×

‘เศรษฐา’ นัด ‘เศรษฐพุฒิ’ ถกเศรษฐกิจ 2 ต.ค. นี้ หลัง กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี

29.09.2023
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. ประจำปี 2566 ว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอนัดหารือกับตนเองในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคมนี้ แต่ยังไม่ทราบว่าต้องการพูดคุยในประเด็นอะไร ซึ่งส่วนตัวก็พร้อมพูดคุยในทุกประเด็น 

 

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวรายงานว่าสาเหตุที่นายกฯ ต้องการพูดคุยกับผู้ว่า ธปท. เกิดจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 กันยายน) ซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ

 

ในงานดังกล่าวสื่อมวลชนได้ขอให้ผู้ว่า ธปท. ชี้แจงถึงสาเหตุและความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด โดยผู้ว่า ธปท. ได้อธิบายว่า การพิจารณาดอกเบี้ยหรือดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะพิจารณาให้มีความเหมาะสมกับภาพเศรษฐกิจในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพ การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน และการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินให้สมดุล

 

“หลายคนถามว่าเราปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลง เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ ทำไมยังขึ้นดอกเบี้ย ต้องบอกว่าเราให้น้ำหนักกับโจทย์เศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า การปรับลด GDP ปีนี้เป็นผลมาจากตัวเลขในไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นข้อมูลเก่า ส่วนเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน เรามีมุมมองว่าในระยะข้างหน้ามันยังมีความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น เอลนีโญ ราคาน้ำมันโลก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันของไทยถือเป็นระดับที่มีความสมดุลและเป็นกลาง หรือเรียกได้ว่าเป็น Neutral Rate ซึ่งเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยเกิดขึ้นกับ 3 ปัจจัยที่ ธปท. ให้ความสำคัญ เชื่อว่าดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

ผู้ว่า ธปท. ยังระบุด้วยว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินบาท เพราะการดูแลค่าเงินไม่ใช่เป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงิน แต่ยอมรับว่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีผลทางอ้อมต่อเงินเฟ้อเช่นกัน ทำให้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องพิจารณาเช่นกัน

 

เศรษฐพุฒิยอมรับว่า ในช่วงหลังมานี้เงินบาทมีความผันผวนมากกว่าปกติและสูงกว่าภูมิภาค แต่หลักๆ เกิดจากการดำเนินนโยบายของ Fed ที่ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า การมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) กับเงินหยวนสูง และความนิยมซื้อขายทองคำของคนไทยเอง

 

“นับจากต้นปีมีเงินไหลออกสุทธิจากตลาดหุ้นและบอนด์ไทยไปแล้ว 8.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสวนทางกับในหลายประเทศที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยเฉพาะตัวของไทย เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ และล่าสุดแม้ว่าเราจะมีรัฐบาลแล้ว แต่นักลงทุนก็ยังตั้งข้อสังเกตถึงความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจมีผลต่อเสถียรภาพระยะยาว” ผู้ว่า ธปท. กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising