×

จับตาปฏิกิริยาเศรษฐา ทวีสิน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน

โดย THE STANDARD TEAM
14.08.2024
  • LOADING...

นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 ก้าวแรกที่เศรษฐา ทวีสิน เข้าปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมปณิธานว่า “จะทำงานไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย”

 

เศรษฐาเดินสายไปจนเกือบครบทุกพื้นที่ของประเทศ และเดินทางไปต่างประเทศเพื่อร่วมการประชุม ปฏิบัติภารกิจทำหน้าที่เซลส์แมนเกินกว่า 10 ประเทศ จนแทบได้รับฉายา ‘นิดสัญจร’ 344 วัน หรือเกือบ 1 ปี ในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี อาจดูราบเรียบ นโยบายทยอยออกมาเริ่มให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าการเมือง หนทางที่ปูด้วยกลีบกุหลาบย่อมต้องมีหนามแหลมแอบซ่อนอยู่เสมอ

 

ในห้วงเวลานับตั้งแต่ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ความกดดันทั้งจากคดี ทั้งจาก สว. ผู้ร้อง จากสื่อมวลชน และจากพรรคร่วมรัฐบาล นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้อง และมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้เศรษฐาจะมีท่าทีนิ่งเฉยเมื่อต้องตอบคำถามสื่อ แต่ก็ยอมรับว่ากังวลกับคดีนี้ไม่น้อย ที่ผ่านมาเศรษฐามีท่าทีรับมือกับคดีนี้อย่างไร THE STANDARD รวบรวมมาให้รับทราบ

 

เศรษฐา ทวีสิน รับโทรศัพท์ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 40 คนที่ร่วมลงชื่อถอดถอนนายกฯ ที่โรงแรม The Peninsula Tokyo ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567

 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย ภายหลังเศรษฐาผลักดันพิชิต จากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการปรับคณะรัฐมนตรีรอบ 2 หรือ ครม. เศรษฐา 1/1

 

เศรษฐายังคงมั่นใจว่าพิชิตมีคุณสมบัติเพียงพอ

 

30 เมษายน 2567 เศรษฐาระบุก่อนที่จะมีการเสนอชื่อ ก็ส่งรายชื่อให้ตรวจสอบโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ก็มั่นใจ

 

3 พฤษภาคม 2567 เศรษฐายืนยันว่า มีการตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรีทุกคนอยู่แล้ว และผ่านการตรวจสอบของกฤษฎีกาแล้ว

 

20 พฤษภาคม 2567 เศรษฐายอมรับว่ากังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นหน้าที่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งหมดให้ครบถ้วนและเหมาะสม ให้ถูกต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง มั่นใจว่าทำถูกต้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ

 

“ไม่เสียสมาธิหรอกครับ มาถึงตำแหน่งนี้แล้ว อยู่ในตำแหน่งนี้ ดูแลตรงนี้ แม้มีเรื่องกวนใจเยอะก็ต้องแยกแยะให้ถูก และต้องแบ่งเวลาให้เป็น ไม่เช่นนั้นก็อย่าเข้ามาดีกว่า”

 

เศรษฐา ทวีสิน นำประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขณะนั้นติดตามคณะเพื่อเข้าร่วมการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

 

21 พฤษภาคม 2567 พิชิตตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 23 วัน

 

23 พฤษภาคม 2567 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ 40 สว. ไว้พิจารณา ปรากฏภาพเศรษฐาหน้าตาเคร่งเครียดรับสายโทรศัพท์ที่โรงแรม The Peninsula Tokyo ประเทศญี่ปุ่น พร้อมระบุเพียงว่า น้อมรับมติศาลรัฐธรรมนูญ

 

24 พฤษภาคม 2567 เศรษฐาให้สัมภาษณ์หลังเดินทางถึงประเทศไทยจากภารกิจเยือนต่างประเทศว่า “ผมมองว่าเราเข้าสู่การเมืองแล้ว แบบที่ผมพูดเมื่อวานนี้​ ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่ตอบคำถามกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการอยู่แล้ว ถ้าเราทำแล้วเขาสงสัยก็เป็นหน้าที่เราที่จะต้องตอบ ผมมั่นใจเรื่องที่ทำมาว่าถูกต้อง แต่ไม่อยากจะพูดเยอะไป ต้องให้เกียรติกับศาลรัฐธรรมนูญด้วย ขอเตรียมข้อมูลก่อน”

 

แต่ยอมรับว่ากังวลทุกเรื่อง และโทรหาพิชิตเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณที่ท่านลาออก​และเห็นแก่ประเทศชาติ

 

26 พฤษภาคม 2567 เศรษฐายอมรับเดินทางไปพบ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับคดีที่บ้านพักของวิษณุ เชื่อมั่นว่าจะสามารถชี้แจงได้

 

30 พฤษภาคม 2567 เศรษฐาลงนามคำสั่งแต่งตั้ง วิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

 

เศรษฐา ทวีสิน นำประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567
ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา 

 

7 มิถุนายน 2567 เศรษฐาเปิดเผยว่า วิษณุตรวจคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ​ ปมตั้งพิชิตเสร็จแล้ว​

 

10 มิถุนายน 2567 เศรษฐายังไม่เปิดเผยแนวทางการต่อสู้ ขอสื่ออย่าถามเรื่องกังวลอีกเพราะกังวลตลอดเวลา

 

13 มิถุนายน 2567 เศรษฐานำประชุมปรึกษาทีมกฎหมาย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญขอให้มีการชี้แจงพยานหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม

 

14 มิถุนายน 2567 เศรษฐาส่งพยานเพิ่มเติมในการต่อสู้คดี ยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะชิงลาออกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดี และไม่มีการใช้วิธีพิสดารในการหนี

 

19 มิถุนายน 2567 เศรษฐาให้สัมภาษณ์ระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา มั่นใจส่งชื่อ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพียงคนเดียวชี้แจงไปตามข้อเท็จจริงได้

 

24 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาในวันที่ 14 สิงหาคม 2567

 

25 กรกฎาคม 2567 เศรษฐาขอบคุณหลายคนที่ให้กำลังใจ เชื่อว่าทำดีที่สุดแล้ว และเข้าใจว่าตอนนี้ส่งข้อมูลไปครบถ้วนทั้งหมดแล้ว และอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ก็ไม่อยากจะพูด

 

13 สิงหาคม 2567 เศรษฐาตอบคำถามสื่อมวลชน ถึงกรณีหากไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีแผนสำรองอย่างไรว่า “ตอนนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องแผนสำรอง”

ส่วนที่สื่อหลายสำนักนำเสนอว่าหน้าเศร้า เป็นธรรมดาเพราะคุณแม่เพิ่งเสีย ส่วนกาเซ็ตอัพตารางงานไปถึงสิ้นเดือน เพราะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน

 

เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่หาเสียงที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566

 

นายกฯ พรรคเพื่อไทยต้องคดีทุกราย?

 

วันนี้ (14 สิงหาคม) แม้ไม่อาจฟันธงได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยผลออกมาเป็นบวกหรือลบต่อตัวเศรษฐา แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหนีไม่พ้น ต้องโทษคดีทุกราย

 

นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งกรณีสั่งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. (ขณะนั้น) มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ

 

และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่คงต้องลุ้นว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เศรษฐาจะแก้อาถรรพ์นี้ให้กับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ เวลา 15.00 น. รู้ชัดแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X