×

Starbucks เนื้อหอม เกือบ 30 บริษัทแห่เสนอซื้อกิจการในจีน! มูลค่าพุ่ง 3.27 แสนล้านบาท แม้ส่วนแบ่งตลาดวูบ จาก 34% เหลือ 14%

10.07.2025
  • LOADING...

หลังจากมีข่าวว่า Starbucks กำลังพิจารณาขายหุ้นในธุรกิจประเทศจีน ยักษ์ใหญ่ร้านกาแฟก็เนื้อหอมขึ้นมาทันที เพราะรายงานจาก CNBC ระบุว่า มีข้อเสนอจากนักลงทุนหลั่งไหลเข้ามามากมาย พร้อมประเมินมูลค่าธุรกิจในจีนไว้สูงสุดถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.27 แสนล้านบาท)

 

แหล่งข่าวระบุว่า มีบริษัทไพรเวตอิควิตี้ (PE) ทั้งในและต่างประเทศเกือบ 30 แห่งได้ยื่นข้อเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งรวมถึงผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Centurium Capital (ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน Luckin Coffee), Hillhouse Capital, Carlyle Group และ KKR

 

การแข่งขันที่ดุเดือดนี้ฉายภาพให้เห็นว่าดีลของ Starbucks เป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่นักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสเติบโตในตลาดจีน

 

ความเนื้อหอมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่บรรดาบริษัทจัดการกองทุนต้องรีบนำเงินทุนสำรอง (Dry Powder) ที่มีอยู่มหาศาลออกมาใช้ หลังจากตลาดการซื้อขายกิจการในจีนซบเซามานาน

 

“การปิดดีลให้ได้และนำเงินทุนที่ไม่ได้ใช้งานไปลงทุนคือภารกิจสำคัญที่สุดในตอนนี้” ผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าว พร้อมเสริมว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งของดีลใหญ่อย่าง Starbucks ถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือของบริษัทจัดการกองทุนเหล่านี้ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทายเช่นนี้

 

อย่างไรก็ตาม Starbucks ได้ออกมาย้ำจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ทิ้งธุรกิจในจีนไปทั้งหมด โดยโฆษกของบริษัทระบุว่าจะยังคงถือ ‘หุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ’ ต่อไป ซึ่งอาจหมายถึงการถือหุ้นไว้ประมาณ 30% และแบ่งส่วนที่เหลือให้กับกลุ่มผู้ซื้อหลายราย เพื่อกระจายความเสี่ยงและดึงความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรที่หลากหลายเข้ามาช่วยในการเติบโตสู่เป้าหมาย 20,000 สาขาในอนาคต

 

‘กลยุทธ์’ ดึงพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาถือหุ้นนี้เคยถูกใช้มาแล้วโดย McDonald’s ในปี 2017 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในครั้งนั้น McDonald’s ได้ขายหุ้นใหญ่ในจีนและฮ่องกงให้กับกลุ่มทุนจีนและ Carlyle แต่ยังคงถือหุ้นส่วนน้อยไว้เพื่อรับผลประโยชน์จากการเติบโต

 

สำหรับ Starbucks สาเหตุสำคัญที่บีบให้ยักษ์ร้านกาแฟต้องปรับทัพ คือการเผชิญมรสุมสามด้านพร้อมกัน ทั้งการแข่งขันที่รุนแรง, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และแรงกดดันด้านต้นทุน โดยเฉพาะการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างหนักจาก 34% ในปี 2019 เหลือเพียง 14% ในปี 2024 ให้กับคู่แข่งท้องถิ่นราคาประหยัดอย่าง Luckin Coffee รวมถึงแบรนด์ชานมไข่มุกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

ในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคชาวจีนไม่ต้องการจ่ายเงินในราคาพรีเมียมเพื่อแบรนด์ต่างชาติอีกต่อไป ตราบใดที่ยังมี ‘สินค้าทดแทนที่ดีพอ’ ในราคาที่เข้าถึงง่ายกว่า ทำให้ Starbucks ต้องดิ้นรน ‘เอาตัวรอด’ ด้วยการลดราคาเครื่องดื่มบางรายการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และออกเมนูใหม่ๆ เพื่อเอาใจลูกค้า แต่ยอดขายสาขาเดิมก็ยังคงทรงตัวหลังจากที่ลดลงติดต่อกันถึง 4 ไตรมาส

 

อีกหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือต้นทุนค่าเช่าที่อาจพุ่งสูงขึ้นในอนาคต ในอดีต Starbucks มักได้รับข้อเสนอส่วนลดค่าเช่าจากห้างสรรพสินค้าเพื่อใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า แต่แนวโน้มนี้อาจกำลังจะเปลี่ยนไป ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจกลายเป็นหายนะต่อผลกำไรของบริษัท นี่จึงเป็นเหตุผลที่การมีพันธมิตรท้องถิ่นที่มีความเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

 

นักวิเคราะห์มองว่าการนำพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เข้ามาจะช่วยลดช่องว่างการรับรู้ระหว่างสำนักงานใหญ่และทีมในจีน ซึ่งมักเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว

 

ฮั่น เซิน หลิน ผู้อำนวยการของ The Asia Group เปรียบเปรยสถานการณ์นี้ว่า “เหมือนสมาชิกในทีมเดียวกันกำลังอ่านบทคนละฉบับเพื่อตัดสินใจร่วมกัน” การมีพันธมิตรท้องถิ่นจึงเป็นไพ่ตายที่จะช่วยให้ Starbucks กลับมาตอบสนองตลาดได้เร็วและตรงจุดยิ่งขึ้นในสมรภูมิกาแฟที่ไม่มีที่ว่างสำหรับผู้ที่ปรับตัวช้า

 

ภาพ: Kevin Frayer/Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising