แม้ ‘ศรีสะเกษ’ จะไม่ใช่ ‘จังหวัดเมืองหลวง’ ของพรรคภูมิใจไทย แต่ดินแดนศรีนครลำดวนแห่งนี้ถือเป็นอีกจังหวัดที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก ทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับประเทศ จึงไม่แปลกที่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ขน 7 รัฐมนตรีของพรรคลงพื้นที่พบประชาชนเป็นครั้งแรกหลังร่วมรัฐบาล
หากมองอย่าง ‘ผิวเผิน’ จะเห็นว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการของ 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นการ ‘ทำงาน’ ตามวาระปกติในกระทรวงที่แต่ละคนกำกับดูแล โดยไม่เห็นว่ามีวาระทางการเมืองถูกซ่อนเร้นไว้
หมายเหตุ: พรรคภูมิใจไทยมีรัฐมนตรีทั้งสิ้น 8 คน เป็นรัฐมนตรีว่าการ 4 ตำแหน่ง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง การเดินทางไปจังหวัดศรีสะเกษครั้งนี้ขาดเพียง ‘นภินทร ศรีสรรพางค์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 30 ที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว
หากมองลึกลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า ‘ศรีสะเกษ’ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ เดิมมีพรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้รัฐนาวา เศรษฐา ทวีสิน แล้ว แต่กว่าจะมีวันนี้ ทั้งภูมิใจไทยและเพื่อไทยผ่านการ ‘ตบตี’ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจากแคมเปญ ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ มามากเช่นกัน
พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ และ อนุทิน ชาญวีรกูล
นั่งอยู่ภายในหอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
พรรคภูมิใจไทยได้วางกลยุทธ์การลงพื้นที่ครั้งนี้ไว้เป็นอย่างดี กระจายรัฐมนตรีทั้ง 7 คน ออกไป ‘พบ-ฟัง’ ปัญหาของชาวศรีสะเกษใน 1 วันได้เกือบทั่วทั้งจังหวัด ‘อนุทิน’ ควงคู่มาพร้อมกับ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และเปิดหน้าขึ้นเวทีปราศรัยที่โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย เป็นครั้งแรก
‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไปพร้อมกับ ‘สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปมอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ อำเภอกันทรลักษ์
ขณะที่ ‘ศุภมาส อิศรภักดี’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบายและแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
ด้าน ‘ทรงศักดิ์ ทองศรี’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษ ศูนย์กลางการเมืองท้องถิ่นของศรีสะเกษ ก่อนหมดวาระลงในวันที่ 20 ธันวาคม 2567
ชาดา ไทยเศรษฐ์ ถ่ายรูปกับประชาชนที่อำเภอกันทรลักษ์
ส่วนรัฐมนตรีที่ ‘แสงเยอะ’ ที่สุดของพรรคอย่าง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ‘ฉายเดี่ยว’ ไปหารือจุดผ่อนปรนการท่องเที่ยวช่องทางขึ้นเขาพระวิหารที่อำเภอกันทรลักษ์ เพื่อฟื้นฟูสัมพันธ์-เศรษฐกิจการค้าที่ซบเซาไปเป็นเวลากว่า 16 ปี นับแต่ปี 2551 ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ
แน่นอนว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้สื่อมวลชนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ต่างโฟกัสอยู่ที่การพบประชาชนของ ‘หัวหน้าหนู’ ที่โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย เพราะทันทีที่เดินทางมาถึงก็ถูกพิธีกรรันงานกล่าวต้อนรับต่อหน้าประชาชนชาวศรีสะเกษประมาณ 4,000 คนว่า การมาศรีสะเกษครั้งนี้ของรัฐมนตรีภูมิใจไทยเป็น ‘ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง’
อนุทิน ชาญวีรกูล, พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ และ อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ
ร่วมถ่ายภาพกับข้าราชการและประชาชนที่โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อ ‘อนุทิน’ ได้ขึ้นเวทีจึงได้กล่าวปฏิเสธว่า “ไม่ใช่ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง แต่เป็นขี้ข้ามารายงานตัวกับเจ้านาย ผมมาศรีสะเกษเพราะอยากมารับใช้พ่อแม่พี่น้องชาวศรีสะเกษ แม้จะยังไปได้ไม่ครบทั้งจังหวัดก็ตาม”
‘อนุทิน’ อยู่บนเวทีร่วมกับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็น ‘ลูกหลาน’ บ้านใหญ่ศรีสะเกษจาก 3 ตระกูลสไตล์ภูมิใจไทย ประกอบด้วย ‘แนน-อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ’ สส. เขต 8 จังหวัดศรีสะเกษ สมัยที่ 2 ลูกชายของ ‘มงคลพัฒน์ สรรณ์ไตรภพ’ ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในอำเภออุทุมพรพิสัย สายตรงโรงโม่หินบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ปัจจุบันนั่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
จากซ้าย: ไตรศุลี ไตรสรณกุล, อาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ, อนุทิน ชาญวีรกูล และ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
ขณะอนุทินกำลังปราศรัยที่โรงเรียนกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
คนที่ 2 คือ ‘กวาง-ไตรศุลี ไตรสรณกุล’ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตรองโฆษกรัฐบาลในยุค พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลูกสาวของ ‘วิชิต ไตรสรณกุล’ นายก อบจ.ศรีสะเกษ 5 สมัย และเป็นหลานของ ‘ธีระ ไตรสรณกุล’ และ ‘อุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์’ สองอดีต สส. ที่การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาได้ทิ้งเพื่อไทยและย้ายกลับมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ถูกแคมเปญ ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ แคมเปญเพื่อการโฆษณาช่วงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเล่นงานจน ‘สอบตก’ ทั้งคู่
อีกคนคือ ‘โต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ อดีต สส. เขต 1 จังหวัดศรีสะเกษ และนายทุนภาพยนตร์ ‘สัปเหร่อ’ ไทบ้านพันล้าน ลูกชายของ ‘ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ’ นายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ ที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคมต่อกรณี ‘โหวตสวน’ มติพรรคให้โหวตสนับสนุนเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 แม้เลือกตั้งรอบนี้จะพลาดไม่ได้เป็น สส. แต่พรรคก็ได้ให้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ
‘อนุทิน’ ได้ประกาศกับประชาชนคนศรีสะเกษทั้ง 4,000 คนว่า “วันนี้ตั้งใจมาขายนโยบายเพื่อขอคะแนนให้ภูมิใจไทย เป็นรัฐบาลรอบนี้จะทำงานอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ สส. มากกว่านี้…ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดนี้หายใจเข้าหายใจออกเป็นงานทั้งหมด”
‘อนุทิน’ หมายมั่นปั้นมือมาโดยตลอดว่าอยากได้เก้าอี้ สส. ศรีสะเกษยกจังหวัด แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ต้องพ่ายให้กับแคมเปญ ‘ไล่หนู ตีงูเห่า’ ของพรรคเพื่อไทย และได้ สส. เพียง 2 ใน 9 เขต แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่ถึงครึ่งปี จึงใช้โอกาสที่มีอ้อนขอคะแนน เริ่มปฏิบัติการหาเสียงตั้งแต่เนิ่นๆ
กระนั้น เมื่อ ‘อนุทิน’ ลงจากเวทีก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การมาศรีสะเกษครั้งนี้มาในฐานะรัฐบาล เพื่อมารับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหา เป็นการมาติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การจัดตั้งตลาดนัดเจ้าหนี้นอกระบบ การดูระบบไฟฟ้า-น้ำประปาว่ายังขาดตกบกพร่องตรงไหนบ้าง พร้อมยืนยันว่า ต้องใช้เวลาทุกวินาทีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ ส่วนการปราศรัยก็เป็นเพียงสีสันการเมืองเท่านั้น
อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวเปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2567 โดยมีภริยาและรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยยืนขนาบข้าง
ทั้งนี้ การปรากฏตัวของ 7 เสนาบดีจากพรรคภูมิใจไทยอย่างสามัคคีและไม่แตกแถวในงานดอกลำดวนบาน ‘เทศกาลประจำปี’ ของคนศรีสะเกษนั้น นับเป็นการแสดงออกถึง ‘ความใส่ใจ’ และ ‘ซื้อใจ’ ชาวบ้านไปได้ไม่น้อยเช่นกัน
และอาจจะได้ใจ สส. พรรคสีแดงเจ้าของพื้นที่ด้วยหรือไม่ ‘ก็ไม่แน่ใจ’ เพราะสื่อมวลชนเห็นเต็มสองตาว่า 2 สส. ศรีสะเกษของพรรคเพื่อไทย ทั้ง อมรเทพ สมหมาย สส. เขต 5 และ วิลดา อินฉัตร สส. เขต 7 มาร่วมงานครั้งนี้ รวมถึงขึ้นไปบนเวทีร่วมกับรัฐมนตรีทั้ง 7 คนด้วย
อย่างไรก็ตาม ‘การเมือง’ ในดินแดนศรีนครลำดวนแห่งนี้ไม่ได้มีแค่การเมืองระดับประเทศเท่านั้นที่ดุเดือด การเมืองท้องถิ่นก็เข้มข้นไม่น้อย โดยเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะนายก อบจ. กำลังจะหมดวาระลงในช่วงปลายปีนี้
ได้ยินเสียงแว่วๆ มาว่า ‘วิชิต’ อยากวางมือการเมือง และส่งไม้ต่อให้ลูกชายคนโต ‘ชิตพล ไตรสรณกุล’ ที่ขณะนี้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ศรีสะเกษ เขตอำเภอกันทรลักษ์ สานต่อการเมืองด้วยคนรุ่นใหม่เลือดแท้ ‘ตระกูลไตรสรณกุล’ อีกสมัยต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาภูมิใจไทยเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ 24 มี.ค. อนุทินย้ำ หนุนคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่ง
- เทียบ 4 ร่างกฎหมายเพิ่มสิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน
- 4 พรรคการเมืองสวมเสื้อม่วงถวายกำลังใจ