ได้เห็นข้อความสั้นๆ จากพี่จอม ‘บอ.บู๋’ คอลัมนิสต์ฝีปาก (กา) กล้าระดับตำนานอีกคนของวงการลูกหนังบ้านเราแล้วหัวใจก็หล่น
“เล่มเล็กจะไม่มีแล้วนะครับ”
ข้อความสั้นๆ นี้สำหรับคนที่พอมีอายุมากหน่อยก็จะรู้ครับ ว่า ‘เล่มเล็ก’ ในความหมายนั้นหมายถึงหนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน หนังสือพิมพ์ฟุตบอลรายวันฉบับแรกของประเทศไทยที่มีอายุยืนยาวมากว่า 31 ปี
ที่เรียกว่าเล่มเล็กนั้นเป็นเพราะขนาดของหนังสือพิมพ์ที่เป็นไซส์แท็บลอยด์ ที่เป็นเหมือนน้องเล็กของ ‘เล่มใหญ่’ ซึ่งหมายถึงหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาดั้งเดิมของไทยที่เป็นหนังสือพิมพ์ขนาดบรอดชีต
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคำว่าเล่มเล็กนี้ใครเป็นคนเรียกคนแรก เพียงแต่ชื่อเรียกนี้เป็นชื่อที่ไม่เฉพาะคนในวงการสื่อที่เรียกกัน แต่ก็ยังเป็นชื่อที่คอบอลที่เป็นแฟนของสตาร์ซอคเก้อร์รายวันคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
สตาร์ซอคเก้อร์รายวันนั้นตามประวัติถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของ ระวิ โหลทอง เจ้าพ่อสื่อกีฬาของไทยที่เริ่มจับกระแสจากช่วงฟุตบอลยูโร 1992 ที่ประเทศสวีเดนเป็นเจ้าภาพ โดยทำหนังสือพิมพ์ฟุตบอลฉบับพิเศษวางจำหน่ายเป็นฉบับบ่าย (หนังสือพิมพ์ช่วงนั้นจะมีฉบับเช้าและฉบับบ่าย โดยให้ชื่อว่า ‘สยามกีฬา/สตาร์ซอคเก้อร์ เอ็กซ์ตรา ยูโร’92’
ผลปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก แฟนฟุตบอลชาวไทยตื่นตัวต่อการเสพข่าวฟุตบอลต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระวิตัดสินใจเดินหน้าต่อด้วยการเปิดหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน ซึ่งก็เป็นทีมงานของนิตยสารฟุตบอลรายสัปดาห์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้นอย่างสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ รวมกับทีมงานสยามกีฬารายวัน
View this post on Instagram
วันแรกที่สตาร์ซอคเก้อร์รายวันปรากฏบนแผงคือวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2535 (หัวหนังสือพิมพ์วันที่ 16 สิงหาคม) โดยเป็นวันเดียวกับการเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะเป็นวันเปิดฤดูกาลลีกฟุตบอลระดับสูงสุดในชื่อใหม่ที่เปลี่ยนจากชื่อเดิม ‘ดิวิชัน 1’ ซึ่งอยู่ภายใต้ฟุตบอลลีก (Football League) มาเป็นองค์กรใหม่ที่ชื่อว่าพรีเมียร์ลีก (Premier League)
พรีเมียร์ลีกเปิดตัวในครั้งนั้นด้วยการโปรโมตว่า ‘A Whole New Ball Game’ โดยมี Sky ของเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก เข้ามาใช้การตลาดที่ทันสมัยล้างภาพฟุตบอลอังกฤษดั้งเดิมที่แอบโบราณและคร่ำครึให้ดูทันสมัยขึ้น
สตาร์ซอคเก้อร์รายวันก็เช่นกัน หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กๆ 16 หน้านี้ได้เปิดศักราชใหม่ของวงการฟุตบอลต่างประเทศในไทยด้วย
จากที่แฟนบอลจะต้องรอคอยซื้อสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากอังกฤษ ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลยอดนิยมของคนไทยมายาวนานและเป็นมาโดยตลอด ก็สามารถติดตามข่าวสารได้รวดเร็วทันใจมากยิ่งขึ้น
ในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นวุ้น การได้ติดตามข่าวสารจากสตาร์ซอคเก้อร์รายวันคือสิ่งที่เติมเต็มความสุขให้แก่แฟนฟุตบอลในยุคสมัยนั้นได้อย่างดีที่สุด
การที่ต้องรีบตื่นแต่เช้า เพื่อรีบไปแผงหนังสือพิมพ์ใกล้บ้าน เจอหน้าอาแปะหรืออาซิ้มคนขายเพื่อถามว่า “ซอคเก้อร์มายัง” คือความทรงจำของคนมากมาย
ความรู้สึกใจเต้นระรัวที่จะต้องลุ้นผลการแข่งขันบนพาดหัวหนังสือพิมพ์ เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายเป็นถ้อยคำได้
หลังจากนั้น? คือการนั่งอ่านทุกตัวอักษรในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่รายงานผลการแข่งขัน ข่าวความเคลื่อนไหว คอลัมน์จากปลายปากกาของคอลัมนิสต์ฝีมือดีทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่
ไปจนถึงโฆษณาแบบประกาศ Classified ช่องเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยที่ทุนรอนไม่หนาพอจะซื้อโฆษณาเต็มหน้า ครึ่งหน้า หรือ 1 ใน 4 ของหน้า (ควอเตอร์) หรือแม้แต่สตริป (แถบ) ได้ซื้อโฆษณาช่องเล็กๆ เพื่อโปรโมตสินค้า บริการ ซึ่งบ่อยครั้งก็มีประกาศที่อ่านแล้วต้องเลิกคิ้วขึ้น
และโฆษณาแบบวับๆ แวมๆ ที่เด็กๆ ในวันนั้นสนใจเป็นพิเศษ เกี่ยวกับสถานที่ที่ใช้ชื่อของเทพในปกรณัมทำนองนั้น
หนังสือพิมพ์เล่มเดียวนั่งอ่านกันได้ทั้งวัน และบ่อยครั้งที่หนังสือพิมพ์เล่มเดียวนั่งอ่านกันทั้งห้องตั้งแต่เช้ายันเย็น
ความสุขและความทรงจำเหล่านี้เชื่อว่าอยู่ในใจของแฟนฟุตบอลที่อายุ 30 ปีขึ้นไปแทบทุกคน
อยู่ที่ว่าจะเป็นคนที่เดินไปซื้อหนังสือพิมพ์ทุกวัน หรือคนที่รอยืมเพื่อนเพื่ออ่านต่อก็ตาม
ความนิยมของสตาร์ซอคเก้อร์ในยุคสมัยนั้นยิ่งใหญ่มาก ตลาดหนังสือพิมพ์เติบโต และในเวลาต่อมาก็แตกแขนงออกมาอีกเป็น สปอร์ตพูล, สปอร์ตแมน ไปจนถึงตลาดลูกหนัง รวมถึงเกิดหนังสือพิมพ์กีฬาคู่แข่งอย่าง Sport Express ของค่ายผู้จัดการ และโลกกีฬาของวัฏจักร
รวมถึงคิกออฟ จากค่ายฐานเศรษฐกิจ และฮอตสกอร์ที่เป็นทีมงานคิกออฟเดิม ซึ่งเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาของตัวผมเองที่เริ่มงานในการเป็นผู้สื่อข่าว/คอลัมนิสต์ฟุตบอล อย่างเต็มตัวเมื่อปี 2004 หลังจากที่ขอโอกาสมาฝึกงาน 2 ครั้งตั้งแต่เรียนจบปี 2 และปี 3
ภาพจาก เพจ Facebook – บอ.บู๋
แต่ในเรื่องของการยอมรับแล้ว ไม่มีเล่มไหนสู้สตาร์ซอคเก้อร์รายวันได้ทั้งในเชิงของชื่อเสียง ความยิ่งใหญ่ และยอดขายที่ในช่วงพีคยอดขายของ ‘เล่มเล็ก’ นั้นสูงถึงวันละ 1-2 แสนเล่มต่อวัน
เพียงแต่บนโลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรังและยั่งยืน
หนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ไร้เทียมทานในวันนั้น ถูกกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกซัดถล่มมาต่อเนื่องยาวนาน
ข่าวสารที่เคยต้องติดตามที่นี่ที่เดียว อินเทอร์เน็ตทำให้ใครก็สามารถเข้าถึงข่าวสารได้เหมือนกันหมดจากแหล่งเดียวกัน
จากคอลัมนิสต์ที่ต้องฝ่าด่านพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักกว่าจะได้รับโอกาสให้เขียนลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้ (สมัยก่อนจะเป็นคอลัมนิสต์ได้ต้องเริ่มจากการสอบเข้าเป็นพนักงานกองข่าวกีฬาต่างประเทศ ซึ่งรับน้อยและรับยาก ใครสอบได้คือเก่งจริง และต้องทำงานพื้นฐานยาวนานกว่าจะได้โอกาสเป็นคอลัมนิสต์) ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียทำให้ใครก็สามารถตั้งตัวเป็น ‘ผู้รู้’ กลายเป็นสื่อได้อย่างง่ายดายผ่านช่องทางทันสมัยต่างๆ
ผลฟุตบอล? ไม่ต้องรอลุ้นตอนเช้าแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอีกฟากโลก ในวินาทีถัดมาผลก็อยู่บนมือเราแล้วด้วยแอปพลิเคชันรายงานผลฟุตบอลที่รวดเร็วและแม่นยำ
ในขณะที่คู่แข่งล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ‘เล่มเล็ก’ พยายามที่จะยืนหยัดต้านทานสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างอดทนและสง่างาม
ผมในฐานะทั้งที่เป็นสาวกตัวยงตั้งแต่เด็ก ทั้งเคยเป็นนักเขียนของค่ายคู่แข่ง (ความจริงก็ไม่ควรจะเรียกคู่แข่งเท่าไรนัก ต้องยอมรับว่าห่างชั้นกันมาก) เองก็ตั้งคำถามมานานว่า สตาร์ซอคเก้อร์รายวันจะอยู่รอดตลอดไปไหม
เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว และอย่าว่าแต่คนรุ่นใหม่เลย คนรุ่นเก่ารวมถึงตัวเองก็ไม่ได้สนใจอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนก่อน
สุดท้ายก็เป็นอย่างที่ ‘บอ.บู๋’ โพสต์ วันนี้คือวันสุดท้ายที่สตาร์ซอคเก้อร์รายวันจะวางแผง ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนที่ทราบข่าวตั้งแต่เมื่อวานน่าจะออกไปตามหาหนังสือพิมพ์กันให้วุ่นในช่วงเช้าที่ผ่านมา
สตาร์ซอคเกอร รายวัน
จะไปอยู่ในสยามกีฬารายวัน ครับ pic.twitter.com/ejEu7mTCNS— Adisorn P. (@jackie14AP) May 30, 2023
ส่วนหลังจากนี้ อดิศรณ์ พึ่งยา หรือ แจ็คกี้ อีกหนึ่งคอลัมนิสต์ระดับตำนานแจ้งข่าวว่าเล่มเล็กจะเปลี่ยนสภาพเป็น ‘เล่มสอด’ หรือ Supplement ในสยามกีฬารายวันเล่มใหญ่อีกที โดยยังมีคอลัมนิสต์ระดับกูรูตัวจริงของวงการประจำการเหมือนเดิม ซึ่งนอกจาก บอ.บู๋, แจ็คกี้ ยังมี ตังกุย, ลิตเติ้ลโจ, ไก่ป่า, ช่อคูน, แอ๊ดดี้, เจมส์ ลาลีกา และอีกมากมายที่จะผลัดกันมาร่ายรำระบำเกมลูกหนังผ่านตัวอักษรให้คนที่ยังรักการอ่านบนหนังสือเหมือนเดิม ไม่นับในส่วนของการอ่านบนออนไลน์ (ที่อย่างไรก็ไม่คลาสสิกเท่าการอ่านบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์)
เป็นการปรับตัวตามยุคสมัยและความจำเป็น
เขียนถึงตรงนี้ ผมหยิบหัวใจที่หล่นในพารากราฟแรกขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่
หัวใจดวงนี้มันอาจจะร้าวนิดหน่อยจากที่หล่นเมื่อสักครู่ แต่หัวใจมันยังอยู่เหมือนเดิม เช่นกันกับความทรงจำมากมายที่เคยเกิดขึ้นและจะคงอยู่ตลอดไป จนกว่าส่วนความทรงจำของสมองจะไม่อยากเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้
หัวใจนี้มีแต่คำว่าขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคุณูปการให้แก่วงการฟุตบอลต่างประเทศในบ้านเรา เป็นแรงบันดาลใจของเด็กมากมายในวันนั้น
ส่วนตัวแล้วพอจะบอกได้ว่าหากไม่ได้อ่านสตาร์ซอคเก้อร์อย่างเป็นบ้าเป็นหลังในวันนั้น ผมเองก็อาจจะไม่มีโอกาสได้มาทำงานอยู่ตรงนี้เหมือนกัน (แม้ความฝันที่อยากจะเขียนลง ‘เล่มเล็ก’ สักครั้งคงจะไม่มีวันเป็นจริงก็ตาม)
และเขียนถึงตรงนี้ เดี๋ยวผมจะลองแวะไปดูที่แผงหนังสือพิมพ์สักหน่อย เผื่อจะหาฉบับสุดท้ายของสตาร์ซอคเก้อร์รายวันได้สักเล่ม
แต่ถึงไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
‘เล่มเล็ก’ อยู่ในใจเสมอ และไม่มีใครจะพรากความสุขกับความทรงจำที่เกิดขึ้นในวันวานเหล่านั้นไปจากผมได้ 🙂