ตอนสุดท้ายของ ดาบพิฆาตอสูร ซีซัน 2 ใกล้จะมาถึงแล้วในอีกไม่ช้า และจากตอนที่ผ่านๆ มา ทั้งซีซัน 1 และ 2 ก็เผยให้เราเห็นถึง ‘ที่สุดของงานอนิเมะ’ ว่าสามารถทำออกมาได้สวยงามตระการตาขนาดไหน ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีปัจจุบันและทุนสร้างที่มากพอ ซึ่งหากเป็นคนทั่วไปก็อาจแค่รู้สึกว่าภาพสวย เนื้อเรื่องสนุก และดูมีความเป็นหนังมากกว่าอนิเมะรายวัน แต่หากมองลึกลงไปก็จะเห็นว่าอนิเมะในดวงใจของทุกคนเรื่องนี้มีความแตกต่างของภาพในทุกขั้นตอน ซึ่งต่างจากอนิเมะเรื่องอื่นๆ รวมถึงอนิเมะแนวต่อสู้ด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยสไตล์ที่ชัดเจน ฉากต่อสู้ที่ลื่นไหล และเอฟเฟกต์การปล่อยพลังต่างๆ ที่แสนเฟี้ยวฟ้าว
ตอนแรกของ ดาบพิฆาตอสูร ที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ การตัดเส้นที่มีความหนาบางไม่เท่ากันในแต่ละจุด ซึ่งอนิเมะส่วนใหญ่จะมีลายเส้นที่หนาเท่ากันหมด เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและเร็ว การทำให้เส้นมีความไม่เสมอกันนั้นจะต้องใช้การคำนวณจากนักวาดจึงใช้เวลานานขึ้นในการทำออกมาให้สำเร็จ แต่ความยากในส่วนนี้ก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่คุ้มค่า เพราะมันทำให้ทุกเฟรมดูเหมือนงานศิลปะชั้นดีที่ศิลปินตั้งใจวาด แทนที่จะเป็นแค่ภาพอนิเมะธรรมดาๆ อีกเรื่องหนึ่ง
และเมื่อเราดูไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราพบเจอต่อมาคือ ฉากต่อสู้ที่เอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยเห็นมาจากการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ทั้งความได้อรรถรสและไดนามิก เพราะถ้าสังเกตดูแล้วเราจะเห็นว่าในฉากต่อสู้ต่างๆ นั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Long Take’ ซึ่งก็คือเทคนิคการถ่ายทำที่ไม่ถูกคั่นจังหวะ เรียกว่าต่อการถ่าย 1 เทค ต้องใช้เวลาถ่ายนานกว่าปกติ ซึ่งฉากสู้อนิเมะทั่วไปมักจะตัดไปมาเพื่อโชว์มุมการต่อสู้ที่ต่างกัน ซึ่งอาจให้ความรู้สึกของการเป็นคนดูที่อยู่ห่างๆ แต่อนิเมะเรื่องนี้นำแอนิเมชันแบบสามมิติมาผสมผสานเข้าด้วยกัน กับเทคนิควาดสองมิติแบบดั้งเดิม ทำให้สามารถหมุนกล้องและทำเป็น Long Take ได้โดยที่ไม่ต้องคั่นไปคั่นมา ฟังดูสุดยอดไปเลยใช่ไหมล่ะ แต่การใช้สามมิติเข้ามาช่วยก็หมายถึงการที่ต้องมี 3D แอนิเมเตอร์มาทำให้ก่อนที่จะส่งให้ 2D ไปตัดเส้นทับอีกที การมีทีมงานที่เยอะขึ้นก็หมายถึงต้นทุนที่มากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ดาบพิฆาตอสูร หนึ่งตอนมีราคามากถึง 3 ล้านบาท
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์มากคือ เอฟเฟกต์การปล่อยพลังของตัวละคร ทั้งพลังนำ้ พลังไฟ พลังสายฟ้า และอีกหลายพลังที่ถูกทำขึ้นมาด้วย Visual Effects ในสไตล์ปกติ และสไตล์ศิลปะญี่ปุ่นโบราณที่เรียกว่า Ukiyo-e (อ่านว่า อูกิโยะ) ทำให้ฉากต่อสู้นั้นมีความเป็นศิลปะและมีรสชาติที่หลากหลายสำหรับตัวละครที่มีพลังต่างกัน
ความโหดขั้นสุดในทุกๆ มิติของ ดาบพิฆาตอสูร ทำให้คนหันไปสนใจตัวหนังสือมังงะมากขึ้น และต่อยอดความสำเร็จอื่นๆ ได้มากมาย จึงต้องยกเครดิตให้ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังของสตูดิโอ Ufotable ที่ทำสิ่งที่ล้ำไปกว่าที่อื่น แต่เทคนิคที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งมีหรือสูตรที่เพิ่งถูกค้นพบ ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่มีมานาน แต่มักใช้ในภาพยนตร์อนิเมะเข้าโรง แต่ด้วยความบ้าพลังและความใส่ใจในรายละเอียดของทีมงาน คือสิ่งที่สร้างความสวยงามและความน่าจดจำอย่างเหนือชั้นให้ ดาบพิฆาตอสูร เป็นอนิเมะที่เราแทบจะกะพริบตาระหว่างชมไม่ได้เลย
ภาพ: Netflix
อ้างอิง:
- https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2021-04-23/demon-slayer-kimetsu-no-yaiba-movie-mugen-train-anime-success-story
- https://animegalaxyofficial.com/demon-slayer-season-2-budget-for-the-making-of-single-episode-is-way-more-expensive/
- https://www.cbr.com/demon-slayer-studio-ufotable-history/
- https://www.animenewsnetwork.com/feature/2019-08-28/interview-demon-slayer-producer-yuma-takahashi/.149177
- https://www.youtube.com/watch?v=XYCZzHWa9zY