×

บอร์ดรถไฟประชุม 5 ชั่วโมง ถกรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ยัน CP ลงนามแน่ 25 ต.ค. นี้ พร้อมไฟเขียวฟ้องโฮปเวลล์

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2019
  • LOADING...
บอร์ดรถไฟ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เปิดเผยหลังการประชุมบอร์ด รฟท. นัดแรก ที่ใช้ระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 14.00-19.00 น. ว่า บอร์ด รฟท. ได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ตามที่อัยการสูงสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้ว และบอร์ด รฟท. ได้เห็นชอบให้ วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่า รฟท. เป็นตัวแทนลงนามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพีเอช) ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ตามกำหนดการ

 

นักข่าวถามกรณีวันลงนามสัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยกลุ่มซีพีเอชอาจจะขอเลื่อนเป็นวันที่ฤกษ์ดีนั้น 

 

ประธานบอร์ด รฟท. กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ขณะนี้ยังเป็นวันที่ 25 ตุลาคม ตามกำหนดการที่วางไว้

 

ทั้งนี้ บอร์ด รฟท. ยังได้มอบหมายให้ฝ่ายอนาบาลของการ รฟท. ไปหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อฟ้องร้องบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในข้อหาจดทะเบียนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะทำงานศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐ ในโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์) ของกระทรวงคมนาคมพบหลักฐานว่า ในระหว่างที่มีการขออนุมัติโครงการโฮปเวลล์ ทางบริษัทโฮปเวลล์มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้ขอยกเว้นประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ตามเงื่อนไขของบริษัทต่างด้าวที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยทั้ง รฟท. และกระทรวงคมนาคม ในฐานะคู่สัญญา จะต้องไปหารือร่วมกันก่อน จากนั้นจึงดำเนินการฟ้องร้องบริษัทโฮปเวลล์ ก่อนวันที่ 19 ตุลาคม 2562 เพราะจะมีการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ในกรณีที่กระทรวงคมนาคมและ รฟท. จะจ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทโฮปเวลล์ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2562

 

“ได้มอบหมายให้ รฟท. ดำเนินคดีในเรื่องการรับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินก่อนวันที่ 19 ตุลาคมนี้ด้วย โดยยืนยันว่าหากสู้ได้ก็จะสู้ต่อ แต่หากสู้ไม่ได้ก็ต้องยอมรับผลการตัดสินของศาล” ประธานบอร์ด รฟท. กล่าว

 

ขณะที่ วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่า รฟท. และประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินตามมติของบอร์ดอีอีซี โดยจากการเจรจาล่าสุดกับกลุ่มซีพีเอชแนวโน้มน่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องร่างสัญญาแล้ว โดยหลังจากลงนามสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคมแล้ว วันที่ 26 ตุลาคมเป็นต้นไป กลุ่มซีพีเอชต้องดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการภายใน 3 เดือน เพื่อกำหนดแผนการส่งมอบพื้นที่ให้ชัดเจน โดยจะไม่มีการเวนคืนมั่วๆ โดยเบื้องต้นได้วางกรอบเวลาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดภายใน 2 ปี โดยแบ่งพื้นที่ก่อสร้างเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะเร่งรัดให้ได้เร็วที่สุดภายในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี 3 เดือน ส่วนช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ มีความพร้อมสามารถส่งมอบได้ทันที แต่กลุ่มซีพีเอชต้องจ่ายค่าบริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องผู้บุกรุก และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคให้เรียบร้อยก่อน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising