×

คิดและทำธุรกิจแบบอิสราเอล

29.08.2017
  • LOADING...

     ในสารคดีเรื่อง Israel Inside: How a Small Nation Makes a Big Difference (ผลงานของ ราฟาเอล ชอร์​) ช่วงหนึ่งมีการสัมภาษณ์ ดร. ทาล เบน-ชาฮาร์ นักวิชาการชาวอิสราเอล ที่โด่งดังมาจากการสอนวิชาจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเลือกจะกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศอิสราเอลบ้านเกิดอีกครั้ง เขาบอกว่า “เมื่อคนพูดถึงประเทศอิสราเอล เขามักจะนึกถึงสงคราม ศาสนา หรือแม้กระทั่ง ฟาลาเฟล (หนึ่งในอาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของอิสราเอล) แต่สำหรับผม เมื่อผมคิดถึงประเทศอิสราเอล ผมจะคิดถึง ‘ชัยชนะแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์’ เพราะอิสราเอลเป็นประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยศัตรูนานาประเทศ แต่กลับสามารถเปลี่ยนจากทะเลทรายและพื้นที่ที่ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ให้กลายเป็นประเทศที่สร้างผลผลิตที่ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง และเป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นด้วย”

 

 

     เราคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการมองประเทศเล็กๆ อย่างอิสราเอลกันใหม่อีกครั้ง เพราะวันนี้ประเทศที่เราแทบไม่เคยคิดถึงเป็นหมุดหมายหลักในการเดินทาง ประเทศที่แม้จะเคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยให้ความสำคัญ กลับกลายเป็นประเทศที่ทำให้เราทึ่ง และต้องตั้งใจเรียนรู้ในบทเรียนที่พวกเขาสอนผ่านผลงานและนวัตกรรมมากมาย ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อของพวกเขาบนหนทางของการเป็น

     ผู้ประกอบการ ที่มุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จนวันนี้คนทั้งโลกรู้จักประเทศอิสราเอลในนาม ‘Startup Nation’ หรือประเทศแห่งธุรกิจสตาร์ทอัพไปอย่างน่าภาคภูมิใจ เพราะที่นี่คือประเทศที่มีสตาร์ทอัพหนาแน่นที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 รองจากซิลิคอน วัลลีย์ ในสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับว่าเป็น hub หรือศูนย์กลางในด้านการสร้างผู้ประกอบการและนวัตกรรมของโลกไปแล้ว    

     ทุกการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประเทศเล็กๆ ให้เจริญรุ่งเรืองได้ภายในเวลาเพียง 69 ปี หลังประกาศเอกราช หรือการสร้างระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ถือว่าสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในวันนี้ กล่าวได้ว่าพวกเขาเริ่มจากความไม่มีอะไร หรือเริ่มต้นจากศูนย์ และจากความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างต้องเป็นไปได้ แม้คนอื่นจะมองว่าเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

     จากนั้นพวกเขาก็แค่อดทนทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อด้วยสารพัดการทดลอง ผ่านร้อยพันความล้มเหลว ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาทำต่อ ตราบใดที่ยังไม่สูญสิ้นความเชื่อมั่น ตราบนั้นก็ยังไม่นับว่าเป็นการสิ้นสุดของความฝันเพราะปลายทางนั้น ทุกคนล้วนต้องการเแปรเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ และกอดมันไว้ให้แน่นที่สุด

     ด้วยเหตุนี้ Startup Nation อย่างอิสราเอล จึงแฝงไปด้วยจิตวิญญาณของนักสู้และความเป็นผู้ประกอบการในความหมายของผู้คนที่ริเริ่ม สร้างสรรค์ด้วยหนึ่งสมองและสองมือ

 

 

เหตุผลที่อิสราเอลเป็น Startup Nation

     ก่อนหน้านี้การค้นหาข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับประเทศอิสราเอล มักไม่พ้นหนังสือประวัติศาสตร์และบทความจากสำนักข่าว หรือหนังสือพิมพ์ต่างๆ เรื่องราวเกี่ยวกับอิสราเอลจึงมักจะได้รับการนำเสนอในประเด็นสงคราม และความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างชาวยิวกับปาเลสไตน์ ศาสนา หรือชาติพันธุ์

     กระทั่งการมาถึงของหนังสือขายดีอย่าง Start-Up Nation ของ แดน ซีเนอร์ และซอล ซิงเกอร์ ที่ได้รับการแปลไปกว่า 20 ภาษา (แปลเป็นไทยในชื่อ คิดอย่างไร ใหญ่อย่างอิสราเอล โดยประภัสสรเสวิกุล)​ จากจุดนั้นเองเรื่องราวเกี่ยวกับความมุ่งมั่นแบบหาได้ยากจากประเทศอื่นๆ ความเป็นเลิศในเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย จึงได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก    

     ประเทศอิสราเอลได้มีการประกาศเอกราช และจัดตั้งรัฐอิสราเอล ซึ่งเป็นรัฐของชาวยิวอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ​ 1948 โดยมี เดวิด เบนกูเรียน เป็นผู้นำคนแรก และแต่งตั้งให้กรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศ

     ข้อความหนึ่งในหนังสือ Start-Up Nation บอกว่า เดวิด เบนกูเรียน เคยกล่าวไว้ในช่วงเวลาก่อตั้งประเทศว่า “ผู้เชี่ยวชาญทุกคนล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญของอะไรก็ตามในอดีต ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตการจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในอนาคตได้นั้น วิสัยทัศน์จะต้องมาแทนที่ประสบการณ์”

     เราเองก็เชื่อว่า วิสัยทัศน์ที่ดีนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางของประเทศ แต่ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้ชาวอิสราเอลก่อร่างสร้างตัวมาจนเป็นหนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน และเหตุผลเหล่านั้นก็คือ…

 

Warfare and Conflicts

     การอยู่ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้ง เพราะชาวยิวต้องผ่านการสู้รบและศึกสงครามนับครั้งไม่ถ้วนจากการที่ชนชาติต่างๆ เข้ามาแย่งชิงเพื่อครอบครองดินแดน  โดยเฉพาะสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งกับชาวอาหรับที่เป็นบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีกรณีพิพาทมายาวนานนับพันปี สงครามจึงทำให้ชาวยิวถูกขับไล่ และต้องอพยพออกนอกประเทศไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วโลก เพราะไม่มีประเทศให้อยู่ ประกอบกับการที่กองทัพนาซีของฮิตเลอร์กวาดล้างชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวยิวต้องอพยพหนีไปเป็นจำนวนมาก กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และมีการประกาศเอกราชและก่อตั้งประเทศอย่างเป็นทางการ ชาวยิวจึงอพยพกลับมายังดินแดนนี้อีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้ชนชาติอาหรับในพื้นที่เดิมไม่พอใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะจะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ล้อมรอบอิสราเอลอยู่ล้วนแต่เป็นรัฐอาหรับทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน (มีความขัดแย้งเรื่องเขตเวสต์แบงก์) อียิปต์ (มีความขัดแย้งเรื่องฉนวนกาซา) ทำให้อิสราเอลแทบจะไม่สามารถทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้เลย ด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงมองภาพการทำธุรกิจกับโลกทั้งโลกแทน และเป็นการคิดตั้งแต่วันแรกในการทำธุรกิจเลยก็ว่าได้

     ประเด็นนี้ คาริน เมเยอร์ รูบินสไตน์​ ซีอีโอจาก Israel Advanced Technology Industries (IATI) ให้สัมภาษณ์กับเราว่า  “เราต้องถูกล้อมรอบด้วยประเทศที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศัตรู เราถูกประเทศอื่นๆ คุกคามอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องเพิ่มความระวังตัวเป็นอย่างมาก พวกเราต้องคิดและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พูดง่ายๆ ว่า คนอิสราเอลแทบไม่ได้กิน ไม่ได้นอน ไม่ได้ดื่ม ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะพัฒนาหรือสร้างสรรค์อะไรบ้างตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เราสามารถป้องกันตัวเองได้ในระยะยาว”

 

 

The Country of Immigrants

     การเป็นประเทศแห่งผู้อพยพอิสราเอลเป็นประเทศที่มีประชาชนมากกว่า 70 เชื้อชาติรวมกัน เพราะช่วงที่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีชาวยิวที่เคยหนีไปอยู่ทั่วโลก รวมทั้งคนจากชนชาติอื่นๆ อพยพกลับมาก่อร่างสร้างตัวใหม่ การเป็นประเทศของผู้อพยพ จึงทำให้พวกเขาพร้อมเสมอสำหรับการเริ่มต้นใหม่และไม่กลัวความเสี่ยง

     การไม่กลัวความเสี่ยงเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งในที่นี้คือคนทำสตาร์ทอัพ เพราะทุกย่างก้าวของการทำธุรกิจ ล้วนแต่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งสิ้น และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทุกครั้งที่เราได้พูดคุยกับผู้คนในอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพในอิสราเอล เรามักได้ยินคำพูด

     ที่คล้ายๆ กันว่า พวกเขามองว่าความล้มเหลวเป็นเพียงเรื่องธรรมดาในชีวิต และไม่ได้เป็นเหตุผลที่จะทำให้พวกเขาหยุดเดินไปข้างหน้า

 

Serving the Army

     การรับราชการในกองทัพ อย่างที่บอกว่าการมีศัตรูอยู่รายรอบประเทศ คืออุปสรรคสำคัญอันดับแรกๆ ที่ทำให้ชาวอิสราเอลต้องตื่นตัวต่อการสู้รบ และพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงในกองทัพเพื่อป้องกันประเทศ และอิสราเอลก็เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีกฎบังคับว่า เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์​ ให้ประชาชนทุกคนต้องเข้ารับราชการทหารในกองทัพ โดยผู้หญิงจะต้องเข้าประจำการในกองทัพ 2 ปี ส่วนผู้ชายจะประจำการประมาณ 3-4 ปี การเข้ารับราชการทำให้วัยรุ่นอิสราเอลได้รับการฝึกฝนและบ่มเพาะวิธีคิดที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ความเป็นผู้นำ ความอดทน ความมีวินัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างกิจการของตัวเอง

     ในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับสูง เช่น เทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยคุกคาม หรือ Cybersecurity

 

Natural Resource Deficiency

     ความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติอิสราเอลเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิสราเอลเป็นทะเลทรายและขาดแคลนน้ำจืด จึงไม่มีพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกหรือทำการเกษตร ทำให้อิสราเอลต้องแก้ปัญหาด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาแหล่งอาหารเลี้ยงคนในประเทศ เช่น การมีระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) และนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบน้ำและเกษตรกรรมอีกมากมาย ซึ่งหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยต้องมาดูงานที่ประเทศอิสราเอล

 

Government Support

     การสนับสนุนของรัฐบาล รัฐบาลอิสราเอลจะสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกๆ ทาง เช่น ผ่านนโยบายของรัฐบาลการสร้างสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ การให้ทุน ฯลฯ เรื่องนี้ อันยาเอลแดน ประธานและผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพจาก Israel Innovation Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่พิจารณาสนับสนุนและให้ทุนสำหรับสตาร์ทอัพ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “การเป็นสตาร์ทอัพ แปลว่าคุณต้องเจอกับความเสี่ยงเป็นอย่างสูง แล้วมันก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่จะกล้าเสี่ยง

     ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของเราอย่างหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้คนกล้าเสี่ยง เช่น วิธีที่เราให้ทุนกับโครงการสตาร์ทอัพโดยไม่มีเงื่อนไข แปลว่าถ้าหากโครงการของคุณล้มเหลว ก็ไม่ต้องเอาเงินมาคืนเรา

     แต่ถ้าสำเร็จ ก็เอาเงินมาคืน นั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยทำให้คนกล้าเสี่ยง… รู้ไหมว่าน้อยคนที่จะทำเรื่องที่สำคัญในชีวิต หรือทำให้ฝันเป็นจริงได้ ฉันคิดว่าสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการเป็นผู้ประกอบการก็คือ คุณไม่ได้ไปทำงาน แต่คุณไปทำให้ความฝันเป็นจริง”

 

 

Technology-Driven Country

     การเห็นความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี อิสราเอลให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากกว่า 300 บริษัท ทำให้คนอิสราเอลจำนวนมากมีโอกาสทำงานในบริษัท

     ที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยี นอกจากนั้นอิสราเอลยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ส่งออกเทคโนโลยีสำคัญๆ มากมาย  จนตัวเลขภาคการส่งออกเทคโนโลยีมีมากกว่า 50% ของสินค้าส่งออก ข้อมูลจาก World Economic Forum ยืนยันด้วยว่า เมื่อเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีแล้ว ถือว่าปัจจุบันนี้อิสราเอลเป็นประเทศ

     ที่ทุ่มเงินไปกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดในโลก

 

‘Chutzpah’

     วิธีคิดแบบคุตซ์ปาห์ (Chutzpah) ในสายตาของคนทั่วไปมักจะมองว่าคนอิสราเอลเป็นคนที่ตรงไปตรงมา กล้าพูด กล้าเถียง กล้าริเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงนิสัยของพวกเขาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่คนอิสราเอลเรียกว่า ‘คุตซ์ปาห์’ โดย คาริน เมเยอร์ รูบินสไตน์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันคิดว่าคนอิสราเอลและคนทั่วโลกรู้อยู่แล้วว่าคุตซ์ปาห์คืออะไร ถึงแม้ในภาษาอิสราเอลอาจจะไม่ได้มีคำอธิบายถึงคำนี้ แต่มันหมายความว่าทุกอย่างอนุญาตให้เราทำได้ เช่น ถ้าอยากได้อะไร คุณก็ต้องไปคว้ามาถ้าอยากได้อะไรสักอย่าง คุณจะนั่งรออยู่เงียบๆ ไปทั้งชีวิตไม่ได้ คุณต้องออกไปทำให้มันเกิดขึ้นจริง เราชอบสิ่งเหล่านี้มาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเรา แต่ก็ต้องบอกว่ามันเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยแล้วเหมือนกัน ฉันคิดว่าคนทั่วโลกชอบชาวอิสราเอล พวกเขาชอบจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการของเราที่มีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก” เพราะไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเต็มไปด้วยข้อจำกัด และเพราะไม่มีอะไรจะสูญเสียไปมากกว่านี้ นั่นเองอาจจะเป็นเหตุผลที่ประเทศเล็กๆ อย่างอิสราเอล เริ่มต้นที่จะสู้และสร้างอย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่มีวันยอมแพ้จนกว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเป็นไปได้

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X