วันนี้ (24 ตุลาคม) ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการประชุม สส. ของพรรค นำโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรค, วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส. พรรค และ อดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย
เศรษฐากล่าวในที่ประชุมถึงเหตุการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสว่า ถือเป็นเครื่องสะท้อนว่าเหตุใดรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศครั้งมโหฬาร เพราะแรงงานไทยเปลี่ยนใจจะไม่กลับไทย แม้ว่าความรุนแรงของสถานการณ์จะเพิ่มมากขึ้น เพียงเพราะนายจ้างจะให้เงินเพิ่มอีก 50,000 บาท ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เลื่อนวันออกเงินเดือนเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน หากคิดให้ดีแสดงว่าเงินเดือนจะไม่ออก เพราะอาจมีการใช้ปฏิบัติการภาคพื้นดินและอาจมีการสูญเสียครั้งมโหฬาร
เศรษฐากล่าวต่อว่า ดังนั้นขอฝาก สส. ที่มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ไปบอกญาติพี่น้องพวกเขาด้วยว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนนับหมื่นคนต้องเสี่ยงชีวิตดูแลคนเป็นแสนเป็นล้านคน ปัญหาดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนกลับมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทุกคนพยายามหาเงิน พยายามอยู่ต่อ เพื่อให้ได้เงินอีก 50,000 บาท ขณะที่นายจ้างอิสราเอลก็เอาเปรียบจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของเรา ถือเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ
ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลดค่าน้ำ ค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง แต่ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียว ไม่ได้หมายความว่าเราทำโครงการนี้หรือโครงการอื่นๆ แล้วจะเป็นการทำให้วินัยการเงินการคลังเสียหากเป็นสิ่งที่อธิบายได้
“แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะจัดเครื่องบินรับแรงงานไทยได้วันละ 800-1,000 ที่ แต่คนที่กลับมาเริ่มลดน้อยลง เพราะนายจ้างอิสราเอลเริ่มปั่นหัวว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ สำนักข่าวกรอง หรือฝ่ายความมั่นคง ชัดเจนว่าสถานการณ์สู้รบจะรุนแรงมากขึ้น แล้วอาจจะลุกลามไปประเทศข้างเคียงด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ แต่ผมพูดเพื่อให้เกิดการพาดหัว เชื้อเชิญให้คนไทยกลับมาเถอะ เงินจำนวนไหนก็ไม่สามารถทดแทนชีวิตได้” เศรษฐากล่าว
เศรษฐายังกล่าวถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ว่า นโยบายนี้จะขับเคลื่อนโดยแพทองธาร ถือเป็นนโยบายใหญ่พอๆ กับดิจิทัลวอลเล็ตเลยก็ว่าได้ ถือเป็นวาระของพรรคเพื่อไทย และอยากจะขอร้องอ้อนวอน สส. ของพรรค ว่าหากใครมีไอเดียหรือรู้จักเพชรในตมตรงไหน อยากให้ขุดขึ้นนำมาเสนอ
เศรษฐายังกล่าวด้วยว่า ตนมีความกังวลใจการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งการเลือกตั้งซ่อม สส. ซึ่งเป็นการเมืองท้องถิ่นที่ส่งเสริมการเมืองระดับชาติ ดังนั้นทุกคนในพรรคควรจะให้ความสนใจและมียุทธศาสตร์ให้ชัดเจน หวังว่าตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เมื่อมีการเลือกกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จะเป็นวาระสำคัญของพรรค
“ตรงนี้เรายอมไม่ได้ เรามัวแต่ไปทำงานในซีกรัฐบาล ถ้าลืมเรื่องการเลือกตั้ง อบจ. และ อบต. ผมว่ามันมีเป็นสัญญาณไม่ดีสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหญ่และสนามใหญ่ครั้งต่อไป” เศรษฐาระบุ
ด้าน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. เชียงราย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวว่า เรื่องของการเสนอญัตติและการเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในสมัยประชุมนี้ เรายังไม่มีการเสนอ พ.ร.บ. เข้าพิจารณาในสภาเลยสักหนึ่งฉบับ นี่คือความล้มเหลว ส่วนญัตติต่างๆ ต้องยอมรับว่าเราสู้พรรคก้าวไกลไม่ได้เลย พวกเราล่าช้ามากกับการยื่นญัตติ ถ้าหากพรรคเพื่อไทยมีการยื่นญัตติเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าปัญหาที่พรรคก้าวไกลยื่นญัตติเสนอญัตติการทำประชามติซ้ำซ้อนคงจะไม่เกิดขึ้น
ด้านแพทองธารกล่าวว่า เวลา 09.30 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย ขอให้ทุกท่านมากัน และตนมองว่าอยากจะพูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงภายในพรรค เพราะเราเรียนรู้อะไรมากมายจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาและระหว่างที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐามาสองเดือนแล้ว ซึ่งก็สร้างผลงานมากมาย โดยเรามีแผนจะปรับเปลี่ยนพรรคให้มีข้อมูลเพิ่มขึ้นและเป็นพรรคที่พร้อมจะมีองค์กรแห่งการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
แพทองธารกล่าวอีกว่า ตนอยากทำให้พรรคมีการหาความรู้อยู่เรื่อยๆ เสมอในทุกด้าน ทั้งด้านที่เราถนัดและไม่ถนัด ในโอกาสที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล ตนอยากได้ความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลในการมาให้ความรู้ในแต่ละด้านเช่นกัน เพราะบางคนอาจไม่ได้มีความรู้ในกระทรวงมากนัก ฉะนั้นเรามาแบ่งปันความรู้ความสามารถ และตนคิดว่าหลายคนที่อยู่ในกระทรวงต่างๆ อยากจะเรียนรู้ร่วมกัน จุดนี้เป็นจุดที่ตนอยากจะส่งเสริม