×

เศรษฐาหวังผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น Investment Destination ภูมิภาค ต้องมีบทบาทเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

07.12.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน ตลาดทุนไทย Investment Destination

เศรษฐา ทวีสิน คาด จะมี บลจ. ออกขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 22 กองทุน โดยจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีนักลงทุนได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าแสนบัญชี

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย ในพิธีเปิดงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2567 ว่า ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งสถานการณ์ความผันผวนของโลกและประเด็นความท้าทายด้านความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทย จะเห็นได้ว่ามีความแข็งแกร่งในระยะยาวและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังสูงที่สุดในอาเซียนเช่นเดียวกับสภาพคล่องนับตั้งแต่ปี 2555

 

นอกจากความโดดเด่นเหล่านี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบควบคู่กัน (Twin Transition) ต่อทั้งระบบตลาดทุน เศรษฐกิจโดยรวม และความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน หรือ ESG Economy ด้วย

 

สำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund เนื่องด้วยภาคเอกชนและภาครัฐของประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากลจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ภาครัฐเองก็มีพันธบัตรสีเขียว และในอนาคตจะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน 

 

Thailand ESG Fund มีเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

ดังนั้นภาครัฐจึงให้ความเห็นชอบ Thailand ESG Fund ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ระดมทุนไปทำสิ่งที่ดีกับสังคมและผู้มีเงินออมที่ได้ผลตอบแทนระยะยาวควบคู่กับการส่งเสริมด้าน ESG ของประเทศด้วย โดยข้อมูลเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. จำนวนกองทุน 22 กองทุน โดยจะสร้างเม็ดเงินระดมทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 1 แสนบัญชี และคาดว่าจะช่วยสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

 

ขณะที่โลกปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโดยรวม โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งการยกระดับช่องทางระดมทุนและการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก.ล.ต. จึงได้รับนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวนี้ 

 

โดยยกระดับพร้อมปรับโครงสร้างองค์กร มีการเน้นแผนยุทธศาสตร์และเพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ในระยะข้างหน้า 

 

ด้านรัฐบาลเองก็มุ่งส่งเสริมพัฒนาการด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจและการลงทุนของประชาชน จึงได้เห็นชอบในหลักการที่ลดอุปสรรคของการส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) ของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ความเหลื่อมล้ำของภาษี อันจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมกัน ลดภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฝั่งของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย (Issuer) รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่าน Investment Token เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยพื้นฐานดังกล่าว รัฐบาลมีแนวทางเพื่อเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความผันผวน อีกทั้งยังส่งเสริมโอกาสการเติบโต (Prospect) และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของทั้งตลาดทุนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมในระยะข้างหน้าต่อไป 

 

โดยแนวทางแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็น Investment Destination ของภูมิภาค ซึ่งจะนำมาซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มากขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งเน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งส่งเสริมความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้กับผู้ลงทุนและธุรกิจต่างประเทศ (Ease of Doing Business) นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย หรือการโรดโชว์ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

 

สำหรับแนวทางที่ 2 คือ การ Shift Focus สู่ความยั่งยืน โดยรัฐบาลจะดำเนินการและสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainability Development Goals) และเป้าหมายของประเทศไทยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดยรัฐบาลจะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจ

 

มีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Companies) และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุน เพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม 

 

ประเด็นที่ภาครัฐบาลจะดำเนินการผลักดัน 

 

  • การกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Market)
  • การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs (Financing for SDGs) และนโยบาย
  • การจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
  • กลไกการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) โดยได้ตั้งเป้าการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

ส่วนแนวทางที่ 3 คือ การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลและ SMEs / Start-up เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก 

 

สำหรับด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐ และเอกชน จะลงทุนร่วมกันในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

ในส่วน SMEs / Start-up ภาครัฐจะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือ SMEs / Start-up อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน ตลอดจนการเปิดตลาด ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากผนวกการดำเนินการของรัฐบาลในทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันแล้ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising