×

เศรษฐา​-แพทองธาร ประชุม​คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ​ นัดแรก​โชว์ 30 บาทรักษาทุกโรค​ประสบความสำเร็จมาแล้วกว่า​ 20 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา-แพทองธาร

วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก​ ทำเนียบรัฐบาล​ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก โดย แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงทบวงกรมที่มีหน่วยงานแพทย์พยาบาล เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

 

ซึ่งวาระวันนี้มีการหารือถึง 5 นโยบายเร่งด่วนเพื่อยกระดับ 30 บาท โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวรักษาได้ทุกที่ทุกเครือทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล, คลินิก, แล็บ และร้านขายยา นำร่อง 4 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดแพร่, เพชรบุรี, ร้อยเอ็ด และนราธิวาส

 

ส่วนการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานครจะนำร่องที่โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) และศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถีสองเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 2566

 

แพทองธารกล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมาเป็นระยะมากกว่าสองทศวรรษแล้วเริ่มตั้งแต่ปี 2544 โดยนโยบายดังกล่าวครอบคลุมไปถึงการจัดหาหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน เพิ่มการเข้าถึงทางการแพทย์และการลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพให้พี่น้องประชาชน

 

วันนี้จำเป็นต้องยกระดับโครงการดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตปัจจุบัน เพื่อเป็นการปูทางสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นของโครงสร้างระบบสาธารณสุขในทุกมิติ ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนเข้าถึงสิทธิ์การรักษาหลักประกันสุขภาพ แต่การกระจายจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เหมาะสม ขาดแคลนพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ระยะเวลาที่ต้องรอคอยทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ต้องใช้เวลาและเงินทองในการเดินทางเข้าตัวอำเภอ และอาจต้องรอคอยเป็นเวลานานเนื่องจากผู้ป่วยมารอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก

 

แพทองธารกล่าวต่อว่า ในขณะที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการการแพทย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน วินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และจัดการฐานข้อมูล การยกระดับประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะมุ่งเน้นแก้ไขเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการรอโดยผ่านการยื่นบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถรับการรักษาได้ทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชน รวมถึงคลินิกและร้านขายยาใกล้บ้าน

 

ซึ่งจะช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ หากเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงก็สามารถรักษาและจ่ายยาออนไลน์ได้ หากเป็นโรคที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ก็สามารถนัดเวลาล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ สำหรับพื้นที่ห่างไกลจะเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น

 

“ดิฉันมั่นใจว่าหากนโยบายนี้เสร็จสมบูรณ์ ประเทศไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต” แพทองธารกล่าว

 

เศรษฐากล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 5 ด้านนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนและการดำเนินการให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ

 

โดยให้แพทองธารเป็นประธานคณะกรรมการ และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อดำเนินการเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X