบหยุดทำงานแค่ 1 นาทีลูกค้าอาจจะมีโอกาสเสียโอกาสเป็นพันเป็นหมื่น ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ค่อนข้างหนักมาก ทำให้พวกเราต้องทำงานแบบพลาดไม่ได้เช่นกัน ยิ่งลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเราก็ต้องรัดกุมมากขึ้น พร้อมกับปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสมด้วยครับ เราให้ความสำคัญกับความเสถียรของระบบอย่างมาก

 

 

การเปลี่ยนแปลงทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

จุดเปลี่ยนหลักๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดมีประมาณ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการเปลี่ยน Business Model จากแอปฯ สำหรับคนชอบทาน (B2C) มาเป็นการสร้างแอปฯ สำหรับเจ้าของร้านอาหาร (B2B) เพื่อสร้าง Restaurant Ecosystem

 

เพราะการที่ร้านอาหารจะสื่อสารกับลูกค้าทั้งเรื่องของเมนูและโปรโมชันของร้านได้แบบเรียลไทม์นั้นจำเป็นจะต้องเป็นระบบที่ดีเพื่อรองรับการทำงานในทุกวันและทุกส่วนเพื่อเป็นการช่วยในเรื่องการจัดการธุรกิจร้านอาหารได้อย่างครอบคลุม เพราะแต่เดิมร้านอาหารจะใช้งานระบบเดียว นั่นก็คือระบบ Point-Of-Sale หรือ POS ทีมเลยมุ่งการพัฒนาเครื่องมือและระบบที่ดูแลแบบครบวงจรของธุรกิจร้านอาหาร ทั้งในเรื่องการดูแลสต็อก การดูแลเรื่องการขายหน้าร้าน รวมถึงระบบบัญชี การขยับของรูปแบบธุรกิจครั้งนี้ ทำให้ทีมได้เรียนรู้ว่า การทำระบบของร้านอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงมักไม่ค่อยเห็นการเกิดระบบใหม่ๆ ในตลาดของธุรกิจร้านอาหาร

 

อีกครั้งของการเปลี่ยนแปลงคือ Revenue Model จากเดิมการหารายได้เป็นแบบ Freemium ที่เป็น Paid Subscription ที่ต้องมีการจ่ายเงินในการสมัครใช้งานหรืออัปเกรด แต่เจ้าของร้านไม่ได้ต้องการเล่นเกมเพื่อให้ได้อัปเกรด แต่กลับอยากจ่ายเพื่อใช้ระบบทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา และการที่ระบบให้ใช้ฟรี ยังมีความกังวลเกี่ยวกับ Data Privacy และ Long Term Support

 

ในครั้งที่ 3 คือการเปลี่ยน Business Model อีกครั้ง จากที่จะทำ Restaurant Ecosystem ด้วยตัวคนเดียว มาเป็นการพาร์ตเนอร์กับแอปฯ สำหรับคนชอบทาน (B2C) สาเหตุที่เราตัดสินใจทำระบบใหญ่และเยอะเกินกำลัง โดยที่ยังไม่มี Funding จากนักลงทุนมาช่วยเหลือ ทำให้ใช้เวลานาน และการที่จะขยายให้คนชอบทานฝั่ง B2C ต้องใช้เงินจำนวนมาก ประกอบกับคนเริ่มไม่ค่อยอยากดาวน์โหลดแอปฯ ทำให้เราเริ่มเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอีกครั้ง ในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการที่จะทำ Ecosystem นั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะในแต่ละส่วนของ Ecosystem นั้นประกอบไปด้วยหลายส่วนธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป หลังจากทำธุรกิจมาหลายปี ทำให้เราเข้าใจจุดสำคัญว่าเราสามารถสร้าง Ecosystem ด้วยการพาร์ตเนอร์กับธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นๆ จะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จและลูกค้าก็แฮปปี้ไปพร้อมกัน

 

นิยามคำว่า Scale ในมุมมอง FoodStory เป็นอย่างไร

สำหรับพวกเราคำว่า Scale มันคือการที่ทีมงานของเรามีความสามารถในการตอบสนองลูกค้าของเราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกๆ วัน ลูกค้าเราเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เราไม่สามารถเพิ่มทีมงานเราได้ทุกวัน ดังนั้นเราจะต้องติดอาวุธหรือสร้างเครื่องมือต่างๆ ให้กับทีมงานของเราเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเราสร้างนวัตกรรมที่ทำให้ลูกค้าบริหารจัดการร้านอาหารของเขาได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับการเจริญเติบโต เพราะถ้าลูกค้าโต เราก็โตตามไปด้วย

 

FoodStory เป็นบริษัทที่ต้องมีกระบวนการดำเนินงาน หรือ Operation เกิดขึ้นภายใน มีวิธีการรับมืออย่างไรเมื่อธุรกิจขยายตัว

จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากในเวลานี้ ว่าเราจะปรับระบบ Operation หรือกระบวนการทำงานภายในของเราให้รับมือลูกค้าหลักพันได้อย่างไร หลังจากเราผ่านครึ่งพันมาแล้ว ทำให้ผ่านประสบการณ์มาแล้วพอสมควร อยู่ในช่วงของการปรับตัว เราพยายามทั้งหาทั้งสร้างเครื่องมือต่างๆ มาให้ทีมงานเราทำงานได้ดีขึ้น สิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการวิเคราะห์ปัญหาที่ต้นเหตุ และพยายามหาวิธีการจัดการกับมันอย่างมั่นคง เริ่มแรกเราก็ไม่ได้คิดว่าเรื่อง Operation ต่างๆ มันจะหนักขนาดนี้ แต่เพื่อลูกค้าเราก็ต้องปรับตัวพอสมควร จากไม่เคยคิดที่จะต้องเป็นคนขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จนกลายเป็น One Stop Service เพื่อความสะดวกสบายสำหรับลูกค้า เราก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ต้องบริหารจัดการตลอดเวลา

 

 

ทิศทางต่อไปของ FoodStory คืออะไร
เส้นทางของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติการบริหารจัดการร้านอาหารเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าไรครับ เรายังมุ่งหน้าที่จะพัฒนาวงการร้านอาหารให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ขยายขอบเขตการทำงานออกไปในแนวกว้าง จากการขายหน้าร้านไปถึงการขายสื่อออนไลน์ต่างๆ ไปถึงเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการผู้ผลิตหรือคู่ค้าต่างๆ ของร้านอาหารให้มีประสิทธิภาพ

 

มีอะไรที่ฝากถึงน้อง StartUp รุ่นใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำ StartUp ไหม

สำหรับ StartUp รุ่นใหม่ ให้ปรึกษาไอเดียกับเพื่อนๆ คนที่รู้จักเพื่อรับฟังความเห็น ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะขโมยไปทำเอง เพราะไอเดียจะไม่มีความหมายหากไม่ได้ลงมือทำ ในทุกธุรกิจจะมีจุดเปลี่ยนอีกหลายครั้งในภายหลัง

 

อยากให้โฟกัสที่คนที่มีแพสชันเดียวกัน และทีมทีมนั้นจะสามารถเดินไปได้ไกลเพื่อให้ถึงเป้าหมาย และควรโฟกัสที่ลูกค้ากลุ่มแรกที่เราทำโปรดักต์ให้ว่าเขาคือใครต้องการอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร หลังจากนั้นค่อยมาหาว่าเราจะไปแบบใหญ่หรือไปแบบ Niche เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า

 

ถ้าโปรดักต์เรามีคุณค่า ยังไงก็มีคนใช้ จริงๆ แล้วพวกเราก็ไม่ได้ขยายเร็วแบบเป็นหมื่นเป็นแสนใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็สามารถที่จะทำเงินรายได้เลี้ยงทีมงานให้อยู่รอดและเติบโตอย่างเนื่อง

 

สำหรับ StartUp ที่ได้เริ่มต้นแล้ว และกำลังจะ Scale

สำหรับ StartUp ที่เริ่มต้นแล้ว อยากเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ ดื้อกับไอเดียและวิชันได้ แต่ต้องไม่ดื้อด้านที่จะยอมรับฟีดแบ็กต่างๆ จากคนรอบข้างและลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุง เน้นสร้างคุณค่าให้กับทีมงานและโปรดักต์ เมื่อ Product/Market Fit ก็ต้องหา Sales, Marketing, Support Process เพื่อปรับปรุงและเสริมกำลังให้พร้อมกับตอนที่พร้อมจะ Scale ต้องเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอด เพราะทุกธุรกิจในแต่ละ Scale มีความท้าทายไม่เหมือนกัน FoodStory เข้าร่วมโครงการ AIS The StartUp ตั้งแต่ปี 2016 และเคยร่วมออกบริการ Food Solution ร่วมกับ AIS และธนาคารกสิกรไทย เรามีโอกาสได้เห็นการเติบโตของ FoodStory อย่างมีนัย จากศูนย์เป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน AIS ยังเปิดรับนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่องโดยสามารถส่งผลงานมาได้ที่ www.ais.co.th/thestartup ได้ตั้งแต่วันนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X