×

เปิดประวัติ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

22.08.2023
  • LOADING...
ประวัติ เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ทวีสิน ชื่อเล่น นิด เกิดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2505 ปัจจุบันอายุ 61 ปี เศรษฐาเป็นบุตรคนเดียวของของ ร้อยโท อำนวย ทวีสิน กับ ชดช้อย ทวีสิน (สกุลเดิม จูตระกูล) บิดาของเศรษฐาเสียชีวิตตั้งแต่เศรษฐาอายุเพียง 3 ขวบ

 

การศึกษา:

ในระดับประถมศึกษา เศรษฐาศึกษาที่โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในระดับไฮสคูล เศรษฐาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ (University of Massachusetts) และปริญญาโทในสาขาบริหารธุรกิจด้านการเงิน จากบัณฑิตวิทยาลัยแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate School) สหรัฐอเมริกา

 

ประวัติส่วนตัว: 

ในปี 2532 เศรษฐา สมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญความงามด้านผิวพรรณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่ 

  1. น้อบ-ณภัทร ทวีสิน (บุตร) 
  2. แน้บ-วรัตม์ ทวีสิน (บุตร)
  3. นุ้บ-ชนัญดา ทวีสิน (ธิดา)

 

ประวัติการทำงาน: 

หลังเรียนจบในปี 2529 เศรษฐากลับมาทำงานที่ประเทศไทยในบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล ซึ่งในเวลานั้น P&G เพิ่งย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเขาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดคนแรก เมื่อทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี ทาง P&G ได้เสนอให้เขาไปทำงานในต่างประเทศ แต่ตัดสินใจปฏิเสธเพราะเพิ่งกลับมาประเทศไทย ก่อนที่จะไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับ อภิชาติ จูตระกูล ผู้เป็นญาติในชื่อ บริษัท แสนสำราญ จำกัด (ชื่อเดิมของแสนสิริ) ในปี 2533  

 

บริษัทแสนสิริ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2538 ต่อมาปี 2540 ประเทศไทยรวมถึงบริษัทแสนสิริที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ส่งผลให้แสนสิริมีการปลดพนักงาน ขายสินทรัพย์เพื่อให้มีทุนหมุนเวียน จนนำองค์กรกลับมาเติบโตได้ และสามารถผ่านวิกฤตโควิดมาได้ จนในปี 2565 แสนสิริมีกำไรมากที่สุดในรอบ 38 ปี มากกว่า 4,280 ล้านบาท มีรายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 34,973.59 ล้านบาท 

 

การเข้าสู่การเมือง: 

เดือนพฤศจิกายน 2565 เศรษฐาสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเพื่อไทย และในเดือนมีนาคม 2566 นั่งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้กับ แพทองธาร ชินวัตร

 

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน ได้ทำรายการโอนหุ้นของ SIRI จำนวน 661 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.44% ให้กับ ชนัญดา ทวีสิน (บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว) โดยภายหลังการทำธุรกรรมครั้งนี้ ส่งผลให้ เศรษฐา ทวีสิน จะไม่ได้ถือหุ้น SIRI อีกต่อไป จากก่อนการทำรายการที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของ SIRI ตามมาด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทุกตำแหน่งในบอร์ดของบริษัทในกลุ่มแสนสิริ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป 

 

ในเดือนเมษายน 2566 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อเศรษฐาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับอีก 2 ท่าน ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร และ ชัยเกษม นิติสิริ 

 

เศรษฐาเคยระบุว่า ไม่ได้มีความฝันที่จะก้าวเข้าสู่การเมืองมาก่อน แต่สิ่งที่เริ่มจุดประกายให้เขาสนใจการเมืองมากขึ้น คือนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐาเห็นว่าการยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและรับไม่ได้ บวกกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 8-9 ปีหลังมานี้ 

 

รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ความไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เศรษฐาเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเสมอภาค มีความเท่าเทียม และมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกได้ จึงตัดสินใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising