×

World Bank เตือน เศรษฐกิจโลกกลับสู่โซนอันตราย พร้อมหั่นคาดการณ์เติบโตเหลือ 2.9% ห่วง Stagflation ลากยาวทั้งปี

08.06.2022
  • LOADING...
ธนาคารโลก

ธนาคารโลก หรือ World Bank เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ Global Economic Prospects ฉบับล่าสุด ซึ่งได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 เพิ่มเติม พร้อมเตือนว่า สภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายสิบปี บวกกับการขยายตัวเติบโตในระดับต่ำ และยังมีปัจจัยไม่แน่นอนทั้งหลายที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและยากจน เสี่ยงทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา หรือ Stagflation ลากยาวตลอดทั้งปีนี้

 

เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในขณะนี้อยู่ในภาวะอันตรายอีกครั้ง เนื่องจากกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูงกับการเติบโตที่ช้าในเวลาเดียวกัน และแม้ว่าทั่วโลกจะสามารถเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้สำเร็จ แต่ความเจ็บปวดจากภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอ่อนแอ แต่เงินเฟ้อกลับพุ่งสูง อาจคงอยู่เป็นเวลาหลายปี เว้นแต่อุปทานหลักจะเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ World Bank ได้ปรับลดการประมาณการการเติบโตทั่วโลกในปีนี้เหลือ 2.9% จากการคาดการณ์ในเดือนมกราคมก่อนหน้าที่ 4.1% และลดลงจากตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ 3.2% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและอาหาร บวกกับการหยุดชะงักของระบบห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากกรณีรัสเซียบุกยูเครนและแรงผลักดันธนาคารกลางทั่วโลกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกสามารถขยายตัวได้ 5.7% หลังจากที่การระบาดใหญ่ของโควิดทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

ประธาน World Bank กล่าวว่า สำหรับหลายๆ ประเทศ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยกลายเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ผลกระทบที่เลวร้ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงปริมาณรายได้ที่แท้จริงต่อคนจะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิฤตการระบาดของโควิดประมาณ 40% ในปี 2023

 

คำเตือนครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความพยายามของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ที่กำลังต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเกินคาด อันเนื่องมาจากอุปทานสินค้า พลังงาน และอาหาร หยุดชะงัก ท่ามกลางการล็อกดาวน์ในศูนย์กลางการผลิตหลักในจีนและสงครามยูเครน จนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดย World Bank เปิดเผยว่า มีธนาคารกลางโลกทั่วโลกมากกว่า 60 แห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคารอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่างทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อกรกับวิกฤตเงินเฟ้อสูง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและการเติบโตที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารโลกวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ซ้ำรอยช่วงทศวรรษ 1970 ด้วยเหตุนี้นโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจจำเป็นต้องยกระดับความเข้มงวดขึ้นอีกครั้ง เพื่อดึงให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะ Hard Landing

 

นอกจากนี้ World Bank ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีกประการก็คือ ระดับหนี้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลกแพงขึ้น ขณะที่ปัญหาด้านการอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาในระบบอัตราแลกเปลี่ยน อาจจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980

 

มัลพาสกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับทาง Bloomberg Television ว่า ประมาณ 60% ของ 75 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาหนี้ และปัญหาดังกล่าวกำลังแพร่กระจายลุกลามไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลาง พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ World Bank กำลังอยู่ในระหว่างการหาวิธีปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ซึ่งจะทำให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

 

ในส่วนของประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในรายงาน ประกอบด้วย

 

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ในปี 2022 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 1.2 % เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น สภาวะทางการเงินที่ตึงตัว และอุปทานที่หยุดชะงักเพิ่มเติม เพราะความขัดแย้งในยูเครน
  • ธนาคารโลกยังได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลงเหลือ 4.3% ในปีนี้ เนื่องจากความเสียหายที่มากกว่าที่คาดจากโควิด และมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการล็อกดาวน์
  • ธนาคารโลกคาดว่า การเติบโตประเทศในเขตผู้ใช้เงินสกุลยูโรจะชะลอตัวลงเหลือ 2.5% ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้าในเดือนมกราคม 1.7 %
  • ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจของยูเครนจะหดตัว 45.1% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียหดตัว 8.9% โดยก่อนหน้านี้ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจของทั้งยูเครนและรัสเซียจะสามารถขยายตัวเติบโตได้ในปีนี้

 

วันเดียวกัน ทางด้าน ปีเตอร์ แซนด์ส กรรมการบริหารกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) ได้แสดงความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากสงครามในยูเครน อาจคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคนทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

แซนด์สอธิบายว่า สภาวะขาดแคลนดอาหารมี 2 ทางด้วยกัน อย่างแรกคือการที่มีผู้คนอดอยากจนตาย กับอย่างที่สองคือข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่าผู้คนจำนวนมากมีโภชนาการที่เลวร้าย ขาดสารอาหารจำเป็น ทำให้คนเหล่านี้มีร่ายกายไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่มากขึ้น

 

นอกจากนี้แซนด์สยังเตือนว่า ความพยายามในการยกระดับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ ต้องระวังในเรื่องของการมองข้ามการรับมือกับโรคที่มีอยู่เดิม ซึ่งหมายความว่าอย่ามัวแต่โฟกัสแค่โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ให้คำนึงถึงโรคเดิมๆ ปัญหาวิกฤตเดิมที่มีอยู่ ที่แม้ไม่ใช่อาการใหม่ที่โดดเด่น แต่ก็อาจเป็นอันตรายถึงตายได้เช่นเดียวกัน

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า จะมีประชากรราว 15 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตจากสาเหตุที่สืบเนื่องมาจากโควิด

 

ทั้งนี้ แซนด์สกล่าวว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพ เพื่อช่วยเตรียมรับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการจัดสรรเงินทุนของกองทุนโลก

 

สำหรับกองทุนโลก ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตั้งใจที่จะระดมทุนให้ได้ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมระบบสุขภาพ ต่อสู้กับโรคหลัก 3 โรค คือ เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด โดยขณะนี้ทางกองทุนสามารถระดมทุนได้แล้ว 1 ใน 3 ของเป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานในปี 2024-2026

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising