×

นายกฯ ถกบริหารจัดการน้ำ สั่งทำแผน 3 ปี แก้ปัญหาเร่งด่วน มั่นใจเอาอยู่ น้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2024
  • LOADING...
บริหารจัดการน้ำ

วันนี้ (5 สิงหาคม) ที่กรมชลประทาน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศจาก ชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งภาพรวมสถานการณ์ฝนขณะนี้อยู่ที่ 56% มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน 4% 

 

ขณะที่สถานการณ์ที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก มีการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 1-5 สิงหาคมในระดับคงที่ แต่เนื่องจากมีฝนตกลงมาท้ายเขื่อนจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ปิดการระบายน้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชลแล้ว

 

ด้านนายกรัฐมนตรีกำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงและคาดการณ์ว่าจะเกิดน้ำท่วมให้ดูแลลงรายละเอียดเป็นรายอำเภอ และกำชับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อยากฝากเรื่องของแม่น้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จะต้องขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้คลองตื้นเขินและระบายน้ำได้เร็วขึ้น ให้เสร็จก่อนฝนจะมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ก่อนแถลงผลการประชุมว่า ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ พร้อมเน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ตลอดจนก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ

 

โดยที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำพิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ 

 

ประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

 

  1. การเพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค
  2. การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิมและพัฒนาระบบกระจายน้ำ 
  3. การพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 
  4. การพัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง 
  5. การพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ

 

สั่งทำแผนส่ง ครม. ภายในสิงหาคมนี้

 

นายกรัฐมนตรีระบุอีกว่า ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานด้านน้ำและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะแถลงข่าว และตนมอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน เน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากร่วมกับกรมชลประทาน 

 

นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกันติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งเท่าที่ดูรายงานก็มีภาคตะวันออกที่กำลังประสบปัญหาอยู่ และภาคอีสานบางจุดที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ

 

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า อาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลักของเราหลายสิบล้านคน เรื่องของน้ำดื่ม น้ำใช้ พวกเราในกรุงเทพฯ มีน้ำใช้กันอย่างเต็มที่ แต่ถ้าลงไปต่างจังหวัดมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำใช้อุปโภคและบริโภคยังไม่มี และทุกปีเราใช้งบประมาณในการชดเชย เรื่องการช่วยเหลือจุนเจือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ถ้าเราบริหารจัดการไม่ให้มีน้ำท่วม น้ำแล้ง ตนเชื่อว่าความเดือดร้อนของประชาชนจะหายไปเยอะ รวมถึงผลกระทบในเชิงบวกที่จะก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหารสูง การที่การเมืองโลกร้อนระอุ มีเรื่องแย่งอาหารเยอะมาก จะทำให้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านนี้ 

 

ขณะที่เรื่องน้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ๆ ต้องการน้ำจำนวนมาก การที่เราไปเชิญต่างชาติให้มาลงทุนและให้มาตรการด้านภาษีสนับสนุนแต่มาแล้วน้ำขาดก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ 

 

เมื่อถามย้ำว่า มั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรียิ้มก่อนกล่าวว่า ครับ

 

แผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปี ครอบคลุม ลดขั้นตอนราชการ 

 

ด้าน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนบริหารจัดการน้ำระยะ 3 ปี สทนช. เป็นผู้รับผิดชอบ และให้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น เรื่องงบประมาณไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งจะมีทั้งโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงการเดิม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ ที่หากดำเนินการแล้วจะเกิดประโยชน์ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ 

 

ร.อ. ธรรมนัส ยังกล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการถ่ายโอนอำนาจของส่วนท้องถิ่น ซึ่งภารกิจสำคัญคืองบประมาณ และผู้ที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ยังมีไม่เพียงพอ รวมถึงการขอใช้พื้นที่รัฐ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกรมธนารักษ์ ที่จะต้องมีกรณียกเว้นพิเศษเพื่อให้แผน 3 ปีไปสู่เป้าหมาย

 

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวอีกว่า แผน 3 ปีนี้ไม่ได้ดูแค่เรื่องน้ำท่วม แต่บริหารจัดการน้ำแบบทุกไตรมาส ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาหลายโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการที่มีแผน 3 ปีจะช่วยลดขั้นตอนระบบราชการลง และใช้งบประมาณให้ตรงกับจุดที่ต้องการแก้ไขปัญหา

 

น้ำท่วมนครนายก น้ำหลาก ไม่ใช่เขื่อนปล่อยน้ำ 

 

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวถึงกรณีเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ที่ระบายน้ำกลางดึก ส่งผลให้น้ำไหลทะลักท่วมรีสอร์ต และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายว่า น่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลมีการระบายน้ำมาโดยตลอด แต่เนื่องจากเมื่อคืนมีฝนตกหนัก ลำน้ำสาขาเกิดเอ่อเข้าท่วม ยืนยันว่าไม่ใช่น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของน้ำหลากมากกว่า 

 

เมื่อถามถึงการกำชับเรื่องการแจ้งเตือนภัยประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ท้ายเขื่อน ร.อ. ธรรมนัส ระบุว่า ต้องอาศัยข้อมูลจาก GISTDA ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานดังกล่าวและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปดูแล

 

ด้านอนุทินกล่าวถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชลอย่างกะทันหันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ถือเป็นภัยพิบัติ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็ลดลง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา รวมถึงมีแผนรับรอง

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X