×

All The Beauty And The Bloodshed ศิลปะงอกงามภายใต้ความเจ็บปวดของชีวิต

26.09.2023
  • LOADING...

หากใครที่ติดตามแวดวงศิลปะ โดยเฉพาะวงการถ่ายภาพ ก็คงจะคุ้นเคยกับชื่อของ Nan Goldin ผู้ได้รับฉายาว่า ‘หัวขบถ’ ที่สุดคนหนึ่งในวงการเป็นอย่างดี ส่วนสาเหตุที่เธอได้รับฉายานั้นก็มาจากภาพถ่ายของเธอที่มักจะ ‘แหวก’ ขนบของวงการถ่ายภาพในยุค 80-90 ด้วยการถ่ายภาพพอร์เทรตของผู้คนโดยไร้ซึ่งการปรุงแต่งใดๆ ทำให้ภาพของเธอมีทั้งความดิบและสมจริงที่พร้อมจะทำลายกรอบความเชื่อของการถ่ายภาพที่ต้องเน้นไปทางสุนทรียศาสตร์

 

ที่สำคัญภาพถ่ายที่ว่ากลับไม่ได้มีแค่ผู้คนที่รายล้อมอยู่รอบตัว แต่มีเรื่องราวชีวิตของเธออยู่ในนั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีศิลปินคนไหนทำในยุคนั้น และด้วยการนำเสนอที่แปลกแยกไปจากชาวบ้าน จึงทำให้ภาพถ่ายของเธอมักโดนดูถูกดูแคลนจากศิลปินชายอยู่เสมอ 

 

แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันเรื่องราวชีวิตของผู้คนรวมทั้งตัวเธอที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านภาพถ่ายก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับตำราเรียนและผู้คนอีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Laura Poitras ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้

 

 

All The Beauty And The Bloodshed ก็คือสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องราวของช่างภาพหญิงคนนี้ ตั้งแต่ช่วงวัยเด็กที่เธอต้องอาศัยอยู่ในครอบครัว และถูกเลี้ยงดูโดยพี่สาวที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนแรงกดดันของพ่อแม่ได้ การถูกขับไล่ออกจากบ้านและโรงเรียน การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนศิลปินชาวเควียร์ การหลงใหลการถ่ายภาพที่เริ่มมาจากกล้องโพลารอยด์ที่ได้รับจากเพื่อนๆ การใช้ชีวิตอันโลดโผนที่ครั้งหนึ่งเป็นนักเต้น เป็นบาร์เทนเดอร์ และเป็นหญิงขายบริการ การเข้าสู่วงการศิลปะครั้งแรกด้วยข้อแลกเปลี่ยนที่สุดแสนจะเหลือเชื่อกับคนขับแท็กซี่ ไปจนถึงการจัดแสดงภาพถ่ายของคนรอบตัวจนเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น และในที่สุดมันก็ทำให้เธอกลายเป็นช่างภาพหัวขบถอย่างที่หลายคนรู้จักในทุกวันนี้

 

ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสภาวะทางการเมืองที่อยู่รายล้อมตัวเธอ อย่างการประท้วงบริษัทยาที่ขาย OxyContin ให้โรงพยาบาล โดยพวกเขาเผยว่ายาระงับอาการปวดที่ขายให้ไปนั้นไม่มีฤทธิ์ของสารเสพติด แต่ในความเป็นจริงยาที่ว่าสามารถเสพติดได้ ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาดนับแสนราย ซึ่งเธอเองก็เป็นหนึ่งในเหยื่อที่เคยติดยาตัวนี้ และเพราะตระกูล Sackler ที่เป็นเจ้าของบริษัทยา เป็นพวกมอบทุนให้กับบรรดาแกลเลอรี รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก เธอและเพื่อนๆ จึงก่อตั้งกลุ่ม P.A.I.N. ขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้สถานที่เหล่านั้นปฏิเสธเงินทุนของตระกูลนี้ พร้อมกับปลดชื่อพวกเขาออกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าในวงการศิลปะไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่ทำมาหากินบนความตายของมนุษย์

 

 

ภาพถ่ายของ Nan มักเป็นภาพที่ถ่ายชีวิตประจำวันของคนชายขอบที่ต้องหลบลี้หนีสายตาของบรรทัดฐานสังคม ใจความของมันคือ เผยให้เห็นถึงความจริงและแง่งามที่ไม่น่าอภิรมย์ของมนุษย์ ทว่าความงดงามที่อยู่ในภาพถ่ายเหล่านั้นมันออกมาจากสายตาพิเศษของเธอ ความคิด และมือที่คอยกดชัตเตอร์เพื่อจับจังหวะห้วงเวลาชีวิตของผู้คนที่อยู่ในภาพถ่าย 

 

กระนั้นห้วงเวลาที่ว่าก็สามารถเปลี่ยนความหมายไปตามความรู้สึกนึกคิดของเธอในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน นั่นจึงทำให้การเรียงลำดับภาพถ่ายของเธอสามารถสร้างมุมมองที่แปลกใหม่และน่าอัศจรรย์ของมนุษย์ให้แก่คนดูได้เสมอ เช่นเดียวกับ All The Beauty And The Bloodshed ที่เปรียบได้ดั่งสมุดภาพขนาดใหญ่ที่พาคนดูไปสำรวจถึงเรื่องราวของตัวเธอในอดีต และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

 

ความน่าสนใจคือ เมื่อภาพยนตร์เรียงลำดับไทม์ไลน์ชีวิตและการประท้วงเป็นเส้นขนานกัน มันก็ยิ่งเผยให้เห็นถึงตัวตนและเนื้อในความเป็นมาของเธอมากขึ้น แต่อีกด้านมันก็กลายเป็นการพาคนดูไปสำรวจความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์โลกศิลปะที่ยึดโยงอยู่กับการเมืองและทุนนิยมมาอย่างช้านาน ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะในแง่หนึ่งการเมืองก็คือเรื่องของศิลปะ และเรื่องของศิลปะก็เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยที่ทั้งสองอย่างนี้อาจมีทุนนิยมคอยหนุนหลังหรือครอบอยู่อีกทีหนึ่ง 

 

การกระทำและความหัวขบถของ Nan จึงกลายเป็นการตั้งคำถามกลับไปยังโลกของศิลปะว่า อะไรคือความงามที่แท้จริงของศิลปะภาพถ่ายระหว่าง ‘ความจริงของชีวิต’ กับ ‘การปรุงแต่งเพื่อความสวยงาม’ ในขณะเดียวกันการออกมาเรียกร้องของเธอก็เป็นการต่อต้านที่ศิลปินคนหนึ่งพอจะทำได้ในสนามของตัวเอง เพื่อให้ตระกูล Sackler ที่มีเครดิตในวงการศิลปะว่าเป็นผู้ที่คอยอุ้มชูวงการด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

 

ถึงอย่างนั้น กลไกการเล่าเรื่องที่น่าสนใจที่สุดกลับวนเวียนอยู่กับความเป็นมาในอดีตที่เต็มไปด้วยความรัก ความเจ็บปวด และความยากลำบาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเธองอกงามในแบบเดียวกับภาพถ่ายที่พูดถึงคนที่ถูกสังคมมองข้ามหรือไม่ให้การยอมรับ

 

 

ช่วงหนึ่งที่ภาพยนตร์พาไปติดตามคือ ตอนที่เธอกับเพื่อนๆ จัดงานแสดงในแกลเลอรีแห่งหนึ่ง โดยโฟกัสไปที่เรื่องของเอดส์ที่ในยุคนั้นสังคมยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งการจัดแสดงภาพถ่ายของเธอในตอนนั้นถึงขั้นที่ภัณฑารักษ์ทำจดหมายฟ้องไปยังกองทุนเพื่อศิลปะแห่งชาติที่สนับสนุนการจัดแสดง

 

นอกจากนี้ แคตตาล็อกนิทรรศการที่มีงานเขียนของ David Armstrong ที่เป็นเพื่อนสนิทของเธอก็กลายเป็นข่าว เนื่องจากวิธีการต่อสู้ที่ไม่มีความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ แต่ก็ตามชื่อแคตตาล็อกของงานแสดงชิ้นนั้นอย่าง ‘เราจะไม่หายไปเฉยๆ’ ในอีกทางการเปิดเผยภาพถ่ายของคนรักเพศเดียวกัน งานประติมากรรม ไปจนถึงภาพถ่ายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่นอนติดเตียง ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้สังคมหันมาใส่ใจผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงการรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง

 

ภาพของการเรียกร้องในวันนั้นจึงซ้อนทับการเรียกร้องในวันนี้ เมื่อเธอเลือกใช้กล้องเป็นอาวุธอีกครั้งเพื่อถามหาความยุติธรรมให้กับคนที่เสียชีวิตจากการใช้ยา OxyContin เกินขนาด โดยการทำให้ภาพของการต่อสู้ที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างดุเดือดแบบที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมอเมริกัน ถูกแปรเปลี่ยนกลายเป็นการเดินเข้าไปยังโถงกลางของพิพิธภัณฑ์พร้อมกับล้มตัวลงนอนราบกับพื้นที่เต็มไปด้วยกระปุกยาแทน นั่นก็เพราะ ณ ที่แห่งนี้ศิลปะและทุนนิยมเกื้อหนุนกัน ขณะเดียวกันทั้งสองอย่างนี้ก็ขัดง้างกัน แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การแสดงออกแบบนี้เป็นการที่ผู้อ่อนแอจะสามารถต่อกรกับผู้มีอำนาจได้ด้วยวิธีการคว่ำบาตรในโลกที่พวกเขามีทางชนะมากกว่าบนท้องถนน

 

 

อย่างไรก็ดี นอกจากการลำดับเรื่องให้สอดคล้องกับตัวซับเจกต์และเนื้อหาได้อย่างมีนัย หัวใจสำคัญของภาพยนตร์ที่ถูกบอกเล่าออกมาได้อย่างน่าประทับใจก็คือ การที่มันยังคงไว้ซึ่งตัวตนและจิตวิญญาณของมนุษย์ที่มีชื่อว่า Nan Goldin

 

ภาพยนตร์เลือกที่จะให้พื้นที่แก่เรื่องราวของเธอไม่ใช่แค่ในฐานะของนักเคลื่อนไหว แต่ให้พื้นที่แก่ความเป็นเฟมินิสม์และเควียร์ในตัวของเธอด้วย เพื่อทำให้คนดูเห็นว่าชีวิตที่เกิดจากความรักและความเจ็บปวดจากการสูญเสียมันเป็นอย่างไร เมื่อเธอต้องพบเจอทั้งการตายของพี่สาว การเลิกรากับคนรักที่เขาซ้อมเธอปางตาย แต่สิ่งที่เธอทำกลับเป็นการสื่อสารถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยภาษาเฉพาะตัวอย่างการหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายใบหน้าที่ฟกช้ำของตัวเอง หรือแม้แต่ความเจ็บปวดที่เกิดจากการสูญเสียเพื่อนให้กับโรคเอดส์และการใช้ยาเกินขนาด

 

ซึ่งประสบการณ์หวานอมขมกลืนทั้งหมดที่ผ่านมาต่างก็เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ Nan ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเพื่อนมนุษย์ แม้เธอจะเป็นศิลปินที่สามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาเหล่านั้นได้ก็ตาม

 

และการจ้องมองกลับไปยังความเจ็บปวดเองก็อาจทำให้เราเข้าใจถึงความงดงามที่แท้จริงของมนุษย์ก็เป็นได้

 

สามารถรับชม All The Beauty And The Bloodshed ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: https://youtu.be/ep5WBCQwtpc

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising