วันนี้ (7 กรกฎาคม) เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมงานเสวนา ‘แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม’ ถึงกรณีขั้วรัฐบาลปัจจุบันออกมาแสดงความคิดเห็นว่าหากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกแล้วไม่ผ่าน ในการโหวตครั้งถัดไปควรให้โอกาสพรรคการเมืองอันดับ 2 เสนอชื่อ ไม่ควรเสนอชื่อเดิมซ้ำ เพราะไม่ใช่การเลือกหัวหน้าห้องว่าเลยเวลาเลือกหัวหน้าห้องมานานมากแล้ว ตอนนั้นเลือกตั้งแต่เด็กๆ จำไม่ได้ว่าเลือกกันยังไง แต่เชื่อว่าต้องดูที่ตัวเลข ความจริงก็ควรให้โอกาสเขาในการโหวตครั้งที่ 2
ส่วนจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่นั้นเศรษฐากล่าวว่า ตามที่ได้คุยกับพรรคก้าวไกล รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็คาดว่าจะได้ 376 เสียง
ส่วนที่กระแสข่าวว่ามีการซื้อเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แลกโหวตให้พิธานั้น เศรษฐาบอกว่าเรื่องนี้ตัวเองไม่ทราบ เพราะเรื่องการซื้อเสียงเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ควรใช้เหตุผลในการคุยกันมากกว่า พร้อมระบุว่าเรื่องนี้สำคัญ และเป็นเรื่องของประเทศชาติ ประชาชนได้พูดแล้วว่าอยากได้ฝ่ายไหนมาจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อถามว่าเงื่อนไขหลักของสมาชิกวุฒิสภาในประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 จะเป็นข้ออ้างในการโหวตเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เศรษฐาบอกว่า ส.ว. หลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าไม่เกิน 10 คน จาก 250 คน ซึ่งอาจมีพลังเงียบ ที่เห็นกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่หวังว่าจะร่วมกันได้ด้วยดี
ส่วนการที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมองว่าแม้แต่ในร่าง MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ยังไม่มีเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 และเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไม่ลดเพดานเรื่องนี้ลงเพื่อผลักดันให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เศรษฐาระบุว่า เรื่องนี้ต้องไปถามพรรคก้าวไกล เพราะเป็นคนเขียนเรื่องนี้มา เราเป็นพรรคอันดับ 2
เมื่อถามถึงการจัดตั้งรัฐบาลหากล่าช้าจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปด้วยหรือไม่ เศรษฐาย้ำว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ตัวเองชี้นำมานานแล้ว นักการเมืองอย่างเราลืมไปว่ามาทำกิจกรรมการเมืองเพื่ออะไร เรามาทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน 2 เดือนที่มีการเลือกตั้งไป ผลออกมาชัดเจนและคณะกรรมการการเลือกต้ัง (กกต.) ก็รับรองแล้ว แต่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีมันก็ลำบาก จะบริหารจัดการประเทศอย่างไร
ถ้ามีการเลือกนายกรัฐมนตรีได้เร็วๆ และฟอร์มรัฐบาลได้ภายในต้นเดือนสิงหาคม กว่าจะใช้งบประมาณของปี 2567 ได้ก็กลางเดือนมีนาคมเลย ตัวเองจึงอยากวิงวอนให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี อย่างพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาต่างๆ หากได้เข้าร่วมรัฐบาลจริงตามที่พูดกันไว้เราจะได้ดำเนินการได้เลย ซึ่งเป็นความหวังที่เรามองไว้
ส่วนผลกระทบต่อภาคการลงทุนนั้น เศรษฐากล่าวว่า ตอนนี้เรายืนอยู่บนปากเหว ตัวเลขส่งออกติดลบ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 90 การลงทุนจากต่างประเทศก็ชะงัก เพราะไม่แน่ใจในทิศทางของรัฐบาลใหม่ และอีก 3 เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัญหาเรื่องวีซ่า เรื่องโลจิสติกส์ และเรื่องการบริหารจัดการสายการบิน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดูแล
ส่วนการแบ่งโควตากระทรวงต่างๆ ในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เศรษฐากล่าวว่า ยังอยู่ในการพูดคุย แต่จากที่ได้ยินมาก็น่าจะลงตัวกันหมดแล้ว ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในคณะทำงานที่ถกกันเรื่องนี้ ตามความเข้าใจของตัวเองคงเป็นตามที่สื่อเสนอ
ส่วนกระแสข่าว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันจะเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนนี้ตัวเองไม่ทราบข่าว แต่ทักษิณก็ยืนยันหลายครั้งแล้วว่าหากกลับมาก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน ไม่กระทบเรื่องของพรรค จะเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ส่วนจะทำให้ทิศทางการเมืองเปลี่ยนหรือไม่นั้นทักษิณย้ำแล้วว่าการกลับมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคและการจัดตั้งรัฐบาล การบริหารจัดการประเทศ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกัน
เศรษฐายังย้ำด้วยว่าเราเลือกตั้งเสร็จแล้ว เลือกตั้งจบแล้ว เราก็อยากให้การโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้เป็นไปได้ด้วยดี ก่อนยืนยันพรรคเพื่อไทยไม่แตกแถว สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย