×

STARK กับตอนจบที่อาจถึงขั้นล้มละลาย ทิ้งความเสียหายไว้กับผู้ลงทุนแม้เพิ่งเข้าตลาดได้เพียง 4 ปี

02.06.2023
  • LOADING...
หุ้น STARK

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบทางอ้อมด้วยวิธีการที่เรียกว่า ‘Backdoor Listing’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นการนำบริษัทเข้ามาสวมทับอีกบริษัทหนึ่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดก่อนแล้ว

 

ในครั้งนั้น STARK ได้ทำ Backdoor Listing ผ่าน บมจ.สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย (SMM) โดยมีธุรกิจหลักคือการถือหุ้นในกิจการอื่น (Holding Company) ซึ่งกิจการอื่นที่ว่านี้เป็นธุรกิจหลักในด้านสายไฟฟ้า จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ระดับโลกที่ชื่อว่า ‘เฟ้ลปส์ ดอด์จ’ รวมทั้งการถือหุ้นในบริษัท Thipha และ Dovina ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ในเวียดนาม รวมไปถึงบริษัท Thai Cable ทำให้ STARK กลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าและสายเคเบิลอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 14 ของโลก อิงจากรายได้

 

4 ปีผ่านไป จากบริษัทที่ดูเหมือนกำลังจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยกำไรในปี 2563 ทำได้ราว 1.60 พันล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็น 2.78 พันล้านบาท ในปี 2564 ขณะที่ 9 เดือนของปี 2565 ก็ยังทำได้ถึง 2.21 พันล้านบาท แต่ล่าสุดบริษัทกลับติดปัญหาบางอย่างจนไม่สามารถที่จะนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ตามกำหนด

 

ปมปัญหาของ STARK

 

หุ้น STARK ตกเป็นเป้าสนใจจากผู้คนในแวดวงการลงทุนอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่บริษัทไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ตามกำหนด และก็ได้ผลัดออกไปอีกหลายครั้ง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทกันแน่?

 

บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และผู้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เห็นว่า STARK มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 รวมถึงบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารและแก้ไขระบบการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินดังกล่าว

 

ปมปัญหาที่สำคัญคือ การดำเนินธุรกิจภายในของ STARK อาจมีเรื่องของการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งในภายหลังบริษัทก็ได้ยอมรับว่าอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าผลประกอบการอันสวยหรูในช่วงที่ผ่านมา แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

ปมปัญหาดังกล่าวยังได้ลุกลามไปจนถึงเรื่องของหุ้นกู้ คิดเป็นมูลค่าราว 9.2 พันล้านบาท ซึ่ง STARK มีภาระที่จะต้องชำระคืน แต่การที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนด และยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงขณะนี้ ทำให้บริษัทอาจจะต้องเข้าข่ายผิดนัดชำระหนี้ตามมาด้วย

 

ล่าสุด จากการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 2 ชุด มูลค่า 2.24 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเรียกให้ STARK จ่ายหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยภายใน 30 วัน ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถชำระเงินคืนได้ ก็จะทำให้เกิดการ Cross Default หรือผิดนัดชำระกับหุ้นกู้ทั้งหมด

 

STARK เสี่ยงล้มละลายหลังจากนี้

 

แหล่งข่าววงการตลาดทุนเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าขณะนี้ยังไม่รู้ว่ากรณีของ STARK จะจบอย่างไร สิ่งที่ต้องรอดูหลังจากนี้คืองบการเงินปี 2565 ที่บริษัทบอกว่าจะประกาศในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

 

“ส่วนตัวเชื่อว่าโอกาสที่งบปี 2565 จะออกมาในโทนบวกนั้นค่อนข้างจะยาก เมื่อดูจากการออกมาแถลงของผู้บริหารหลังจากที่เริ่มมีการตรวจนับ Inventory ในระหว่างการทำ Special Audit ไปบ้างแล้ว แต่ก็ไม่สามารถให้ตัวเลขได้ หรือแม้แต่เรื่องของเงินสดว่าเหลืออยู่เท่าใด ซึ่งหากไม่ได้เกิดความเสียหายหนักก็น่าจะพอบอกตัวเลขได้บ้าง”

 

ในกรณีเลวร้ายสุด STARK น่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย หากท้ายที่สุดแล้วปรากฏว่าผลประกอบการของปี 2565 ออกมาย่ำแย่ โดยเฉพาะในส่วนของสินทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในรูปของสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้า คิดเป็นมูลค่าราว 3.4 หมื่นล้านบาท หากภายหลังการทำ Special Audit ทำให้สินทรัพย์ในส่วนนี้ลดลงไปมากกว่า 25% ก็มีความเสี่ยงที่ส่วนทุนของบริษัทจะติดลบ เพราะจากงบการเงินล่าสุด บริษัทมีส่วนทุนอยู่ 8.6 พันล้านบาท

 

นอกจากนี้การที่ผู้ถือหุ้นกู้ลงมติไม่ให้ STARK เลื่อนชำระหนี้ และเรียกคืนหนี้ภายใน 30 วัน ทำให้บริษัทเสี่ยงที่จะเกิด Cross Default กับหุ้นกู้ทั้งหมด หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ทั้งหมดมาเรียกชำระคืน และซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงการที่ธนาคารต่างๆ อาจจะหยุดให้เงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ

 

ในมุมของราคาหุ้น หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย SP ให้กลับมาซื้อขายชั่วคราวในวันนี้เป็นวันแรก ปรากฏว่าราคาหุ้นดิ่งลง 93.28% มาปิดที่ 0.16 บาท และทำให้มูลค่าบริษัทลดลงจาก 3.19 หมื่นล้านบาท มาเหลือเพียง 2.15 พันล้านบาท

 

“หลังผ่านช่วงเปิดให้เทรดชั่วคราวไปแล้ว หุ้น STARK น่าจะถูกสั่งพักการซื้อขายไปอีกยาว และหากผลประกอบการปี 2565 ประกาศออกมาแย่ คนที่เข้ามาร่วมเก็งกำไรในวันนี้ก็คงจะต้องรีบเทขายออก”

 

จับตา! ตลาดหุ้นกู้จะกระเทือนด้วยหรือไม่

 

ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนในหุ้นกู้โดยภาพรวมว่า หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นด้วย แต่โดยภาพรวมแล้วบริษัทของไทยอาจจะยังไม่ได้มีความเสี่ยงเท่ากับในสหรัฐฯ เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยยังปรับขึ้นไม่ได้มากนัก

 

“ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดที่ 2% ไม่เหมือนกับในสหรัฐฯ ที่อัตราดอกเบี้ยขึ้นจาก 1% มาเป็น 5%”

 

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มบริษัทที่ออกหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยสูง (High Yield Bond) อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่ไม่ได้มีความสามารถในการทำกำไรสูงนัก ซึ่งนักลงทุนควรที่จะเข้าไปดูผลประกอบการของแต่ละบริษัทที่ออกหุ้นกู้ก่อนที่จะลงทุน

 

“หากเป็นบริษัทที่มี EBIT มากกว่าดอกเบี้ยจ่าย 2-3 เท่า ก็ยังค่อนข้างปลอดภัย แต่ถ้าเริ่มปริ่มๆ ก็ต้องไปดูว่าธุรกิจนี้มีค่าเสื่อมเยอะหรือไม่ หากเยอะก็อาจจะใช้ EBITDA ในการพิจารณาแทนว่ามากกว่าดอกเบี้ยจ่ายมากแค่ไหน โดยรวมแล้วนักลงทุนต้องระมัดระวังในส่วนของ High Yield Bond มากขึ้น”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising