Starbucks บริษัทกาแฟรายใหญ่สุดของโลก รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด รายได้เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า หรืออยู่ที่ 8.8 พันล้านดอลลาร์ แต่กำไรสุทธิกลับลดลงถึง 50% เหลือเพียง 384.2 ล้านดอลลาร์ ถือว่าลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากปีก่อนที่ทำกำไรสุทธิได้ 772.4 ล้านดอลลาร์ และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้
สาเหตุที่กำไรลดลง บริษัทชี้แจงว่าเป็นผลจากต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 12.1% อยู่ที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์ โดยมาจากการลงทุนด้านแรงงานและการฟื้นฟูสาขาเพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ ‘Back to Starbucks’ ที่พยายามดึงลูกค้ากลับมาใช้บริการที่หน้าร้านอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา Starbucks ได้ขยายสาขาเพิ่ม 213 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาทั่วโลกเพิ่มเป็น 40,789 แห่ง แต่ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านกลับลดลง 1% ทั่วโลก ส่วนยอดขายในสหรัฐฯ และจีนลดลงถึง 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกันที่ยอดขายลดลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่ฟรีอีกแล้ว! Starbucks ประกาศชัด จะเข้ามานั่งในร้านหรือใช้ห้องน้ำได้ต้องเป็น ‘ลูกค้า’ เท่านั้น…
- ซีอีโอ Starbucks ดิ้นกอบกู้รายได้ ยอมสั่งปลดพนักงานในสหรัฐฯ 1,100 คน หวังเพิ่มความคล่องตัว
- Starbucks จ่อขึ้นราคาในญี่ปุ่นสูงสุด 6% เริ่ม 15 ก.พ. นี้ เน้นสาขาในเมืองใหญ่ ค่าแรงและค่าเช่าสูง
Cathy Smith ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน กล่าวว่า แม้ร้านที่เปิดใหม่จะมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง แต่บริษัทยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายอย่าง และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินพอร์ตโฟลิโอทั่วโลก เพื่อวางแผนการขยายในอนาคตต่อไป
ด้านราคาหุ้น หลังจากรายงานผลประกอบการ ราคาหุ้นของ Starbucks ร่วงลงเกือบ 7% ในการซื้อขายหลังปิดตลาด ในวันที่ 29 เมษายน 2025 สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลถึงแนวโน้มการเติบโตของบริษัทอย่างมาก
นอกจากปัจจัยภายในแล้ว Starbucks ยังเผชิญกับแรงกดดันภายนอก ปัจจุบันผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับต้นทุนเมล็ดกาแฟที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยราคาเมล็ดกาแฟขายส่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ หรืออยู่ที่ 4 ดอลลาร์ต่อปอนด์ คิดเป็น 10-15% ของต้นทุนสินค้าทั้งหมดของบริษัท
ถึงแม้ว่าผลประกอบการไตรมาสล่าสุดจะน่าผิดหวัง แต่ Brian Niccol ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Starbucks ยังยืนยันว่า Starbucks ยังมุ่งมั่นเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูธุรกิจเช่นเดิม
พร้อมกล่าวต่อไปว่าแม้ผลกำไรในช่วงนี้จะไม่สะท้อนความสำเร็จมากนัก แต่บริษัทมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานหลายด้าน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการจ้างงานมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับประสบการณ์ในร้าน เพิ่มความรวดเร็วในการบริการและทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการในร้านรู้สึกถึงความอบอุ่น รวมไปถึงการเพิ่มที่นั่งและการตกแต่งร้านให้มีความหรูหรา เพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้เวลาในร้านนานขึ้น
ขณะเดียวกัน Starbucks ระบุว่า จากนี้จะชะลอการขยาย Siren Craft System ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้การดำเนินงานในร้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองว่าอุปกรณ์ไม่สามารถทดแทนแรงงานได้ตามที่คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้
“เราเชื่อว่าการลงทุนในด้านของแรงงานให้ผลลัพธ์ดีกว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะในแง่ของการให้บริการลูกค้าและการเพิ่มยอดขายภายในร้าน”Brian Niccol ย้ำ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Starbucks มีพนักงานทั่วโลกกว่า 361,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ให้บริการในร้านกาแฟ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะพนักงานหลายรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานหนักเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ลูกค้าหนาแน่น ต้องจัดการทั้งออร์เดอร์ในช่องทางเดลิเวอรีและลูกค้าที่มาหน้าร้าน บางครั้งทำให้เกิดปัญหาลูกค้ารอนานขึ้นกว่าเดิม
ภาพ: AFP PHOTO / Nicolas ASFOURI
อ้างอิง: