วันนี้ (1 กันยายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, มนพร เจริญศรี สส. นครพนม พรรคเพื่อไทย, ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม, ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, ไผ่ ลิกค์ สส. กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและภาคการประมงที่ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งสิริไพโรจน์ จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีชาวประมงจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหากว่า 200 คน
สำหรับประเด็นสำคัญมาจากกรณีที่สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) โดยให้ใบเหลืองประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2558 ปัจจุบันได้ปลดใบเหลืองประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ในช่วงของการดำเนินการตามสหภาพยุโรป ประเทศไทยได้ออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไข สร้างผลกระทบให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก โดยชาวประมงได้เสนอประเด็นปัญหาหลายด้าน เช่น
- ขอให้แก้ไขการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเรือประมง ติดขัดกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีประกาศการเข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลา (Overstay)
- ขอให้อำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการขออนุญาตการใช้แรงงานต่างด้าว มีหน่วยงานที่รับผิดชอบมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหายุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
- ขอให้แก้ไขกฎหมายการประมงที่กำหนดโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ในขั้นตอนการลำเลียงสัตว์น้ำ ต้องมีการแสดงเอกสารรายชื่อแรงงานที่ลงเรือ หากมีรายชื่อแรงงานผิดคนเดียวจะถูกปรับไม่ต่ำกว่าแสนบาทถึงนับล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ
- ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาการประมง
- ขอให้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับเรือประมง (วิทยุขาวดำ) ซึ่งไม่มีความจำเป็น
เศรษฐากล่าวว่า วันนี้ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งในบทบาทใหม่ เพื่อเข้ามารับฟังปัญหา มีผู้ที่รู้จริง ทำจริง เข้ามาเตรียมพร้อมการทำงานร่วมกัน วันนี้ได้เห็นถึงความยากลำบากของพี่น้องประชาชน ขอให้พี่น้องชาวประมงมั่นใจว่าคณะทำงานที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลจะเดินหน้าทำงานเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงทุกคน นับตั้งแต่ที่ตนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เรื่องแรกที่เร่งดำเนินการคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เรื่องที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการในต้นสัปดาห์นี้คือการแก้ไขหนี้สิน และในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ 3 คือการทำการประมง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด โดยก่อนออกกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามกฎ IUU Fishing ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ทะเลคิดเป็นมูลค่า 350,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 150,000 ล้านบาทต่อปี
ในเบื้องต้น ปลอดประสพและคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยจะเริ่มศึกษาการปลดล็อกปัญหาด้านแรงงานเฉพาะกลุ่มการประมงก่อน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยมีแนวคิดจะทำ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องชาวประมง งานเอกสารที่ยังเป็นกระดาษอยากให้ใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อจะได้สะดวกขึ้น หากประเด็นใดที่อยู่ในอำนาจนายกรัฐมนตรี จะสามารถตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อทำงานได้โดยเร็วและทันท่วงที เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้จะทำก่อน อาจทำไม่ได้ในคราวเดียวทั้งหมด เพราะยังมีเรื่องกฎกระทรวง กรม ที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมงที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ฝาก ร.อ. ธรรมนัส ซึ่งมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือเต็มที่
มีปัญหาใหญ่มากมาย ต้องแก้ไขให้ทันเวลา
ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการบังคับติดตั้งวิทยุขาวดำบนเรือ ซึ่งไม่มีความสำคัญ อาจพิจารณายกเลิก รวมถึงจะขอเปิดการเจรจาระหว่างประเทศกับอินโดนีเซียในการเปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย เนื่องจากอินโดนีเซียมีทรัพยากร ส่วนไทยมีความรู้ความสามารถในการทำการประมง หากจัดสรรกันอย่างลงตัวจะเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยมี นลินี ทวีสิน และ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ประสานงานการเจรจาระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมงที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ฝาก ร.อ. ธรรมนัสดูแลรับผิดชอบ ส่วนที่ผู้ประกอบการมีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรงที่ต้องทยอยปรับขึ้น ย้ำว่าการขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหลัก ต้องระมัดระวัง แต่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการให้ความสำคัญในการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะภาค SMEs ต้องหารือร่วมกันหลายฝ่ายและทำทันที ส่วนจะเกิดประสิทธิผลเมื่อไร อย่างไร ต้องทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เราเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วม ต้องประสานความร่วมมือกัน
“8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ประมงไทยต้องหยุดชะงัก ติดหล่ม ไม่อยากโทษใคร แม้ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ประมงได้ 350,000 ล้านบาท ตอนนี้นำเข้า 150,000 ล้านบาท ผ่านมากี่ปีสูญเสียเงินไปเท่าไร ซึ่งเราต้องไปแก้ไขกัน เดินหน้าดีกว่า อย่ามองปัญหาเก่า ขอให้พี่น้องมั่นใจในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดใหม่ เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เราเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคนมีความเป็นห่วงต่อประชาชนและมีความเป็นห่วงประเทศ” เศรษฐากล่าว
สำหรับผู้ประกอบการเรือประมงที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ ได้แก่
มงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, ชินชัย สถิรยากร เลขาธิการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย