เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้รวบรวมข้อมูลยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) ของหุ้นกลุ่มพาณิชย์ภายใต้การวิเคราะห์ของ SCBS โดยภาพรวมแนวโน้ม SSS 2Q64 จะกลับมาเติบโต 9%YoY นำโดยผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือย (Discretionary) ซึ่งหลักๆ มาจากฐานต่ำของปีก่อนและราคาเหล็กที่สูงขึ้น ซึ่งดีกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าจำเป็น (Staples) ที่มีแนวโน้มหดตัว 5%YoY
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) มีแนวโน้มที่จะรายงาน SSS 2Q64 เติบโตดีที่สุดในกลุ่มที่ 35%YoY ตามมาด้วย บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) และ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ที่จะรายงาน SSS เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักระดับต้น YoY, บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลาง YoY, บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ทรงตัว YoY และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หดตัวเป็นตัวเลขสองหลักระดับต้น YoY
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น GLOBAL ปรับตัวขึ้น 8.1%MoM สู่ระดับ 24.00 บาท ราคาหุ้น CPALL ปรับตัวลง 0.4%MoM สู่ระดับ 59.75 บาท ราคาหุ้น BJC ปรับตัวลง 1.4%MoM สู่ระดับ 34.25 บาท ราคาหุ้น MAKRO ปรับตัวลง 2.7%MoM สู่ระดับ 36.25 บาท ราคาหุ้น HMPRO ปรับตัวลง 3.4%MoM สู่ระดับ 14.20 บาท และราคาหุ้น CRC ปรับตัวลง 12.7%MoM สู่ระดับ 32.75 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564)
มุมมองระยะสั้น:
สำหรับแนวโน้ม SSS ของกลุ่มพาณิชย์ใน 3Q64 จะชะลอตัว จากการอุปโภคบริโภคโดยที่ชะลอตัวลงเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด ซึ่งยังไม่คลี่คลาย แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกชดเชยจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงแข็งแกร่ง ราคาเหล็กที่สูงขึ้น และความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนในวงกว้าง
นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย รวมถึงการออกมาตรการคุมเข้มจากทางภาครัฐ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ต่อแนวโน้มยอดขายสาขาเดิม (SSS) ของผู้ประกอบการค้าปลีก
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้ม 2H64 ผู้ประกอบการพาณิชย์จะได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากสามารถเข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท โดยนับถึงปัจจุบัน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้ราว 4.8 แสนคน จากเป้าหมายของรัฐบาลที่ 4 ล้านคน
ทั้งนี้เพื่อให้ใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น กระทรวงการคลังจึงปรับเงื่อนไขการใช้จ่ายและจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยผู้เข้าร่วมโครงการนี้สามารถใช้จ่ายในวงเงินไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน ในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2564 (จากเดิมเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) โดยให้สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10,000 บาทต่อคน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 (จากเดิมวันละ 5,000 บาทต่อคน ในช่วงวันที่ 1-14 กรกฎาคม 2564) โดยรัฐบาลจะสนับสนุน E-Voucher คืนเงิน 10-15% ของยอดใช้จ่าย สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยสามารถใช้ E-Voucher ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564
สำหรับโครงการคนละครึ่งเฟส 3 SCBS มองว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบต่อยอดขายของผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าจำเป็นที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้