×

เศรษฐา​-แพทองธาร นำประชุม​ คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ นัดแรก​ โชว์แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หวัง​ 20 ล้านครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น​

โดย THE STANDARD TEAM
03.10.2023
  • LOADING...
เศรษฐา​-แพทองธาร

วันนี้ (3 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ตึกสันติไมตรี​ โดยมี แพ​ทองธาร​ ชินวัตร​ รองประธาน เดินคู่ลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อมายังตึกสันติไมตรี

 

​โดยนายกรัฐมนตรีสวมสูทลายผ้าขาวม้าสีสันสดใส ซึ่งออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวไทย​ พร้อมเปิดเผยว่า ตนชอบสีสดใสอยู่แล้ว ขณะที่แพทองธารได้นำผ้าขาวม้ามาผูกที่เอว เช่นเดียวกับคณะทำงานและรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ พร้อมระบุว่า ตื่นเต้น เพราะไม่ได้เข้าทำเนียบมาเป็น 17 ปีแล้ว 

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรี​นำประชุมพร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า​ การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน​ และผู้ทรงคุณวุฒิ​ เพื่อพิจารณาและการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์​ของประเทศไทยอย่างบูรณาการ รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์​ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นประเทศไทยในเวทีโลก

 

ปัจจุบันมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยหลายคณะและหลายนโยบาย โดยต้องมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟเวอร์แห่งชาติ​ มีเป้าหมายผ่านคอนเทนต์​ 11 อุตสาหกรรม​ซอฟต์พาวเวอร์

  

ด้านแพทองธาร​ระบุว่า​ การจัดทำนโยบาย OFOS (One Family One Soft Power) และการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่าง THACCA ( Thailand Creative Content Agency) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นนโยบายที่สร้างระบบนิเวศให้กับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งประเทศไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยแรงงานทักษะสูงอย่างสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ และในเชิงทูตวัฒนธรรม ไทยมีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรมเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

 

แพทองธารยังกล่าวอีกว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์จะถูกผลักดันไปพร้อมกับนโยบายอื่นๆ โดยนโยบาย OFOS และ THACCA จะมุ่งยกระดับทักษะของคนไทยจำนวน 20 ล้านคนให้เป็นแรงงานไทยที่มีทักษะสูง จากการคาดการณ์ หากเราทำนโยบายนี้ได้สำเร็จ อย่างน้อยจะมีรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานมากขึ้น 20 ล้านตำแหน่ง พร้อมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ  

 

  1. การพัฒนาคน โดยหาคนที่มีความฝัน และทำให้เป็นจริงได้ โดยไม่กำหนดอายุ 1 คน 1 ครอบครัว โดยตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ระดับตำบลถึงจังหวัด ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนในครอบครัว 1 คนได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงานให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ และเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะมีการมอบใบประกาศ รวมถึงทุนในการศึกษาต่อต่างประเทศ
  2. พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ ภายในประเทศ 11 สาขาคือ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ ออกแบบ แฟชั่น โดยต้องปรับแก้ระเบียบกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ รวดเร็วขึ้น และสร้าง One Stop Service อำนวยความสะดวกด้านเอกสาร อีกทั้งยังสนับสนุนทุนวิจัยและสร้างแรงจูงใจด้านภาษี 
  3. รุกตลาดโลก ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้กลายเป็นระดับสากล อาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ขณะเดียวกันจะผลักดันเทศกาลของคนไทยให้มีโอกาสไปร่วมงานระดับโลก 

 

แพทองธารกล่าวด้วยว่า หากเราดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เริ่มตั้งแต่วันนี้ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยระยะ 100 วันแรกคือ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะเปิดให้ลงทะเบียนตามความสนใจ และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวให้กับกรุงเทพมหานคร และภายในระยะเวลา 1 ปีจะบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงอย่างน้อย 1 ล้านคน พร้อมคาดหมายว่า พ.ร.บ. THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X