วันนี้ (3 สิงหาคม) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่โซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนได้รายงานว่า มีบุคคลซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลกได้ไปขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ให้ตัวเอง ที่ศูนย์รับฉีดวัคซีน หอประชุมศรีวชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกนั้น
กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นช่องว่างของการกำหนดหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคโดยชัดแจ้ง เป็นกรณีที่ซ้ำรอยเดิมคล้ายจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ให้กับตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ใช้ช่องว่างของหลักเกณฑ์เหมือนกันที่อ้างว่าเป็นบุคคลด่านหน้าเพื่อเลี่ยงบาลี แม้บุคคลดังกล่าวจะออกมายอมรับ โดยให้เหตุผลว่าทำงานด่านหน้ามาโดยตลอด ต้องนำสิ่งของต่างๆ จากการบริจาคไปมอบให้กับจุดคัดกรองหรือโรงพยาบาลสนาม และด้วยความเป็นผู้สูงอายุ
ศรีสุวรรณระบุว่า บุคคลดังกล่าวมีคิวที่จะฉีดวัคซีน AstraZeneca อยู่แล้ว แต่ด้วยช่วงแรกๆ ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนน้อย จึงมาช่วยรณรงค์ให้ประชาชนหันมาฉีดวัคซีนให้มากขึ้นด้วยการไปฉีดวัคซีน Sinovac แทนทั้ง 2 เข็ม โดยอ้างว่ามีแพทย์มาบอกว่าการเป็นผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มนั้นไม่ดี อาจเสี่ยงต่อภูมิคุ้มกันเหลือน้อย ตนจึงได้ขอเข้าไปฉีดวัคซีนเข็ม 3
ศรีสุวรรณกล่าวว่า การอ้างเหตุผลว่าคนพิษณุโลกออกมาฉีดวัคซีนน้อยนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะคนพิษณุโลกส่วนใหญ่ต้องการฉีดวัคซีนโควิดกันทั้งนั้น เพียงแต่ภาครัฐยังจัดสรรวัคซีนไปให้น้อยไม่เพียงพอ การไปแย่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยไม่คำนึงว่ายังมีคนอื่นอีกมากที่ยังไม่ได้ฉีดเลย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว วันนี้สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงต้องนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวน ไต่สวน เอาผิดผู้ว่าฯ พิษณุโลกและสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ว่าปล่อยให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ได้อย่างไร ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขต้องทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ ไม่ปล่อยให้มีคนใช้ช่องทางว่าเป็นบุคคลด่านหน้า