น่าดีใจไม่น้อยเมื่อได้รู้ว่ามีกลุ่มคนที่ได้พยายามทุ่มเทต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อพัฒนาความรู้ให้แก่เด็กไทย ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์บนยอดดอยอย่างเท่าเทียม มองข้ามความเหลื่อมล้ำ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
น่าดีใจยิ่งกว่าเมื่อได้รู้ว่ากระบวนการทำงานอย่างบูรณาการด้านการศึกษาที่ว่าผลิดอกออกผล ขยายไปสู่วงกว้าง มอบทักษะสำคัญต่อศตวรรษหน้าไปสู่เด็กๆ ในโรงเรียนกว่า 150 แห่ง เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งหมดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ Starfish Education ดำเนินการปิดทองหลังพระ เบื้องหลังการศึกษาไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันขับเคลื่อนโดยผู้บริหารสาวเก่ง ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร หรือที่รู้จักกันในนามของ ดร.แพร ซีอีโอบริษัท Starfish Education Social Enterprise Co., Ltd. องค์กรเอกชนที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
พร้อมควบตำแหน่งประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตของโรงเรียนบ้านปลาดาว เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคราะห์ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เปิดสอนในระดับชั้นปฐมวัยและประถมศึกษาภายใต้การบริหารของมูลนิธิฯ ที่เธอบอกกับเราว่า “สิ่งที่ทำทุกวันนี้เป็นความสุข แม้รู้ว่ายากก็ตามที”
จากโรงเรียนยอดดอยห่างไกล สู่รูปแบบการสอนตามตัวตนของเด็กๆ
“การที่แพรได้มาเจอกับ ดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม หลังจากเรียนจบมาใหม่ๆ ทำให้แนวคิดเรื่องการศึกษาไทยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านมีแนวคิดในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับเด็ก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างน่าสนใจ ทั้งที่ตัวท่านเองไม่ใช่คนไทย
“เลยตัดสินใจรับงานไปเป็นผู้จัดการมูลนิธิฯ และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทำให้แพรได้เห็นปัญหาลึกๆ จริงๆ ว่าแผนการเรียนสำเร็จรูปตามระบบไม่ตอบโจทย์ ในเมื่อเด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ต่างกันสูงมาก เราจึงตั้งคำถามถึงกระบวนการสอนว่าสิ่งนี้ใช่คำตอบหรือไม่
“ถ้าอย่างนั้นลองมาเริ่มกันใหม่ โดยจินตนาการว่า ถ้าแพรเป็นเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแรก วัยอนุบาลประมาณ 3-4 ขวบ มาอยู่ที่นี่ มูลนิธิฯ ที่เป็นโรงเรียนประจำ พวกเขาต้องการเรียนรู้อะไรจริงๆ แล้วเริ่มปรับนวัตกรรมการเรียนการสอนตามความต้องการของเด็กๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งกว่า 14 ปีที่ผ่านมา ตัวมูลนิธิฯ ถือว่าพัฒนาไปไกลมาก และตอนนี้เราหันมาโฟกัสเรื่องการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กในปัจจุบันและอนาคตอย่างจริงจัง”
นวัตกรรมของการศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องเด็กๆ แต่ต้องบูรณาการทั้งระบบ
“การทำงานด้านการศึกษา สุดท้ายแล้วทุกคนก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง หรือนวัตกรรมที่เกิดการเรียนรู้ เกิดผลวิจัยใหม่ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับเด็ก เราจึงดำเนินการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น
โปรแกรม Starfish Academy โครงการพัฒนาครู โดยเน้นนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่เกิดจากศึกษา วิจัย ที่โรงเรียนบ้านปลาดาว เช่น การเรียนแบบ Problem Based Learning หรือการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน, Makerspace และนวัตกรรมที่ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ อ่านออก เขียนภาษาไทย ได้เร็วขึ้น
โปรแกรม Starfish Class (www.starfishclass.com) เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยในการประเมินผู้เรียน โดยเน้นเรื่องของสมรรถนะและทักษะศตวรรษที่ 21 ที่เป็น Ed Tech การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนและในการบริหารจัดการ
โปรแกรม Starfish Maker ที่จัดพื้นที่นักสร้างสรรค์ Makerspace เช่นเดียวกับโรงเรียนในต่างประเทศหรือโรงเรียนนานาชาติที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เล่น ได้ค้นหาตัวเอง สามารถฝึกทักษะต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แพงๆ ซึ่งเราคิดกระบวนการที่เรียกว่า STEAM Design Process ขึ้นมา เป็น Design Thinking แบบง่ายๆ ให้เด็กเขาใช้ในโรงเรียนได้ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่
- เริ่มจากการถาม
- การจินตนาการ
- การวางแผน เป็นการเข้าสู่กระบวนการคิดและวิเคราะห์
- การสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง
- การคิดสะท้อนกลับ แล้วกลับไปทำใหม่
ซึ่งเห็นได้ว่า 5 ขั้นตอนเหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการสร้างทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 และเป็นสิ่งที่เด็กไม่เคยได้ทำในโรงเรียนไทยมาก่อน เอาแค่ขั้นตอนการถาม เด็กมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ถามในห้องเรียน ยิ่งเรื่องจินตนาการยิ่งไม่มีเลย ดังนั้นการเรียนแบบบูรณาการในแบบของเราคือ การทำให้เด็กค้นพบตัวเอง และทำอะไรแบบไม่ต้องมีขีดจำกัด กระบวนการเรียนรู้นี้เปิดโอกาสให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง ได้ค้นพบศักยภาพ ความชอบ และความถนัด
รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ Starfish Labz (www.starfishlabz.com) สำหรับนักการศึกษา ผู้ปกครอง และเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบคอร์ส บทความ และวิดีโอ ประเด็นความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ หรือสิ่งที่เราสอนไว้ให้เครือข่ายและคนทั่วไปได้เข้ามาใช้งานได้ฟรีๆ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีสมาชิกมากกว่า 120,000 คน
จุดเริ่มต้นของความยุ่งเหยิงที่ทำให้ทุกวินาทีมีค่า
“ปัญหาการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อนมาก และไม่มีทางจะแก้ได้จบ เพราะปัญหาจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเรื่อยๆ จากตรงนี้ไปยังอนาคต ตอนนี้คือจุดเริ่มต้นของความยุ่งเหยิงเท่านั้น เรียกว่าเป็น Disrupt ใน Disrupt ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกหนทุกแห่งทั่วโลก
“แต่ในส่วนของเรา เรามีหลายโครงการ หลายองค์กรในเมืองไทย ถ้าเราทำอย่างดีที่สุด อันนั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของเราเองแล้ว
“เหมือนกับเรื่องเล่าต้นกำเนิดชื่อมูลนิธิฯ ที่ว่ามีปลาดาวเกยตื้นกำลังจะตายมากมายอยู่บนหาด และเราไม่สามารถช่วยได้ทุกตัว แต่อย่างน้อยตัวที่เราโยนกลับลงไปในทะเลก็ยังรอด เช่นกัน เราไม่สามารถจะช่วยทุกคนแก้ไขได้ทุกเรื่อง แต่กับคนที่เราได้ช่วย เราก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเค้า ถ้าเรามัวแต่คิดถึงปัญหาที่มากมายแล้วเรารู้สึกท้อถอย รู้สึกหมดพลัง เราก็จะไม่ได้ลงมือทำอะไรเลยค่ะ”
ผู้ใดหรือหน่วยงานใดสนใจสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยไปพร้อมกัน สามารถคลิกเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ starfishedutrust.org