×

นายกฯ ย้ำความมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เชื่อจะสำเร็จหากทุกส่วนร่วมมือ พร้อมกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

วันนี้ (6 ตุลาคม) ที่ SX Grand Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) 

 

โดยตอนหนึ่งระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนและทวีความรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับวิกฤตนี้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม การประชุมในวันนี้จึงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิด สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ และร่วมกันขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติ และหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันได้

 

การเข้าร่วมการประชุม UNGA78 ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระสำคัญ ซึ่งตนพูดคุยหารือร่วมกับผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงได้เน้นย้ำไปยังประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระหว่างการประชุมสุดยอด Climate Ambition Summit ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 38 ประเทศที่ได้รับเลือกให้นำเสนอแผนและพันธกรณี

 

เศรษฐากล่าวต่อว่า ไทยยืนยันว่ายังคงมุ่งมั่นจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 สอดคล้องกับเป้าหมายการพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ข้อตกลงปารีส นอกจากนี้ ไทยยังเพิ่มเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution) จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลได้นำเป้าหมายเหล่านี้บูรณาการในนโยบายที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย

 

ขณะเดียวกันรัฐบาลมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง รวมถึงการเตรียมยกเลิกผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหินภายในปี 2050 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านพลังงานได้ร้อยละ 15 พร้อมวางแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนผ่านโครงการ Utility Green Tariff สนับสนุนการใช้โซลาร์รูฟท็อป และการวัดแสงสุทธิ (Net Metering) รวมถึงสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

 

สำหรับภาคการเกษตร เศรษฐากล่าวว่าเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลนำร่องปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต รวมถึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ BCG ส่วนภาคป่าไม้ รัฐบาลมุ่งมั่นปกป้องป่าไม้และเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ครอบคลุมร้อยละ 55 ของพื้นที่ทั้งหมดภายในปี 2037 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120 ล้านตันต่อปี 

 

ส่วนภาคการเงินสีเขียว (Green Finance) ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม The Future of Finance Summit 2023 รัฐบาลส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนทั่วโลก ปัจจุบันสามารถระดมทุนได้ถึง 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนำไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ได้มากมาย โดยจะระดมทุนให้ได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งพัฒนาการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Green Taxonomy) เพื่อเป็นเครื่องกำหนดมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สามารถกำหนดนโยบาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในทุกมิติ

 

ตนยังเห็นถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในภาคการผลิตและบริการ เช่น การเตรียมการผลิตภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ในระยะแรก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ก่อนการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 

 

เศรษฐากล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านการผลิตและการบริโภค ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผลักดันให้ผ่านพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ เปลี่ยนแปลงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising