ไม่พลิกโผ! เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังครั้งแรกในรอบ 44 ปี สื่อนอกมอง สะท้อนความมุ่งมั่นพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อเข้าบริหารราชการแผ่นดิน วันที่ 2 กันยายน 2566 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นที่ยืนยันว่า เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ด้วยตนเอง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปีที่นายกรัฐมนตรีไทยดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าที่เคยนั่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง คือ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อช่วงปี 2522
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘กฤษฎา’ ปลัดคลัง ยื่นลาออกแล้ว หลังมีชื่อติดโผ รมช.คลัง
- ส่องโปรไฟล์ว่าที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ กับเก้าอี้ที่ใครก็อยากนั่ง นโยบายลดค่าไฟ-เปิดเสรีน้ำมัน ทำได้จริงแค่ไหน?
ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล
สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ก่อนหน้านี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าว ซึ่งถามถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน
โดย ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ประเทศไทยต้องการเวลานี้คือ คนที่สามารถตัดสินใจได้ คนที่บริหารให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Execution) พร้อมระบุว่า ตนไม่กังวลเลยหาก เศรษฐา ทวีสิน จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย เนื่องจาก “เพื่อไทยมีคนที่เคยดูแลกระทรวงการคลังมาแล้วหลายคน มีทีมที่ปรึกษาหลายคน ผมไม่หนักใจเลย”
ส่องทีมรัฐมนตรีบริหารกระทรวงการคลัง
นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมี เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังอีก 2 ท่าน ได้แก่ กฤษฎา จีนะวิจารณะ และ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
กฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง โดยเพิ่งลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับกฤษฎาคาดว่าจะมาช่วยเศรษฐาขับเคลื่อนงานในกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีความเข้าใจในระบบราชการกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี
เนื่องจากก่อนนั่งตำแหน่งเจ้ากระทรวง กฤษฎาเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกระทรวงการคลังหลายตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมศุลกากร, อธิบดีกรมสรรพสามิต และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนต่างๆ เช่น บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
สำหรับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ Boston College (B.C.) สหรัฐอเมริกา เป็นบุตรชายของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และหลานของ พล.ต.อ. สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
ส่วนเส้นทางการเมืองของจุลพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งอดีตกรรมาธิการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลากหลายคณะ เช่น การเงิน, การคลัง, การธนาคารและสถาบันการเงิน, การพัฒนาเศรษฐกิจ และงบประมาณ ฯลฯ
อ้างอิง: