×

ปิดภารกิจทัวร์ยุโรป เศรษฐาหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีเยอรมนียกระดับความร่วมมือ ก่อนบินกลับไทย

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2024
  • LOADING...

วานนี้ (13 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงภารกิจของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยือนยุโรปวันสุดท้าย ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ 

 

โดยมีกำหนดการสำคัญในการหารือทวิภาคีกับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ซึ่งมีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการที่บริเวณลานหน้าทำเนียบ จากนั้นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีจะนำนายกรัฐมนตรีไทยเดินผ่านกองทหารเกียรติยศเต็มรูปแบบและทำความเคารพเพลงชาติของทั้งสองประเทศ

 

ต่อจากนั้นจะเป็นการหารือก่อนการแถลงข่าวร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า ประเทศเยอรมนีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่น่ายินดีที่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและเยอรมนีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเยอรมนียินดีที่จะพิจารณาสนับสนุนไทยในการเข้าร่วม OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป 

 

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ระบุว่า การเยือนในครั้งนี้ประธานาธิบดีคงได้เห็นถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและการธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ยึดกฎเกณฑ์ 

 

ทั้งนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคกับอาเซียนและในอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และไฮโดรเจนสีเขียว การส่งเสริมความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเชิญชวนให้เยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและการท่องเที่ยว ผ่านการผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อยกเว้นตรวจลงตราเชงเก้นสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย

 

พบ 7 บริษัทชั้นนำของเยอรมนีก่อนบินกลับไทย

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมส่วนแสดงสินค้าไทยภายในห้างสรรพสินค้า KaDeWe กรุงเบอร์ลิน และพบปะหารือกับผู้บริหารชั้นนำหลากหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น

 

– ผู้บริหาร Volkswagen Group ผู้ผลิตยานพาหนะรายใหญ่ของโลก มีแผนขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า Quick Charge 45,000 จุดทั่วโลกภายในปี 2568 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชิญชวนบริษัท Volkswagen มาลงทุนระยะยาวในไทย 


– บริษัท Infineon Technologies AG ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยใช้พลังงานสีเขียวในกระบวนการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแนวโน้มจะลงทุนในไทยเพิ่ม และมีแผนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่มีทักษะเฉพาะ ซึ่งไทยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุน


– บริษัท Schaeffler AG ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมหนักและยานยนต์แบรนด์ FAG และ INA นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะรองรับความต้องการจากบริษัทใหญ่ของโลกที่ต้องการพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ Utility Green Tariff (UGT) ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ กำลังพิจารณาโอกาสในการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยจะเน้นการลงทุนในส่วนของ EV หากมีความตกลง FTA จะช่วยในความร่วมมือได้มาก

– บริษัท Dräxlmaier GmbH & Co
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถยนต์ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ระบบไฟฟ้า ระบบแบตเตอรี่ รวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ครบรอบ 20 ปีที่ดำเนินธุรกิจในไทย เชื่อมั่นในศักยภาพของไทย 

 

– บริษัท Mercedes-Benz ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์พรีเมียมของประเทศเยอรมนี บริษัทฯ ชื่นชมนโยบายการสนับสนุนรถยนต์ EV ของไทย และพร้อมผลิตไฟฟ้ารุ่น EQS ในไทย รวมทั้งผลิตแบตเตอรี่และดำเนินธุรกิจในไทยในระยะยาว

– บริษัท MAHLE GmbH ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระบบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องยนต์ชั้นนำของเยอรมนี มีแผนขยายกิจการในไทย รวมไปถึงการขยายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา มูลค่ารวม 3,039 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าการลงทุนเดิมถึงร้อยละ 31

– บริษัท BMW AG ผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระดับพรีเมียมชั้นนำของโลก ได้หารือถึงนโยบาย EV ของไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ BMW ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยบริษัทฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่ BMW เปิดโรงงานเมื่อ 25 ปีที่แล้ว รวมถึงหารือข้อจำกัด ความท้าทาย และพร้อมช่วยแก้ไข

 

ชูศักยภาพไทย ดึงดูดการลงทุน SMEs เยอรมนี

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเยอรมนี (German Association for Small and Medium-Sized Businesses: BVMW) ช่วงหนึ่งถึงความมุ่งมั่นในการกระตุ้นการขยายการลงทุนของ SMEs เยอรมนีในไทย ด้วย 5 แนวคิด ดังนี้

 

  1. แนวคิดด้านการเปลี่ยนแปลงสีเขียว เพิ่มแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่งมากขึ้น เพิ่มอัตราการผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตร้อยละ 50 ภายในปี 2583 และมาตรการ UGT ที่ส่งเสริมการนำพลังงานไฟฟ้าสะอาดไปใช้ด้วย

 

  1. มุ่งสร้างโอกาสและยกระดับศักยภาพของประเทศจากข้อได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของไทย นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบิน เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของโลก 

 

  1. การเปิดกว้าง รัฐบาลกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่ตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 ขยายการส่งออก และหวังว่าคนไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปเยอรมนีและ EU มากขึ้นในอนาคต โดยสามารถพำนักระยะสั้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า

 

  1. การตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก โดยให้ความสำคัญกับการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ความรับผิดชอบ และความเท่าเทียม 

 

  1. การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและเยอรมนี ให้เกิดการสร้างและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของทั้งสองประเทศ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising