×

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดหั่นคาดการณ์ GDP ไทย ปีนี้เหลือ 3.3% คาด ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี 68

18.09.2023
  • LOADING...
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ลงจาก 4.2% มาอยู่ที่ 3.3% และในปี 2567 ลดลงจาก 4.5% เหลือ 4.2% พร้อมคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2568 โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปร 

 

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว แม้ว่าในระยะที่ผ่านมาการฟื้นตัวจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ได้รัฐบาลใหม่แล้ว ทำให้คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวที่เร่งตัวขึ้น 

 

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยแล้วกว่า 17.5 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 2.2 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3 ล้านคนตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนนี้ ทำให้ทั้งปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน จากที่ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดจำนวนนักท่องเที่ยวเคยอยู่ในระดับเกือบ 40 ล้านคน

 

ทิมระบุว่า จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ ธนาคารจึงปรับลดคาดการณ์ดุลบัญชีเดินสะพัดจาก 3.6% มาอยู่ที่ 1.5% ของ GDP การขาดดุลปีงบประมาณคาดว่าจะอยู่ที่ 4.0% ต่อ GDP ในปี 2567 จาก 3.8% ต่อ GDP ในปี 2566

 

“การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 น่าจะล่าช้า ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้จะมีทิศทางอย่างไร ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องมีการติดตามดูกัน” ทิมกล่าว

 

ล่าสุดธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ลงจาก 4.2% มาอยู่ที่ 3.3% และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 4.2% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.5% ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.3% จากเดิมที่คาดไว้ 1.7% โดยคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 1.5% ในปี 2567 จากเดิมที่คาดไว้ที่ 1.3% ในขณะที่คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ที่ 1.4% อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า

 

“การค่อยๆ ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการคลังและเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า” ทิมกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี อาจมีการกลับมาพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้นโยบายการคลังและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนกว่านี้ น่าจะทำให้เห็นความชัดเจนในทิศทางดอกเบี้ยนโยบายยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising