นับเป็นการออกมาเคลื่อนไหวครั้งที่ 2 หลังช่วงต้นปี 2564 ธุรกิจของ Starbucks ในไทยเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ในฐานะผู้ที่ได้รับสิทธิการบริหารและขยายสาขาร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว
เนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตโควิดยอมรับว่า Starbucks ได้รับผลกระทบ จึงได้ปรับกลยุทธ์บริหารจัดการภายในควบคู่กับการนำเสนอเมนูใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ขณะนั้นยังสามารถทำกำไรได้บ้าง
เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ธุรกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากปัจจัยของจำนวนลูกค้าทั้งชาวไทยที่กลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มกลับเข้ามาใช้บริการในร้าน Starbucks และมีการใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม กาแฟ และเบเกอรี ซึ่งอยู่ในอัตราคงที่ประมาณ 250 บาทต่อบิล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คั่วเข้ม ‘ดิจิทัล’ ชงนิยาม ‘Third Place’ ไม่ให้เจือจาง โจทย์ใหม่ในขวบปีที่ 22 ของ Starbucks ไทย
- เกิดอะไรขึ้นกับ Starbucks? เมื่อร้านกาแฟหัวก้าวหน้าอาจกำลังเริ่มหลงทาง สูญเสียมนต์เสน่ห์ และ Brand DNA ของตัวเอง
คาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้นจากเทรนด์การดื่มกาแฟของคนไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และหากสังเกตจะเห็นว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมีไลฟ์สไตล์หลากหลาย เช่น การพบปะพูดคุย ประชุม และเป็นสถานที่นั่งทำงาน ประกอบกับปัจจัยการเปิดประเทศ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งปัจจุบันลูกค้า Starbucks หลักๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศในยุโรป อเมริกา สิงคโปร์ ส่วนชาวจีนนั้นยังไม่กลับมา
สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทเตรียมขยายสาขาใหม่ในไทยอีก 90 แห่ง แบ่งเป็นปีละ 30 สาขา ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 15 สาขา และช่วงครึ่งปีหลังเตรียมเปิดอีก 15 สาขา และสาขาที่เปิดแบ่งเป็นร้านรูปแบบ Drive-Thru 7 สาขา ทำให้สิ้นปี 2565 Starbucks จะมีทั้งหมด 459 สาขา โดยแบ่งเป็นสาขา Drive-Thru 72 สาขา
ส่วนเป้าหมายในระยะยาวที่ต้องการเปิดให้ได้ 800 สาขาในไทยนั้น อาจต้องมีการปรับตัวเลขอีกครั้ง เนื่องจากการระบาดของโควิดทำให้สถานการต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างมาก
ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาโซลูชันให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มุ่งขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ไม่ใช่คอกาแฟด้วยการเพิ่มไลน์เครื่องดื่มใหม่ ได้แก่ Starbucks Refreshers ที่ประกอบด้วย Strawberry Açaí with Lemonade Starbucks Refreshers และ Pink Drink with Strawberry Açaí Starbucks Refreshers ซึ่งเป็นเครื่องดื่มเชกน้ำผลไม้ เน้นจุดเด่นด้านความสดชื่น เข้ามาตอบโจทย์ผู้ไม่ดื่มกาแฟ
รวมทั้งการหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการยกระดับนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee และ Lazada ควบคู่กับการให้บริการจ่ายเงินแบบดิจิทัล (งดรับเงินสด) ภายในร้านสตาร์บัคส์ในบางสาขา เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า
โดยหวังว่ากลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโต ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการมาได้ 24 ปีแล้ว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP