×

‘เศรษฐา-ทักษิณ-ก้าวไกล’ มิถุนาเดือด การเมืองร้อน 10 ปียังวนที่เดิม

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2024
  • LOADING...
เศรษฐา-ทักษิณ-ก้าวไกล

แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ อากาศชุ่มฉ่ำก็ยังไม่อาจดับความร้อนจากการเมืองไทยในขณะนี้ได้ 

 

‘มิถุนายน’ เดือนเดือดสำหรับการเมืองไทย 5 เหตุการณ์สำคัญ ตัวแปรให้ การเมืองไทย ต้องพลิกผันอีกครั้ง แต่ละเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร THE STANDARD รวบรวมสรุปมาให้แล้ว

 

ภาพ: สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี

 

  1. เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ?

 

เมื่อนายกรัฐมนตรีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ถูกเหล่า 40 สว. ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง


 

ทำไมคุณสมบัติพิชิตถึงมีปัญหา เพราะพิชิตคือหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีให้กับครอบครัวชินวัตรรวมถึงคดีที่ดินรัชดาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กลายเป็นปมสำคัญจากการหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาลระหว่างการพิจารณา

 

แม้พิชิตจะชี้แจงว่า ถุงเงิน 2 ล้านบาทเป็นการหยิบสลับกันระหว่างช็อกโกแลตที่ให้ภริยาไปซื้อเพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลกับเงินที่ชำระค่าบ้านส่วนหนึ่ง แต่ศาลมองว่าไม่ได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในทันที จึงมีคำสั่งจำคุก ฐานละเมิดอำนาจศาลสถานหนัก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา 

 

จากนั้นสภาทนายความก็มีมติลงโทษให้ลบชื่อพิชิตออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ แม้พิชิตจะพยายามยื่นขอจดทะเบียนเป็นทนายความใหม่ แต่ก็ถูกกรรมการสภาทนายความตีตก

 

ปมนี้จึงกลายมาเป็นคำร้องที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐบาลเศรษฐา เพราะในเอกสารคำร้องของ 40 สว.ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเข้าพบ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพิชิตเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง

 

นายกรัฐมนตรีรู้หรือควรรู้อยู่แล้ว พิชิตกระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกา โดนลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ รวมถึงนายกรัฐมนตรีบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลให้เข้าใจผิดว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบคุณสมบัติของพิชิตเรียบร้อยแล้ว 

 

40 สว. ผู้ยื่นคำร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นการคบค้าสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย กระเทือนต่อความเชื่อถือและศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เศรษฐาขาดคุณสมบัติ

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ซึ่งครบกำหนดเวลาที่ศาลให้ส่งคำชี้แจง ดูเหมือนจะมี ‘ทางรอด’ ให้เศรษฐา จากเอกสารที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรียื่นให้กฤษฎีกาตีความ มาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ชี้ชัดว่า การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพิชิต ซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไม่ขัดเรื่องคุณสมบัติ เพราะพ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว (ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ปี 2551) 

 

และจากศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลางระบุว่า การกระทำละเมิดอำนาจศาลจึงมิใช่ความผิดอาญา แต่เป็นเพียงการละเมิดอำนาจและหน้าที่ของศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีและการรักษาความเรียบร้อยเท่านั้น

 

แม้จะเห็นโอกาสรอดของเศรษฐา หากดูจากเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ปริ่มน้ำจนทำให้เห็นโอกาสเพียง 50:50 

 

การดึง วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เข้ามาช่วยดูร่างคำชี้แจง ณ เวลานี้ ไม่เพียงเป็นการการันตีจากบิดาแห่งข้อยกเว้น แต่ยังเสริมความมั่นใจให้กับรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยว่าเศรษฐาจะไม่หลุดจากตำแหน่ง

 

แต่หาก ‘ไม่รอด’ ศาลรัฐธรรมนูญมองว่าผิดจริยธรรม จะส่งผลให้เศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันกับนายกรัฐมนตรีทันที

ทำให้ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ โดยจะพิจารณาจากแคนดิเดตที่เหลือของพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งคือ 251 เสียงของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และครั้งนี้ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ามามีส่วนในการเลือกแล้ว

 

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล

 

  • พรรคเพื่อไทย – แพทองธาร ชินวัตร
  • พรรคเพื่อไทย – ชัยเกษม นิติสิริ
  • พรรคภูมิใจไทย – อนุทิน ชาญวีรกูล
  • พรรคพลังประชารัฐ – พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ – พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

 

เศรษฐา-ทักษิณ-ก้าวไกล

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

2. ทักษิณได้สิทธิประกันตัวคดี ม.112?

 

เวลา 09.00 น. ของวันที่ 18 มิถุนายนนี้ เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ต้องจับตา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปพบอัยการสูงสุด เพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลตามกำหนด และจะได้รับสิทธิในการประกันตัวคดีมาตรา 112 หรือไม่

 

เพราะหลังทนายความแจ้งว่าทักษิณติดโควิด พร้อมใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าให้สังเกตอาการ 7 วัน จากนั้นไม่นานความเคลื่อนไหวของทักษิณก็หายไปจากปฏิทินการเมือง จนเกิดเป็นคำถามและข่าวลือว่าทักษิณไม่อยู่ไทยแล้ว 

 

ทั้งยังกระทบไปถึงพรรคเพื่อไทยที่เวลานี้กำลังร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะแสดงออกจุดยืนในการรวมคดีความผิดมาตรา 112 เข้าไปด้วยหรือไม่ หรือจะใช้วิธีการตั้งกรรมการนิรโทษกรรมให้พิจารณาแทนการกำหนดในกฎหมาย

 

ร้อนถึง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะบุตรสาวของทักษิณ และเศรษฐา ต้องออกมายืนยันสยบข่าวลือว่าทักษิณสบายดี ยินดีหากเรื่องเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล เพราะจะได้มีโอกาสชี้แจง และไม่ได้ออกนอกประเทศ 

 

แม้แนวโน้มทางของคดีสามารถออกได้ 3 แนวทาง คือ สั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง และเลื่อนนัดฟังคำสั่ง 

 

หากศาลสั่งฟ้อง ทักษิณต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล และต้องรอดูว่าจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ หากไม่ได้รับการประกันตัวจะต้องเข้าเรือนจำทันที 

 

อย่างไรก็ตาม มีการเปรียบเทียบคดีของทักษิณกับคดีมาตรา 112 ของบุคคลทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ทั้งของ ชลธิชา แจ้งเร็ว สส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา แต่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากตำแหน่ง สส. หรือ กรณีของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ได้รับการปล่อยตัว แต่ต้องเข้าเรือนจำมาก่อน 

 

สิ่งนี้อาจไม่ใช่ข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจนว่าทิศทางจะไหลไปตามนั้น เพราะเหตุที่อัยการจะคัดค้านการยื่นขอประกันตัวก็ใช่ว่าจะไม่มี เช่น ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน มีพฤติกรรมหลบหนี และส่งผลเสียหายต่อความยุติธรรม 

 

คงต้องจับตาวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายนนี้ ว่าทักษิณจะไปเป็นประธานงานบวชหลานชายนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ตามกำหนดการเดิมหรือไม่ เพราะการปรากฏตัวก็เป็นเครื่องหมายยืนยันได้อีกนัยว่า ทักษิณพร้อมสู้และยังไม่หลบหนีไปตามกระแสข่าว 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

3. พรรคก้าวไกล โอกาสรอดจากการยุบพรรค?

 

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 วันชี้ชะตาของพรรคก้าวไกล หลังศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันพิจารณาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายลักษณะการล้มล้างการปกครองฯ จากการที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

เป็นอีกครั้งที่พรรคสีส้มต้องวกกลับมาต่อสู้ในเรื่องของการยุบพรรค หลังจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2563 พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และห้ามจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง สืบเนื่องจากกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

แม้ก่อนหน้านั้นพรรคอนาคตใหม่จะรอดพ้นจากกระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่รู้จักในนาม ‘คดีอิลลูมินาติ’ ผ่านมากว่า 4 ปี พรรคสีส้มภายใต้ชื่อ ‘พรรคก้าวไกล’ กำลังจะโดนคดีที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองอีกครั้ง 

 

นับเป็นพรรคน้องใหม่ที่อายุไม่ถึง 10 ปี แต่กลับต้องเผชิญกับคดีและขึ้นศาลมากมาย ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ก่อนวันตัดสินของศาลเพียง 3 วัน พรรคก้าวไกลจะแถลงข่าวและเผยแพร่รายละเอียดคำชี้แจงทั้งหมดให้สาธารณะได้รับทราบ เพื่อให้เห็นถึงแนวทางการต่อสู้คดีของพรรคว่าพรรคไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองฯ และความผิดยังไม่สำเร็จ 

 

พรรคก้าวไกลสามารถอ้างเหตุผลได้ทั้งกระทำโดยไม่เจตนา, ได้ส่งนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ให้ กกต. ก่อนการหาเสียงแล้ว แต่ กกต. ไม่คัดค้าน, การถอดนโยบาย-แก้มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ หลังมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (เมื่อวันที่ 31 มกราคม) ให้ยุติการกระทำ และพรรคก้าวไกลได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยแล้ว

 

แต่คงต้องมาลุ้นกันว่า 2 แนวทางที่จะเกิดขึ้น คือ ‘ไม่ยุบพรรค’ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอหรือไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่กล่าวหาจริง

 

กับ ‘ยุบพรรค’ เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้หรือเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมกับตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี สิ่งไหนจะเกิดขึ้นกันแน่

 

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคชุดแก้ไขมาตรา 112 กรรมการบริหารพรรคคนสำคัญที่จะหลุดจากตำแหน่งมีทั้งอดีตหัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันอย่าง ชัยธวัช ตุลาธน พรรคสีส้มจะเดินหน้าทางการเมืองหลังจากนี้ต่อไปอย่างไร และความหวังที่จะให้รัฐสภาเป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องมาตรา 112 อย่างโปร่งใส มีวุฒิภาวะ และไม่ผลักคนรุ่นใหม่ให้เลือกวิธีการประท้วงที่ทำร้ายตัวเองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

เศรษฐา-ทักษิณ-ก้าวไกล

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

4. การเลือก สว.

 

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คนเพื่อมาแทนชุดเก่าที่หมดวาระ นับเป็นครั้งแรกที่เปิดให้มีการเลือกกันเอง และยังเป็นการเลือกที่ซับซ้อนที่สุดในโลก

 

  • วันเลือก สว. ระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567
  • วันเลือก สว. ระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน 2567
  • วันเลือก สว. ระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567

 

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ประกาศไว้ รู้ผลเลือก สว. วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 แต่เวลานี้มีหลายปัจจัย เช่น คนสมัครน้อย, ไร้คะแนนรอบเลือกไขว้, รายชื่อหลุด 149 รายชื่อ, การันตีว่าผ่านการคัดเลือก สว. ระดับจังหวัด, การฮั้ว, การห้ามแนะนำตัวผู้สมัคร สว. เกิน 2 หน้ากระดาษ A4, ไม่สามารถเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัคร สว. ได้ จนเกิดการฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องสิทธิ และคาดว่าอาจจะมีคำร้องอีกมากมายที่เกิดขึ้น 

 

ทั้งนี้ หาก สว. ชุดใหม่ ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ สว. ชุดเก่า ก็จะยังคงอยู่เพื่อรักษาการ แม้ กกต. ในฐานะผู้จัดการเลือก ก็ยังยืนยันว่าวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ จะได้ สว. ชุดใหม่แน่นอน แต่อย่าลืมว่าอุบัติเหตุทางการเมืองมักเกิดขึ้นได้เสมอ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

5. การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 และกฎหมายประชามติ ในวันที่ 18-21 มิถุนายนนี้

 

เพราะงบประมาณคือหัวใจหลักในการบริหารประเทศ การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่เคลื่อนไหว นโยบายที่ไม่อาจขับเคลื่อนได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากงบประมาณที่ยังไม่ได้รับการพิจารณา หากมีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้ามาทำให้การเปิดประชุมสภาไม่สามารถพิจารณางบประมาณได้ การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปอย่างแน่นอน 

 

ขณะเดียวกันการพิจารณากฎหมายประชามติก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่ใช่เรื่องง่าย หากกฎหมายนี้ผ่านสภาไปได้ 

 

เพราะตั้งแต่อดีต วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เสถียรภาพทางการเมืองไทยก็ยังไม่เคยสงบ การรัฐประหารที่เวียนวนทุก 10 ปี สถานการณ์ล้มรัฐบาลผุดขึ้นมาทุกยุค ทุกสมัย 

 

เดือนมิถุนายน 2567 อุณหภูมิการเมืองที่เดือดพล่านนี้จะจบลงอย่างไร ฝ่ายไหนที่เพลี่ยงพล้ำจะหาหนทางแก้โจทย์เพื่อฟื้นกลับมาในรูปแบบใด ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X