×

สมาคมทนายความฯ ชี้ ‘เดี่ยว 13’ มีสิทธิวิจารณ์รัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญ ย้ำผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้กฎหมายดำเนินคดีผู้เห็นต่าง

โดย THE STANDARD TEAM
14.10.2022
  • LOADING...
เดี่ยว 13

วันนี้ (14 ตุลาคม) นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่เกิดประเด็นเกี่ยวกับการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 ของ โน้ต-อุดม แต้พานิช บางส่วนที่เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลว ซึ่งก็มีประชาชนแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อันนำไปสู่ประเด็นที่มีบุคคลอ้างว่าการกระทำของ โน้ต-อุดม แต้พานิช ไร้เหตุผล ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน และผิดกฎหมาย 

 

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอแสดงความคิดเห็นว่า ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อสารความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ 

 

ฉะนั้น การแสดงของ อุดม แต้พาณิช ดังกล่าว เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น การถ่ายทอดความรู้สึก และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว หาใช่การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือการกล่าวหา ใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด 

 

อีกทั้งรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลสาธารณะที่ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ ประกอบกับการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวยังสอดคล้องกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ ที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา จึงย่อมมีสิทธิตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์

 

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเห็นว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ประชาชนได้มีการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบใด และสำคัญที่สุด รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง อันจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ความขัดแย้ง และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงแบบไม่จบสิ้น

 

กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์และอุทาหรณ์ให้เห็นว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชนเป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งประชาชนเหล่านั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิได้สร้างความขัดแย้งหรือก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตนั้นเป็นของประชาชนคนไทยทุกคน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising