วันนี้ (10 ธันวาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) ว่า
“10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ขณะที่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ 10 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญ ขอชวนให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการทำงานของรัฐบาล เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ขณะนี้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนครบทั้ง 4 ภาคของไทยแล้ว ครอบคลุมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ภาคกลาง กลุ่มประชาชนในพื้นที่ชนบทในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้
ซึ่งความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง (Focus Group) ดังกล่าว ถือเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมาก โดยคาดว่าจะมาออกเสียงประชามติถึงกว่าร้อยละ 75 จากกลุ่มตัวอย่างที่ไปดำเนินการสำรวจ โดย นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า หากสามารถเดินหน้าสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ มีความเกี่ยวพันกับประชาชนทุกคน ก็จะมีส่วนช่วยให้มาออกเสียงประชามติได้อย่างมาก
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 4 ภาคของไทย มีแนวคำถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น โดยมีผู้ตอบคำถามจากกลุ่มประชาชนตัวอย่างทั้งสิ้น 240 คน โดยคำตอบที่สอบถามจะเป็น
- เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรมนูญฉบับใหม่ โดยเห็นด้วย 194 คน ไม่เห็นด้วย 46 คน
- ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะคงเนื้อหาในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เห็นด้วย 167 คน ไม่เห็นด้วย 70 คน
- หากมีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไม่ ไป 230 คน ไม่ไป 5 คน เป็นต้น
โดยขั้นต่อไป เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา คณะอนุกรรมการฯ จะรอสรุปการรับฟังความคิดเห็น ที่ส่งแบบสอบถามขอความคิดเห็นไปยังสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน แล้วนำมาสรุปรวมความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตลอดจนตัวแทนกลุ่มอาชีพ 15 กลุ่ม ที่เชิญมารับฟังแล้วที่ทำเนียบรัฐบาล ตลอดจนความเห็นของประชาชนคนหนุ่มสาว ตลอดรวมทั้งพรรคก้าวไกลที่ไม่ส่งคนมาร่วมในคณะกรรมการ
หลังจากนั้นประมาณปลายปี 2566 จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ ของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว จะเป็นการสรุปผลคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสรุปความคิดเห็นเป็นรายงานผลการศึกษาเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการตัดสินใจเพื่อดำเนินการต่อไป
“รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมาก ในการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงพื้นให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ควบคู่กับการเดินหน้าสร้างความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า รัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวพันกับประชาชนทุกคน รัฐบาลอยากให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นของคนไทยทุกคน” รัดเกล้ากล่าว