Wes Anderson กลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์สั้นความยาว 37 นาทีอย่าง The Wonderful Story of Henry Sugar ซึ่งดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ Roald Dahl ในชื่อ The Wonderful Story of Henry Sugar and Six More ที่ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นมากมาย แต่แก่นกลางของเรื่องจะวนเวียนอยู่กับชีวิตของ Henry Sugar (Benedict Cumberbatch) มหาเศรษฐีผู้ฝึกฝนทักษะการมองทะลุวัตถุ และทำนายอนาคตได้สำเร็จจากหนังสือที่เขาขโมยมาจากห้องสมุด
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Wes Anderson ดัดแปลงบทประพันธ์ของ Roald Dahl มาเป็นภาพยนตร์ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2009 เขาเคยนำ Fantastic Mr. Fox ซึ่งเป็นหนึ่งในบทประพันธ์ที่มาจากคอลเล็กชันปี 1977 มาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวในชื่อเดียวกัน
การหยิบเอาบทประพันธ์ของนักเขียนคนเดิมมาดัดแปลงอีกครั้งจึงมีความน่าสนใจว่า Wes Anderson จะเล่าเรื่องราวของมหาเศรษฐีคนนี้อย่างไรให้เข้ากับสไตล์อันจัดจ้านของเขาภายใต้กรอบระยะเวลาที่มีเพียงแค่ 37 นาที ซึ่งอาจไม่สามารถใส่รายละเอียดปลีกย่อยมากมายอย่างที่เขาเคยทำในภาพยนตร์ยาวของตัวเอง
แต่ก็นั่นแหละ ลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขากลับตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างน่าฉงน มันไม่ได้มีลูกเล่นที่ตื่นตาหรือต้องตีความมากมาย หากเทียบกับวิธีการเล่าเรื่องที่ผูกโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันของเขา แต่ที่พิเศษจริงๆ คือ เมื่อมันอยู่ในความยาวที่พอเหมาะพอควร Wes Anderson กลับพาเราไปอยู่ในมิติของภาพยนตร์ที่เหมือนกับการพลิกหน้ากระดาษหนังสือได้อย่างน่าสนใจ
เมื่อภาพยนตร์ไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องราวของมหาเศรษฐี Henry Sugar แต่กระโดดไปเล่าเรื่องของชายแก่คนหนึ่งที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกตาในการมองเห็นผ่านปากของ Dr. Chatterjee (Dev Patel) ซึ่งเป็นหมอที่ได้พบกับความพิเศษนี้เป็นคนแรก และหวังว่าจะนำมันมาใช้กับผู้ป่วยทั่วโลก
ต่อมาเรื่องราวของภาพยนตร์ก็เดินหน้าต่อไปที่ชีวิตของ Imdad Khan (Ben Kingsley) หรือก็คือชายแก่ที่ถูกกล่าวถึงไปข้างต้น โดยในส่วนนี้มันก็ค่อยๆ เผยให้เห็นว่า เขาทำอย่างไรถึงจะได้มาซึ่งความพิเศษ ก่อนที่จะตัดกลับไปที่เรื่องราวของ Henry Sugar ผู้ที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นอกจากการนำแนวทางการฝึกฝนเทคนิคนี้มาใช้เพื่อโกงไพ่และออกทัวร์คาสิโนทั่วโลก โดยที่ทั้งหมดเริ่มต้นและจบลงที่คำบรรยายของ Roald Dahl (Ralph Fiennes) ซึ่งเป็นคนบันทึกเรื่องราวชีวิตของมหาเศรษฐีคนนี้เอาไว้
การที่ตัวละครพรรณนาถึงเรื่องราวชีวิตกันแบบไฟแลบโดยที่ไม่แคร์ว่าคนดูจะตามทันหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าดึงดูดและท้าทายไหวพริบในเวลาเดียวกัน กระนั้น วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ดูเหมือนจะมีแค่ Wes Anderson เท่านั้นที่ทำได้เช่นกัน ส่วนสำคัญมาจากสไตล์งานที่โดดเด่นของเขามีความเข้ากับกลวิธีที่ให้ตัวละครหันมาเล่าเรื่องของตัวเองให้คนดูฟัง โดยใช้ภาษาแบบเดียวกับวรรณกรรมราวกับถอดบทภาพยนตร์มาจากหนังสือทุกตัวอักษร
นอกจากนี้ การเปลี่ยนฉากและแสงไปมาอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เคอะเขินว่าคนดูจะมองเป็นความผิดพลาดก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า ถ้ามันไปอยู่ในงานของคนอื่นที่ไม่ใช่ Wes Anderson เรื่องพวกนี้คงหนีไม่พ้นคำวิจารณ์แง่ลบเป็นแน่แท้ แต่เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในงานของเขามันกลับส่งให้เรื่องราวที่กำลังถูกบอกเล่านั้นมีมุมมองของภาพยนตร์ที่ผสมละครเวที และหนังสือภาพประกอบนิทานอยู่ในเรื่องเดียวกัน
ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามที่ว่า Wes Anderson กำลังตั้งใจจะทดลองอะไรบางอย่างในภาพยนตร์ของเขาอยู่หรือเปล่า? เพราะหากดูจากองค์ประกอบและวิธีการเล่าเรื่องเราอาจอนุมานได้ว่า ผู้กำกับคนนี้กำลังตามหาเทคนิคการเล่าเรื่องแบบใหม่ให้กับตัวเอง และไม่แน่บางทีสิ่งที่ได้จากการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจปรากฏอย่างเด่นชัดในภาพยนตร์เรื่องหน้าของเขา
ช่างเป็นเรื่องน่ายินดี หรือน่าอิจฉาผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ ที่ผู้กำกับชาวอเมริกันคนนี้มีนายทุนและนักแสดงมากมายที่พร้อมจะล่มหัวจมท้ายไปกับการทดลองของเขา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อมันออกมาเป็นภาพยนตร์ก็ล้วนเป็นกำไรของคนดูแทบทั้งสิ้น
สามารถรับชม The Wonderful Story of Henry Sugar ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่: https://youtu.be/4RdncisZ_QA