×

‘เศรษฐา’ รับปากขุดขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาท บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

14.02.2024
  • LOADING...
พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • เศรษฐา ยันเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ดึงขุมทรัพย์ทางทะเล 20 ล้านล้านบาทมาใช้ประโยชน์ เผยถึงเวลาแล้วที่ต้องหารือให้สำเร็จในเร็ววัน 
  • ปลัดพลังงาน ลั่นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต้องเกิดในรัฐบาลชุดนี้ ระบุ ทิศทางการใช้ไฟฟ้าไทยเปลี่ยนแปลง และสูงขึ้นทุกเซ็กเตอร์ เช่น ภาคครัวเรือน และการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พุ่งเกือบ 5 เท่า 
  • ปตท. หนุนรัฐบาลนำโมเดลพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มาปรับใช้แหล่งก๊าซ OCA ไทย-กัมพูชา มองปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศ มีผลต่อทิศทางพลังงาน
  • ต้นทุนค่าไฟคู่แข่งเวียดนาม-อินโดนีเซียเหนือกว่า หวังรัฐบาลเจรจา OCA สำเร็จ สร้างแต้มต่อเพื่อนบ้าน

“ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จากการโรดโชว์พบนักลงทุนหลายบริษัทใหญ่ด้านดาต้าของโลก ไม่ว่าจะเป็น Google, Microsoft, Huawei และ AWS ต่างสะท้อนว่า หากจะย้ายฐานการผลิตมาไทย สิ่งแรกที่จะให้ความสำคัญคือราคาพลังงาน”   

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน’ ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.)  

 

เศรษฐาระบุอีกว่า ประเด็นค่าไฟยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรค และมักจะเป็นเรื่องที่มีกลไกอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งคงจะเมินเฉยต่อกลไกตลาดไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ประเมินค่าไม่ได้เช่นกัน 

 

อุ้มค่าไฟเสี่ยงเกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ

 

โดยเฉพาะการทุบราคาพลังงานลงโดยไม่สนใจกลไกตลาด จะยิ่งทำให้เกิดรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจได้ค่าไฟถูกลงเพียงไม่กี่วัน ที่จะต้องควักเอาเงินของประชาชนมาจ่าย การลงทุน การส่งออก การจ้างงาน ล้วนมีผลทางเศรษฐกิจที่อยู่ในใจของคนทั้งโลกไปนานนับปี ซึ่งเรื่องค่าไฟทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ควรพึ่งพากลไกสนับสนุนทางด้านภาษี หรือเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง

 

ดังนั้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานระยะยาว รัฐบาลจะต้องหาทางสนับสนุนพลังงานทางเลือก พัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีเสถียรภาพทางด้านการเงินที่มั่นคง พร้อมดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตได้ไม่ยาก   

 

หนึ่งในนั้นคือแผนการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Areas: OCA) ระหว่างไทยและกัมพูชา หลังจากหารือกับสมเด็จฯ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาแล้ว ก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองประเทศต้องเจรจาเพื่อพัฒนาขุมทรัพย์แห่งนี้ให้นำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเร็ว

 

โดยแยกประเด็นเขตแดนออกไป เนื่องจากเรื่องเขตแดนเป็นเรื่อง Sensitive (อ่อนไหว)

 

“หลายคนให้ความสนใจและบอกว่าเป็นขุมทรัพย์พลังงานใต้ท้องทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งในวันนี้บางท่านบอกว่ามีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ Handle with Care คือมีเรื่องของราคาพลังงานและเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ในวันนี้โลกจะมีความต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ความจำเป็นในการใช้ก๊าซธรรมชาติของทั้งสองประเทศก็ยังมีอยู่”

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ฉายภาพทิศทางพลังงานปี 2567 พบคนไทยใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี จากภาคครัวเรือนและการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

ประเสริฐกล่าวว่า “การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ถือเป็นความหวังของพลังงานไทย หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น”  

 

และหากทำสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ เนื่องจากการมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดหากจะให้มั่นคงต้องดูหลายปัจจัย 

  

ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคไฟฟ้าที่พบว่าอัตราการใช้ไฟทะลุ 2 แสนหน่วย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก รวมถึงการใช้ไฟฟ้าพีคเองก็แตะระดับสูงสุดกว่า 34,827 เมกะวัตต์ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

 

ดีมานด์ใช้ไฟฟ้าครัวเรือนเพิ่ม คนหันมาใช้ EV พุ่งสูง 5 เท่า  

 

น่าสนใจว่าการใช้ไฟพีคจากปกติที่ผู้คนมักใช้ไฟตอนกลางวัน แต่ช่วงพีคในวันนี้เป็นช่วง 3 ทุ่มกว่าๆ 

 

หมายความว่าแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนจากเดิม มีแต่จะมากขึ้นทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน 

 

ปัจจัยหลักๆ มาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ ณ วันนี้มีปริมาณสูงเกือบ 5 เท่าจากตัวเลขการจดทะเบียน 1 แสนคัน ซึ่งส่วนใหญ่จะชาร์จไฟฟ้าในเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังมีดีมานด์จากการติดแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เฉพาะในเวลากลางวัน ดังนั้นการใช้ไฟของ 3 การไฟฟ้า (กฟผ., กฟน., กฟภ.) จึงสูงทุกช่วงเวลา 

 

ยังไม่นับรวมการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์มีอัตราเพิ่มขึ้นมาก จากก่อนหน้านี้ยังไม่เป็นที่นิยม ปีละหลัก 100 กว่าราย แต่ปัจจุบันการยื่นขอติดตั้งเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 ราย และมีอัตราที่เพิ่มมากขึ้น  

 

โดยความมั่นคงด้านพลังงานเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกยุคต่างให้ความสำคัญ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับอนุญาตแหล่งก๊าซเอราวัณส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง จึงต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG แต่กลับเป็นจังหวะเดียวกับช่วงวิกฤตสงครามรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดตะวันออกกลาง ทำให้ราคาก๊าซตลาดโลกสูงเป็นประวัติการณ์  

 

รัฐบาลจึงพยายามเร่งกำลังแหล่งเอราวัณให้สามารถดึงก๊าซในอ่าวไทยให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 จะช่วยลดการนำเข้า เมื่อรวมกับพลังงานหมุนเวียนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไปแล้วกว่า 5 พันเมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้ามาในระบบ จะทำให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดมากขึ้น 

 

“แต่อนาคตทั่วโลกต่างต้องการพลังงานสะอาดทั้งการลงทุนและการค้า โดยสินค้าส่งออกไปต่างประเทศต้องผ่านกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับคาร์บอน หากภาคอุตสาหกรรมต้องการพลังงานสะอาดจะต้องจ่ายเงินที่สูงขึ้นเพื่อแลกกับใบรับรอง”

 

ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพลังงานชาติ โดยเฉพาะการปรับสัดส่วนพลังงานให้สมดุลและเพียงพอ เช่น ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป รวมไปถึงเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อนำทรัพยากรใกล้บ้านมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

จ่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนพลังงานชาติ ภายใต้ทางเลือกเพื่อรองรับ 7-8 สมมติฐานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งราคาไฟแพง ราคาก๊าซ รถ EV ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประชาพิจารณ์ และร่วมถอดบทเรียนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่เคยมีปัญหาให้สามารถปรับใช้กับไทยได้

 

ส่วนประเด็นที่เวียดนามและอินโดนีเซียราคาค่าไฟถูกกว่าประเทศไทย ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ประเทศใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งเวียดนามมีพลังงานน้ำ แต่ต้องแลกกับปัญหาด้านความมั่นคง 

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีแต้มต่อเรื่องของความสมดุลและเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตราว 2,900 เมกะวัตต์ 

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. เสนอรัฐบาล นำโมเดลพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มาปรับใช้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งสองฝ่าย

 

ปตท. แนะรัฐบาลใช้โมเดลมาเลเซีย เจรจาแหล่ง OCA   

 

ด้าน อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มองว่า กรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas: OCA) รัฐบาลสามารถนำโมเดลพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) มาปรับใช้ เนื่องจากเรื่องการแบ่งดินแดนนั้นไม่น่าจะสรุปได้ในเร็ววัน แต่หากมาหารือกันเรื่องของทรัพยากรที่อยู่ใต้ท้องทะเลก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก อีกทั้งประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อน

 

หากอนาคตการเจรจาสำเร็จก็สามารถขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย 

 

“โมเดลที่จะนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ได้นั้นก็เพื่อการพัฒนาและเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายกัมพูชาสามารถมาลงทุนกับไทยได้ 50:50 แต่ต้องยอมรับว่าโมเดลทางด้านธุรกิจนั้นไม่ยาก แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ” 

 

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ภาคพลังงานเผชิญความท้าทายหลายปัจจัย จึงส่งผลให้ราคาพลังงานในปี 2567 มีแนวโน้ม ‘ลดลง’ โดยราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน  

 

ด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดการปะทุความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาอีก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศในแหล่งผลิตหลัก และการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานล้วนมีผลทั้งสิ้น

 

เพราะต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้า 

 

อรรถพลเสริมอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าร่วมประชุมใน World Economic Forum (ดาวอส 2024) ในบางช่วงบางตอนที่ประชุมมีการตั้งโหวตความคิดเห็นในประเด็นปัจจัยเสี่ยง พบว่าระยะสั้น 2 ปี กลุ่มผู้นำกังวลเรื่องของเทคโนโลยีและการบิดเบือนข้อมูล การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งาน รองลงมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือผลโหวตระยะยาวช่วง 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่กังวลคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบมายังเรื่องพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนคือลดการใช้ถ่านหินลง และในปี 2030 การใช้น้ำมันก็จะเริ่มลดลง ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน

 

เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นพระเอก

 

อนาคตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งหากมีหน่วยงานเข้ามาอุดหนุนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นโครงการต้นแบบประเทศไทยก็จะสามารถก้าวได้ทัน 

 

“ปตท. มองว่าไฮโดรเจนกับการคมนาคมหรือยานยนต์นั้นอาจพัฒนาได้ยาก เนื่องจากตอนนี้เสียงยังถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่เห็นด้วยและเร่งพัฒนาใช้ไฮโดรเจนกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่ยังมองเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาไม่เหมือนกัน”

 

ขณะที่ไฮโดรเจนกับภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเทคนิคทำได้ทั้งหมด กลุ่ม ปตท. เองก็มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนกับประเทศโอมาน เพื่อพัฒนากรีนไฮโดรเจนเป็นที่เรียบร้อย

 

พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ประธาน ส.อ.ท. สะท้อนขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมลดลง เหตุต้นทุนค่าไฟเวียดนาม-อินโดนีเซียถูกกว่าไทยเกือบ 3 เท่า

 

ต้นทุนพลังงานเวียดนาม-อินโดนีเซียเหนือกว่า หวังเจรจา OCA สำเร็จ ช่วยลดค่าไฟ

 

ท้ายสุด เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ปัจจุบันต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 2.67 บาทต่อหน่วย และอินโดนีเซีย 2.52 บาทต่อหน่วย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นคู่แข่งทางการค้าในอุตสาหกรรม ทำให้การแข่งขันของไทยลดลง จึงอยากเห็นค่าไฟฟ้าของไทยในระยะต่อไปอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง

 

ส.อ.ท. จึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยมีการพัฒนาแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) เข้ามาเพื่อทำให้ต้นทุนลดลงได้ทันที

 

ขณะเดียวกัน ต้องเดินหน้าพลังงานสะอาดที่ไทยมีความได้เปรียบ ควรเดินหน้าควบคู่ดึงการลงทุนใหม่ๆ และขอให้รัฐบาลเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% จากรถยนต์ไฟฟ้า ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้ง่ายขึ้น ส.อ.ท. จะตั้งหน่วยงาน Energy Transition เพื่อนำไปสู่ Green Industry Transition เพื่อเป็นความยั่งยืนแบบแท้จริงในการดึงดูดการลงทุน 

 

“เป้าหมายของไทย Net Zero ในปี 2065 เราอาจจะช้าแต่ก็ชัวร์กว่า แต่วันนี้เมื่อไทยพึ่งพาการส่งออก 60% อียูออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ CBAM นำร่อง 5 อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง อาจเป็นอุปสรรคอันท้าทาย แม้ยังไม่เก็บจริงแต่ไทยไม่ควรชะล่าใจ เพราะสหรัฐฯ แคนาดา แม้แต่จีนก็จะเริ่มตั้งกำแพงมาตรฐานนี้ตามมาอีกเช่นกัน”

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต, bgblue / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising