วันนี้ (10 เมษายน) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัย กรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 54 ล้านคน คนละ 10,000 บาท โดยไม่แจกแจงรายละเอียด เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่
ศรีสุวรรณกล่าวว่า การหาเสียงด้วยการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้วนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างทั้งทางบวกและทางลบได้ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก ซึ่งอาจขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือไม่
อีกทั้งการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ประกอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงๆ เพียง 8,500 บาท เมื่อสิ้นปีภาษีต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย การบอกความจริงไม่หมดเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 73 (5) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 หรือไม่
ศรีสุวรรณกล่าวต่อไปว่า กรณีดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐาเคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาวและลาออกจากผู้บริหารในบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทุกตำแหน่ง เพื่อมาลงการเมือง แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่าการประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง ซึ่งแม้จะโอนหุ้นให้ลูกสาวไปแล้ว แต่ก็อาจจะยังเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 44 แห่ง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ด้วยหรือไม่
นอกจากนั้น การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต. ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทยที่รายงานมายัง กกต. ด้วยว่า
- วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการมาจากแหล่งใด
- ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
- ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 73 (1) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป