×

โลกจับกระแสความสัมพันธ์ปักกิ่ง-วอชิงตันในโต๊ะประชุมมิวนิก จากรอยร้าวกรณีบอลลูน

21.02.2023
  • LOADING...

ประเด็นบอลลูนจีนลอยเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง แม้จีนจะยืนยันหนักแน่นว่าเป็นบอลลูนจากฝั่งพลเรือน ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และใช้ในงานอุตุนิยมวิทยาและงานวิจัยเท่านั้นก็ตาม แต่ฝั่งสหรัฐฯ ก็ยืนยันในมุมมองตนเองถึงเรื่องอธิปไตยและแรงกดดันทางการเมืองในอเมริกาเองที่ทำให้จำเป็นต้องยิงบอลลูนนั้นทิ้ง ตามมาด้วยเรื่องราวของวัตถุปริศนาเหนือน่านฟ้าของอเมริกา แคนาดา และแม้กระทั่งจีนเอง ที่ยังคลุมเครือว่ามาจากไหน และเป็นอะไรกันแน่



ห้วงเวลาที่เกิดข้อพิพาทบอลลูนเป็นช่วงที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งผลจากบอลลูนจีนทำให้บลิงเคนประกาศเลื่อนการเยือนออกไปอย่างไม่มีกำหนด 

 

ถึงแม้กระทรวงการต่างประเทศของจีนจะออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ว่า จีนไม่เคยยืนยันอย่างเป็นทางการถึงกำหนดการเยือนของบลิงเคน แต่เมื่อเราย้อนดูการรายงานของสื่อทางการจีน รวมถึงการแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์บอลลูนนั้น จะพบว่าจีนเองก็รับรู้ว่าบลิงเคนจะเดินทางเยือนจีน

 

ความสัมพันธ์จีนและสหรัฐฯ จะตึงเครียดหรือแย่ลงถึงขั้นแตกหักจากเหตุการณ์บอลลูนหรือไม่? เป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างจับตามอง ซึ่งสำหรับผู้เขียนเองนั้นมองว่า ไม่ถึงขั้นทำให้แตกหักจนสองฝ่ายจะไม่เจรจาหรือหาทางพัฒนาความสัมพันธ์กันเลย

 

แน่นอนว่าเหตุการณ์บอลลูนนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดและสร้างความไม่พอใจ โดยเฉพาะจากคนในชาติของทั้งสองประเทศ รวมถึงชาติพันธมิตร และสะท้อนความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่ายที่อาจลดลงเป็นศูนย์ด้วยซ้ำ หากยังไม่สามารถจัดการความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ตามที่ Global Times สื่อกระบอกเสียงของทางการจีน ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาท่าทีของทั้งสองฝ่ายจะพบว่า ในความแข็งกร้าว ทั้งคู่ก็ยังคงเปิดช่องในการเจรจากันอยู่ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เลือกที่จะ ‘เลื่อนการเยือนจีนอย่างไม่มีกำหนด’ แทนที่จะ ‘ยกเลิก’ ไปเลย ในขณะที่ด้านการทูต ตลอดจนสื่อของทั้งสองฝ่ายต่างยังมีการนำเสนอข้อมูลและการสื่อสารที่มีแนวโน้ม ‘มองหาความร่วมมือ’ โดยจีนย้ำมาตลอดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ควรเป็นไปในแนวทางร่วมมือกันแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทำเพื่อโลก ไม่ใช่การเผชิญหน้าแบบ Zero-Sum Game ที่ต้องมีผลแพ้ชนะ หรือเมื่อฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งต้องเสีย

 

ในที่ประชุมความมั่นคงมิวนิก หวังอี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ถือเป็นผู้กุมบังเหียนด้านต่างประเทศของจีน ได้หารือนอกรอบการประชุมกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยฝั่งจีนรายงานผลการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นไปตามคำขอจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร สำหรับการรายงานแบบนี้ เนื่องจากในมุมของจีนนั้น จีนต้องการแสดงจุดยืนทั้งในประเทศตนเองและเวทีโลกว่าจีนไม่ใช่ผู้จุดประเด็นข้อพิพาทล่าสุด 

 

ในการหารือนอกรอบ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นบอลลูน สถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย และประเด็นไต้หวัน โดยแน่นอนว่าทั้งสองได้แสดงจุดยืนของประเทศตนเองตามที่ได้สื่อสารออกมาก่อนเจอหน้ากัน

 

โดยจีนก็ยังคงยืนยันว่า การยิงบอลลูนจีนของฝ่ายสหรัฐฯ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดหลักปฏิบัติ และหยิบยกประเด็นที่เคยมีบอลลูนของสหรัฐฯ ลอยเข้าน่านฟ้าจีนเช่นกัน พร้อมกับระบุว่า ทางสหรัฐฯ ก็ควรแสดงความจริงใจ และแก้ไขความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น

 

สำหรับประเด็นยูเครน-รัสเซียนั้น จีนเน้นย้ำว่าจีนสนับสนุนการเจรจาและการแก้ไขปัญหาด้วยสันติภาพ โดยมองว่าเป็นเรื่องภายในของสองประเทศ ดังนั้น ไม่ควรถูกกำหนดจากประเทศที่สาม ซึ่งในประเด็นนี้ หวังอี้ นักการทูตระดับสูงของจีน ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดกดดันจีนในเรื่องความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย หรือก็คือการบอกเป็นนัยว่า เป็นเรื่องภายในระหว่างประเทศของจีนและรัสเซียเช่นกัน

 

ส่วนประเด็นไต้หวัน จีนยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน และจีนเคยเน้นย้ำหลายครั้งว่าสหรัฐฯ ห้ามข้ามเส้นเรื่องนี้ ซึ่งการประชุมที่มิวนิก จีนก็ย้ำอีกครั้งผ่านหวังอี้ไปถึงบลิงเคนและรัฐบาลสหรัฐฯ

 

ส่วนฝั่งอเมริกา บลิงเคนได้แสดงจุดยืนประเด็นบอลลูนจีนเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ ว่าเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ รับไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดอธิปไตย และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่อเมริกา แต่มีการอ้างว่าบอลลูนของจีนได้ลอยเข้าน่านฟ้า 40 ประเทศใน 5 ทวีปด้วย โดยบลิงเคนกล่าวถึงความผิดหวังที่ทางกลาโหมของจีนปฏิเสธที่จะรับสายและหารือทางโทรศัพท์กับทางสหรัฐฯ ในประเด็นบอลลูน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการที่จะร่วมมือกัน พร้อมเน้นย้ำว่าจีนต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก

 

ในประเด็นยูเครน-รัสเซียนั้น บลิงเคนเตือนจีนถึงผลกระทบที่ร้ายแรงต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ หากจีนให้การช่วยเหลือใดๆ ก็ตามแก่รัสเซียในการทำสงครามต่อยูเครน โดยวอชิงตันกำลังกังวลเรื่องนี้อย่างมาก ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้คุยเรื่องนี้หลายครั้งต่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน 

 

ขณะที่ประเด็นไต้หวันนั้น บลิงเคนในนามรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันชัดเจนว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจีนเดียวที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน” แต่ย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวันด้วย

 

จากการพิจารณาประเด็นมุมมองของจีนและสหรัฐฯ ในทั้งสามประเด็นข้อพิพาท (บอลลูน ยูเครน-รัสเซีย และไต้หวัน) ตามที่ผู้เขียนได้สรุปไปข้างต้น สามารถวิเคราะห์ว่า การพบกันนอกรอบการประชุมความมั่นคงมิวนิกของสองผู้กุมบังเหียนกิจการต่างประเทศของจีนและสหรัฐฯ นั้น แม้ทั้งสองฝ่ายจะยืนยันในจุดยืนในแนวความคิดของตน แต่เราได้เห็นการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นละเอียดอ่อน นับเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดสัญญาณเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศ ที่แม้อาจจะไม่ได้ดีขึ้นทันตา แต่ก็ยังอยู่ในสถานะที่ ‘สามารถคุยได้ เจรจาได้’ 

 

ในการให้สัมภาษณ์กับ NBC ภายหลังการเจรจานอกรอบ บลิงเคนระบุว่า แม้จะไม่มีการกล่าวขอโทษจากหวังอี้ ตัวแทนของจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเจรจาอย่างตรงไปตรงมา เขายังแสดงความเห็นว่าควรมีการสื่อสารแบบเปิดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่โลกคาดหวังให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ จัดการความสัมพันธ์ของทั้งสอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มีโอกาสหารือในที่ประชุมที่มิวนิกครั้งนี้

 

แม้สองยักษ์ฟาดฟันกัน แต่ก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกรากในข้อพิพาทบอลลูนจีน-สหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์จีนเผยแพร่ข้อมูลการค้าทวิภาคี จีน-สหรัฐฯ ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 

 

การเผยข้อมูลดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่หวังอี้พบบลิงเคนนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด โดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจระหว่างสองมหาอำนาจโลกที่มีความเกื้อกูลกันอย่างมาก และย้ำว่าเศรษฐกิจและการค้าของสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งนี่ก็เป็นสัญญาณของฝ่ายจีนว่า “ประตูการเจรจายังเปิดอยู่” 

 

กล่าวโดยสรุป เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรในอนาคต จะมีข้อพิพาทหรือมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นแทรกอีกหรือไม่ แต่ถ้าเทียบกับกรณีของรัสเซียแล้ว เราจะเห็นว่าทั้งสองประเทศยังคงเปิดช่องทางและโอกาสที่จะพูดคุยเจรจากัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ได้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงหาทางแก้ไขและพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้เผยมาก่อนหน้านี้ ด้วยแนวทางพร้อมร่วมมือ แม้จะแข่งขันกัน แต่ไม่ใช่การเผชิญหน้าที่จะทำให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่

 

แฟ้มภาพ: Stefani Reynolds / POOL / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising