×

ศรีลังกาวิกฤตหนัก ทางการระงับขายเชื้อเพลิง 2 สัปดาห์ ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าขอขึ้นค่าไฟ 835%

28.06.2022
  • LOADING...
วิกฤตพลังงานศรีลังกา

วานนี้ (27 มิถุนายน) คณะกรรมการการไฟฟ้าของศรีลังกา (CEB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ผูกขาดการจำหน่ายไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศ ประกาศขอขึ้นค่าไฟถึง 835% หลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงของประเทศ

 

ปัจจุบันศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ประกาศตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 1948 โดยศรีลังกาจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวนหลายล้านดอลลาร์เพื่อนำมาใช้ชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นอย่าง อาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค

 

คณะกรรมการสาธารณูปโภคของศรีลังกา (PUCSL) กล่าวว่า CEB มียอดขาดทุน 6.5 หมื่นล้านรูปี (185 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรก จึงต้องขอขึ้นค่าไฟ 835% กับผู้บริโภคพลังงานรายย่อย ปัจจุบันผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อเดือนจะต้องจ่ายเงิน 54.27 รูปี (0.15 ดอลลาร์) แต่ CEB จะขอขึ้นเป็น 507.65 รูปี (1.44 ดอลลาร์ หรือประมาณ 50 บาท)

 

ด้าน จานากา รัตนยาเก (Janaka Ratnayake) ประธาน PUCSL ลงความเห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศคงไม่สามารถรับมือกับราคาที่ทะยานสูงขึ้นเช่นนี้ได้ จึงเสนอให้กระทรวงการคลังออกงบประมาณอุดหนุนโดยตรง เพื่อให้ราคาค่าไฟลดลงครึ่งหนึ่งจากตัวเลขข้างต้น

 

ส่วนอัตราค่าไฟในประเทศนั้นยังไม่มีการตัดสินใจอย่างเป็นทางการ แต่ค่าไฟสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการพาณิชย์และอุตสาหกรรมอาจปรับตัวขึ้น 43-61%

 

ขณะเดียวกัน ศรีลังกายังได้ระงับการจำหน่ายเชื้อเพลิงทุกประเภทเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีข้อยกเว้นให้กับหน่วยงานบริการที่จำเป็น พร้อมวอนขอให้บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง เนื่องจากประเทศแทบไม่มีพลังงานเหลือแล้ว ขณะรัฐมนตรีพลังงานยอมรับว่า เขาไม่สามารถรับปากได้ว่าสต๊อกเชื้อเพลิงล็อตใหม่จะเดินทางมาถึงศรีลังกาเมื่อใด 

 

บันดูลา กูนาวาร์ดานา (Bandula Gunawardana) โฆษกรัฐบาลประกาศว่า “ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 27 มิถุนายน ศรีลังกาจะระงับการจำหน่ายเชื้อเพลิง ยกเว้นหน่วยงานที่จำเป็น เช่น ภาคสาธารณสุข เนื่องจากเราจำเป็นต้องสงวนพลังงานสำรองที่เหลือน้อยนิดเอาไว้” พร้อมขอโทษประชาชนสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ศรีลังกาพยายามหาทางออกด้วยการส่งรัฐมนตรีเดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อขอซื้อน้ำมันจากรัสเซียซึ่งมีราคาถูกกว่าตลาดโลก รวมถึงมีการเจรจาเงื่อนไขสัมปทานนำเข้าไฮโดรคาร์บอนกับกาตาร์ด้วย

 

แฟ้มภาพ: Thilina Kaluthotage / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X