×

วิเคราะห์ ‘กับดักสตาร์ทอัพไทย’ ธุรกิจและรัฐจะร่วมมือฟื้นสถานการณ์อย่างไร?

22.08.2023
  • LOADING...
สตาร์ทอัพ

HIGHLIGHTS

  • 1 ใน 3 ของวงการธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก คือธุรกิจประเภทที่เกี่ยวข้องกับ Software & Data แต่สตาร์ทอัพอุตสาหกรรมนี้ในไทยที่ใช้ชื่อว่า Business Solution ยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8.6%
  • E-Commerce อุตสาหกรรมที่มีความนิยมต่ำลงในเวทีโลก กลับเป็นสตาร์ทอัพที่ไทยมีสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2
  • สตาร์ทอัพไทยเจอการแข่งขันที่ดุเดือดจาก Corporate Startup, จำนวนผู้บ่มเพาะและให้คำปรึกษากับสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นน้อยลง, ทรัพยากรบุคคลขาดแคลน และเงินสนับสนุนไม่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงแรก ล้วนเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งสตาร์ทอัพไทย
  • ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ควรสั่งสมประสบการณ์และความรู้ก่อน เพื่อให้เข้าใจภาพรวมธุรกิจและตลาด เพราะสตาร์ทอัพที่จะสำเร็จในยุคนี้จำเป็นต้องแก้ปัญหาในระดับ Regional หรือ Global ไม่ใช่แค่เพียง Local
  • ความร่วมมือระหว่าง ‘รัฐ-เอกชน’ ในสิงคโปร์และอิสราเอล เช่น โครงการส่งเสริมนักศึกษาให้ฝึกงานกับสตาร์ทอัพ หรือการตั้งหน่วยงานที่รัฐจับมือกับผู้ลงทุนเอกชนเพื่อแบ่งเบาความเสี่ยงและจูงใจให้มีการลงทุนมากขึ้น อาจเป็นตัวอย่างของหนทางฟื้นฟูสตาร์ทอัพไทย

“ผู้ประกอบการคือผู้ที่เลือกกระโดดลงเหว และพยายามสร้างเครื่องบินให้สำเร็จก่อนที่ตัวเองจะร่วงลงสู่พื้นดิน” Reid Hoffman ผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn

 

ประโยคนี้น่าจะคุ้นหูผู้ประกอบการสตาร์ทอัพหลายๆ คน เพราะสื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ที่เดินหน้าไปพร้อมกันกับความกล้าเสี่ยงในการคิดหานวัตกรรม แม้คำตอบที่มีจะยังไม่ชัดเจน และทรัพยากรในมือก็มีไม่ครบถ้วน แต่ก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ เหมือนกับการสร้างเครื่องบินกลางอากาศให้เสร็จทัน ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ

 

สตาร์ทอัพไทยสาย Software & Data ยังน้อย เมื่อเทียบกับโลก 

StartupBlink ศูนย์วิจัยและเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ได้รายงาน Global Startup Ecosystem Index 2023 เพื่อเผยให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศสตาร์ทอัพในกว่า 100 ประเทศ โดยเริ่มไล่เลียงจากภาพใหญ่ในรายอุตสาหกรรมก่อน

 

รายงานพบว่า 32% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของวงการธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก คือธุรกิจประเภทที่เกี่ยวข้องกับ Software & Data เป็นอันดับ 1 จากทั้งหมด 11 ประเภท สิ่งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องในตลาด ซึ่งสตาร์ทอัพสายนี้ก็ใช้ข้อได้เปรียบจากความตื่นตัวของพัฒนาการทางเทคโนโลยีต่างๆ และเกาะไปกับเทรนด์ของโลกแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Big Data Analytics เพื่อออกแบบบริการให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานมากขึ้น ตัวอย่างของสตาร์ทอัพชั้นนำในสายนี้ เช่น DuckDuckGo, Medium และ ResearchGate 

 

ตามมาด้วย Healthtech ที่มาแรงเป็นอันดับ 2 และ Fintech อันดับ 3 โดยมีสัดส่วนที่ 12.8% และ 10.4% ตามลำดับของสตาร์ทอัพทั่วโลก 

 

แต่จากสตาร์ทอัพทั้งหมด 11 ประเภท มีอยู่ 2 ประเภทที่สัดส่วนการขยายตัวของอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับปี 2022 และ 2023 นั่นคือ Social & Leisure จากเดิมที่มีสัดส่วน 10.38% ลดลงเหลือ 9.74% และ E-Commerce & Retail จาก 9.76% เหลือ 9.47% ซึ่งอาจหมายถึงความสนใจของนักลงทุนและผู้ประกอบการที่เบี่ยงเบนไปหาประเภทธุรกิจที่พวกเขามองว่ามีศักยภาพในการเติบโตได้มากกว่า

 

อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพที่เป็นที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก จากข้อมูลของ StartupBlink

 

เมื่อเริ่มเห็นภาพรวมทิศทางสตาร์ทอัพในระดับโลกไปแล้ว มามองพัฒนาการของสตาร์ทอัพในประเทศไทยกันบ้าง โดยรายงานอีกฉบับเรื่อง Future of the Thai startup and venture capital ecosystem จัดทำโดย Deloitte แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของประเภทธุรกิจสตาร์ทอัพไทย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดจากภาพด้านล่าง 290 ราย นำโดย Fintech (10.3%), E-Commerce & Retail (9.3%), Business Solution (8.6%) และอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกตามภาพด้านล่าง

 

รายชื่ออุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในประเทศไทย

 

ที่น่าสนใจคือ ถ้าย้อนกลับไปดูประเภทสตาร์ทอัพทั่วโลกในรูปแรกเทียบกับของไทย จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เช่น Fintech ที่เป็นอันดับ 3 ของโลกคือประเภทสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของไทย แต่ E-Commerce อุตสาหกรรมที่กำลังหดตัว กลับเป็นสตาร์ทอัพที่ไทยมีสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2

 

ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมของสตาร์ทอัพที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกอย่าง Software & Data อยู่ที่อันดับ 3 ของประเทศไทย แต่เชื่อว่า Business Solution ที่มีภาพรวมธุรกิจในหมวดเดียวกันกับ Software & Data แม้จะมีจุดที่ต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งความต่างของอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในไทยและต่างประเทศก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่นักลงทุนอาจจะเลือกลงทุนกับธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกมากกว่า

 

เปิด 4 ปัจจัยเหนี่ยวรั้งสตาร์ทอัพไทย

 

ความท้าทาย 4 มิติของสตาร์ทอัพไทยและบริษัทผู้ร่วมลงทุน (Venture Capital) จากรายงานการวิเคราะห์ของบริษัท Deloitte มีดังนี้

 

  1. สภาพตลาด: การแข่งขันกับสตาร์ทอัพที่มาจากบริษัทใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายธุรกิจที่สอดคล้องกับบริษัทแม่และมีทรัพยากรที่เพียบพร้อมกว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สตาร์ทอัพเกิดใหม่แข่งขันยาก อีกทั้งความสามารถในการขยายตลาดไปต่างประเทศยังน้อยเพราะขาดเครือข่ายพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังอยู่แค่ภายในประเทศ 

 

  1. ระบบโครงสร้างพื้นฐาน: ผู้ให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพอย่าง Incubators หรือผู้บ่มเพาะแนวคิดธุรกิจในช่วงเริ่มต้น และ Accelerators หรือผู้เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ กำลังลดลง ซึ่งเป็นเหตุให้ทรัพยากรที่จะมาช่วยพัฒนาธุรกิจมีน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับสตาร์ทอัพก็มีค่อนข้างจำกัดเช่นเดียวกัน

 

  1. ทรัพยากรบุคคล: คนเก่งที่อยากมาร่วมงานกับสตาร์ทอัพหาได้ยากขึ้น เนื่องจากบริษัทใหญ่มีความยืดหยุ่นกับค่าตอบแทน และชัดเจนกับความมั่นคงมากกว่า ทำให้สามารถดึงดูดคนเก่งได้ ข้อมูลรายงานยังพบว่า องค์กรที่เด็กไทยจบใหม่สาย IT อยากร่วมงานด้วย 10 อันดับแรกไม่มีรายชื่อของสตาร์ทอัพเลย นอกจากนี้ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่า กระบวนการทางกฎหมายมีความซับซ้อน ทั้งการขอวีซ่าและข้อจำกัดกรรมสิทธิ์ทางธุรกิจหากมีสำนักงานในประเทศไทย ทำให้สมองที่อยากจะไหลเข้ามาเกิดความลังเล

 

  1. การสนับสนุนและกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐ: เงินทุนจากโครงการภาครัฐต่อสตาร์ทอัพไม่เพียงพอที่จะซัพพอร์ตการดำเนินธุรกิจในช่วงแรกได้ โดยข้อมูลจาก Thai Startup ประเมินว่า เงินทุนที่สตาร์ทอัพต้องใช้ในระยะเวลา 1-2 ปีแรกคือ 5 แสน – 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทว่าเงินสนับสนุนจากโครงการในไทย เช่น (dVenture, Digital Startup Fund และ BOI Startup Grant) มีเพียง 20,000-150,000 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และแม้จะมีโครงการหลายโครงการที่ถูกนำมาใช้แล้ว แต่รายงานพบว่า โครงการยังขาดการสื่อสารและกระบวนการความชัดเจนที่มีประสิทธิภาพอยู่

 

แก้ปัญหา Local แต่ยังไม่ตอบโจทย์ Global

 

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทขนาดกลางเล่าว่า ความต่างที่เขามองเห็นในสตาร์ทอัพไทยเทียบกับต่างประเทศคือ สตาร์ทอัพในต่างประเทศมักจะตั้งเป้าว่า ทำอย่างไรจะสามารถตอบโจทย์คนให้ทั่วถึงในระดับภูมิภาคเป็นอย่างน้อยตั้งแต่วันแรกเริ่ม

 

แต่นั่นกลับเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองถึงในตอนแรก และมักจะติดกับปัญหาแค่ในระดับ Local แล้วค่อยไปคิดเรื่องการขยายไปต่างประเทศทีหลัง ทำให้ต้องเจอกับความลำบากเวลาจะขยายจริงเพราะโปรดักต์ไม่ตอบโจทย์ เมื่อคำตอบของปัญหาถูกจำกัดอยู่กับแค่คนในประเทศ การขยายสตาร์ทอัพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่ความลังเลของ VC ในการลงเงินทุน เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะตอนนี้นักลงทุนไม่ได้มองหาสตาร์ทอัพที่โตเร็วอย่างเดียวแล้ว แต่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการทำกำไรและแนวโน้มการขยายตลาดในวงกว้างเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ

 

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกับดักของหลายสตาร์ทอัพคือ การเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีบริหารเมื่อธุรกิจโตขึ้น เช่น การเพิ่มของผู้ใช้งานจาก 100 เป็น 1,000 จะไม่สามารถใช้วิธีทำธุรกิจแบบเดิมได้อีกแล้ว “คนเพิ่งเริ่มทำธุรกิจจะติดปัญหาตรงที่เขาทำธุรกิจไม่เป็น แต่ในทางกลับกัน คนที่ทำเป็นแล้วก็มักจะกลับไปคิดเหมือนตอนที่เริ่มต้นไม่ค่อยได้” ซึ่งในแต่ละระยะก็จำเป็นต้องอาศัยการ Coaching จากผู้ที่มีประสบการณ์

 

“สิ่งสำคัญเวลาจะเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพสักตัวคือ ประสบการณ์ คนทำสตาร์ทอัพจำเป็นจะต้องเคยคลุกคลีและสัมผัสบรรยากาศการทำงานของสตาร์ทอัพ หรือการสร้าง Growth มาระดับหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่าต้องเคยทำ Business จริงมาก่อนถึงจะสามารถเห็น Solution ที่รอบด้านขึ้นได้ เพราะผู้ที่ขาดประสบการณ์จะมองความเสี่ยงข้างหน้าได้ไม่ค่อยชัดเจน” 

 

จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ยุคแรก ผู้บริหารท่านนี้มองว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ 3 ของสตาร์ทอัพ ที่สภาพเศรษฐกิจเป็นขาลง และนักลงทุนระมัดระวังกับการลงทุนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง

 

ฉะนั้นคำแนะนำในวันนี้คือ อย่าเพิ่งรีบ ‘ก๊อบวาง’ โมเดลคนอื่นมาใช้ แต่ให้สั่งสมประสบการณ์ความรู้ก่อน “ความหวังของสตาร์ทอัพไทยรุ่นต่อไปจะอยู่กับคนที่เคยมีประสบการณ์และสามารถตีโจทย์ให้แตกได้ว่า ปัญหาแบบนี้แหละเป็นปัญหาระดับ Regional หรือ Global ไม่ใช่แค่เพียง Local” ผู้บริหารท่านนี้กล่าว

 

‘รัฐ-เอกชน’ การผนึกกำลังเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย

 

จากความท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน Deloitte ได้แนะแนวทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาและฟื้นฟูสตาร์ทอัพอีกครั้ง โดยการจัดตั้งโครงการร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพระหว่างภาครัฐกับบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของทั้ง 2 หน่วยงาน และดึงดูดเม็ดเงินจากบริษัทร่วมลงทุนในต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนจากความเสี่ยงที่ลดลง ทำให้ระบบนิเวศสตาร์ทอัพก้าวไปข้างหน้าได้

 

โครงการแนวนี้มีหลายประเทศเริ่มทำแล้ว เช่น สิงคโปร์ มีโครงการ SEEDS Capital ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการสนับสนุนเงินทุน ซึ่งให้การช่วยเหลือสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 2,000 ราย หรือ Seed Incentive Program ของอิสราเอล ที่เป้าหมายคือการแก้ปัญหาเงินทุนขาดแคลนแก่สตาร์ทอัพเกิดใหม่ โดยรัฐบาลอิสราเอลคาดว่า สตาร์ทอัพหน้าใหม่กว่า 60% จะสามารถได้เงินทุนตามที่พวกเขาต้องการได้ใน 3 ปี

 

แนวทางส่งเสริมที่สองคือ การเพิ่มความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพกับสถาบันการศึกษา โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายที่คอย ‘Connect the Dots’ เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึง Talent Pool กับสตาร์ทอัพให้กว้างมากขึ้น และสถาบันการศึกษาเองก็จะได้แก้ไขปัญหาโลกธุรกิจจริง ได้ไอเดียใหม่เพื่อขยายหัวข้อการทำวิจัย และสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันการศึกษา

 

ตัวอย่างความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพกับสถาบันการศึกษาจากสิงคโปร์ เช่น Infinity Series Program โครงการฝึกงานสำหรับนักศึกษากับสตาร์ทอัพ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินเดือนให้กับนักศึกษาแทนสตาร์ทอัพด้วย หรือ NUS Overseas Colleges (NOC) Program ที่ให้นักศึกษาได้ฝึกงานกับสตาร์ทอัพชั้นนำในต่างประเทศ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising