×

ศรีสุวรรณ ร้อง ป.ป.ช. สอบ ‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ปล่อยกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC’ ปะทะ คฝ. ชี้ต้องควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2022
  • LOADING...
ศรีสุวรรณ จรรยา

วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่าการที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ควบคุมดูแล หรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า ราษฎรหยุด APEC 2022 ออกมาชุมนุมนอกพื้นที่ จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.)

 

ศรีสุวรรณระบุว่า วันนี้มายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนสอบสวนชัชชาติ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากชัชชาติอนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกว่าราษฎรหยุด APEC 2022 จัดชุมนุมที่ลานคนเมือง ในช่วงวันที่ 16-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าชัชชาติอนุญาต และไม่ได้เข้ามาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไข

 

“เงื่อนไขก็คือว่า อนุญาต ก็ต้องควบคุมดูแลไม่ให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมฝ่าฝืน ต้องให้ปฏิบัติตามกฏหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ แต่ที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองฝ่าฝืน เคลื่อนขบวนออกมานอกพื้นที่ จนกระทั่งมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เกิดการบาดเจ็บเสียหาย ทั้งทรัพย์สินราชการ และทรัพย์สินแผ่นดินจำนวนมาก”

 

ศรีสุวรรณย้ำว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ได้ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่วิสัยโดยปกติของการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติมีอำนาจในการควบคุมดูแล และสามารถเข้าไปจับกุมผู้ที่ละเมิดคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญาได้ 

 

“การที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นิ่งเฉย เพิกเฉย หรือไม่ดำเนินการอะไรกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเพ่นพ่าน กวนบ้านกวนเมือง ก็ถือว่าเข้าข่ายการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ซึ่งเข้าข่ายต่อการทุจริตต่อหน้าที่ด้วย จึงเป็นเรื่องที่สมาคมฯ จำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการวินิจฉัยไต่สวนและชี้มูลความผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป

 

ศรีสุวรรณยังกล่าวถึงผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ รวมถึงสื่อมวลชนว่า ตนมีความเห็นว่าการบาดเจ็บต่อร่างกายของผู้เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นทั้งฝั่งผู้ชุมนุม และ คฝ. โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ออกมาแถลงว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 15 คน 

 

ส่วนผู้ชุมนุมเองก็บาดเจ็บ รวมถึงผู้สื่อข่าว มองว่าเรื่องนี้เป็นความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ความเสียหายที่ปรากฏอาจจะไปเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้เฉพาะบุคคล แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ต้องใช้สิทธิตามกฎหมายด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการผิดเงื่อนไขในการผิดข้อบังคับการชุมนุมตามที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้เคยกล่าวไว้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X