×

จากวิกฤตสู่วิกฤต! ‘ศรีลังกา’ หนังตัวอย่างที่อีกหลายประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังเดินตามรอย

15.04.2022
  • LOADING...
ศรีลังกา

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดกับศรีลังกาอาจเป็นเพียงหนึ่งในหนังตัวอย่างที่ยังมีอีกหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังเดินตามรอยในลักษณะเดียว ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับศรีลังกาจึงนับเป็นบทเรียนที่เราควรหยิบขึ้นมาพิจารณาอย่างรอบด้าน โดย กอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ เขียนบทความวิเคราะห์เศรษฐกิจศรีลังกาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ ‘จากวิกฤตสู่วิกฤต’ โดยระบุว่า

 

ศรีลังกาเป็นเพียงประเทศแรกๆ ใน Emerging Markets ที่เข้าสู่วิกฤตในรอบนี้

 

เป็นเพียงหนังตัวอย่างที่ยังมีอีกหลายประเทศที่จะประสบปัญหาเศรษฐกิจ (แต่คงใช้เวลาอีกระยะ) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต้องต่อสู้กับการแก้ไขปัญหาโควิด

 

รัฐบาลใช้เงินไปมากในการเยียวยา ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการจัดซื้อวัคซีน และการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนของตนเอง ระดับหนี้ของรัฐบาลจึงเพิ่ม ทะลุเพดานหนี้ที่เหมาะสม

 

ด้านเอกชน SMEs ก็ลำบากกันทั่ว จากยอดขายที่ลดลง จากหนี้ที่ต้องก่อ เพื่อหาสภาพคล่องมาประคองธุรกิจ ส่วนประชาชนที่หาเช้ากินค่ำก็มีหนี้เพิ่มพูน จนระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ Emerging Markets หลายๆ ประเทศ สะสมความเปราะบางเพิ่มขึ้น เข้าสู่จุดคับขัน

 

ที่น่าหนักใจที่สุดคือ ปกติแล้วหลังวิกฤตเราจะมีช่วงดีๆ อย่างน้อย 2-3 ปีให้เคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่สะสม เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ ร้านค้าค้าขายดี รัฐบาลเก็บภาษีได้

 

ทั้งหมดช่วยให้ระดับหนี้ของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ลดลง ทำให้ทุกคนฐานะการเงินเข้มแข็งขึ้น สามารถสะสมเงินออมอีกรอบพร้อมรับกับวิกฤตรอบถัดไป

 

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าน่าหนักใจมากรอบนี้ก็เพราะเรากำลังจะออกจากวิกฤตหนึ่ง แต่จะเข้าสู่อีกวิกฤตทันที

 

ช่วงเวลาดีๆ ไม่ได้มาอย่างเคย

 

ไม่มีเวลาหายใจ

 

ทำให้ทุกประเทศเข้าสู่อีกช่วงของความท้าทาย โดยที่ทุกคนมีความเปราะบางทางการเงินอย่างยิ่ง

 

ยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นพิเศษจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่ง Fed ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบต่อ Emerging Markets ก็จะยิ่งแรงกว่าปกติ

 

หลายคนที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว อาจจมน้ำได้

 

ศรีลังกาจึงเป็นกรณีศึกษาที่เป็นบทเรียนให้กับทุกคน

 

ก่อนโควิดระบาด ศรีลังกาได้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่ชอบ

เรียกกันว่า ‘โครงการช้างเผือก’ ได้สร้างหนี้ให้กับรัฐบาล ทำให้ฐานะของรัฐบาลอ่อนแอลง ทั้งในเรื่องของท่าเรือ สนามบิน และโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดโควิดโครงการเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลตามหวัง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการดูแลเศรษฐกิจในช่วงโควิด รัฐบาลขาดดุลการคลังประมาณร้อยละ 10% ของ GDP ระหว่างปี 2019-2021 ทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นจาก 78% ของ GDP เป็นประมาณ 107% ของ GDP ใน 3 ปีสุดท้าย

 

นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2021 ก็เริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณไตรมาสละ 1 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ

 

เราจะเห็นในภาพด้านล่างว่าเงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่มีอยู่ 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ล่าสุดเหลือแค่ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ส่วนหนึ่งเงินสำรองคงถูกใช้ในการดูแลค่าเงินให้อยู่ที่ประมาณ 200 รูปีต่อดอลลาร์ (เพราะค่าเงินรูปีนิ่งมากในช่วงที่ผ่านมา)

 

แต่ท้ายสุดชัดเจนว่าคงเอาไม่อยู่ ธนาคารกลางศรีลังกาจึงเริ่มปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ค่าเงินอ่อนยวบลงไปที่ 323 รูปีต่อดอลลาร์ หรือลดลงประมาณ 40% 

 

ธนาคารกลางจึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียว 7% (Standing Lending Rate) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จาก 7.5% เป็น 14.5% เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงจาก 5% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 18.7% และดูแลการอ่อนลงของค่าเงิน

 

ล่าสุด กำลังติดต่อกับ IMF เพื่อให้เข้ามาช่วยดูแลปัญหา สร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน และเพิ่มเงินสำรอง เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไข ต่อไปศรีลังกาจะมีปัญหาในการนำเข้าอาหาร พลังงาน ยารักษาโรค อย่างยิ่ง และนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและสังคมต่อไป

 

ขอเป็นกำลังใจให้ศรีลังกาครับ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X