เรียกว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทุกคนต่างจับตามองตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย สำหรับ 4KINGS ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนอาชีวะยุค 90 ซึ่งกลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของผู้กำกับ พุฒิ-พุฒิพงษ์ นาคทอง
ด้วยองค์ประกอบหลายส่วนที่ถูกเผยออกมาในตัวอย่าง ล้วนถูกนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจและชวนติดตาม ทั้งพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะถูกหยิบมาบอกเล่าเป็นภาพยนตร์, ฉากหลังของเรื่องที่อยู่ในยุค 90, ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตาของเหล่าทัพนักแสดงนำ, งานโปรดักชันที่ดูสมจริงสมจัง ฯลฯ
แต่อีกด้านหนึ่ง หลังจากที่ตัวอย่างถูกปล่อยออกมาไม่นาน ก็มีผู้ชมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการหยิบนำเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ซึ่งมักจะถูกสังคมมองในแง่ร้ายมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อยู่เช่นกัน
ความน่าสนใจของ 4KINGS จึงไม่ใช่แค่องค์ประกอบอันโดดเด่นของภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเนื้อหาในหนังด้วยว่าจะนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนอาชีวะออกมาในรูปแบบไหน
สำหรับ 4KINGS พุฒิเคยถ่ายทำตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีความยาว 15 นาทีมาแล้วเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน หลังจากนั้นจึงได้รับการต่อยอดให้กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวในที่สุด
สำหรับเวอร์ชันภาพยนตร์ จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในปี 2538 เพื่อติดตามเรื่องราวของ บิลลี่ (จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) ดา (เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) และ รูแปง (ภูมิ รังษีธนานนท์) สามเพื่อนซี้จากอินทรที่ร่วมเป็นร่วมตายในการประจันหน้ากับสถาบันคู่อริมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น โอ๋ ประชาชล (นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต), มด ประชาชล (โจ๊ก-อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ), เอก บุรณพนธ์ (ทู-สิราษฎร์ อินทรโชติ) และ บ่าง กนก (แหลม-สมพล รุ่งพาณิชย์)
ควบคู่ไปกับการพาผู้ชมไปสำรวจปัญหาต่างๆ ที่แต่ละคนต้องเผชิญ ไล่ตั้งแต่ บิลลี่ ที่ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้านเพราะชอบต่อยตีกับคนอื่นเป็นประจำ และ ดา ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของแฟนสาว ฯลฯ
อย่างที่เรากล่าวไว้ในตอนต้นว่าความโดดเด่นของ 4KINGS ที่ชวนให้เรารู้สึกสนใจมากๆ คือองค์ประกอบต่างๆ ภายในเรื่อง ซึ่งเราคิดว่าผู้กำกับและทีมสร้างสามารถนำเสนอองค์ประกอบเหล่านั้นออกมาได้ค่อนข้างลงตัว
เริ่มต้นที่องค์ประกอบเล็กๆ อย่างการนำเสนอบรรยากาศของยุค 90 ทั้งบัตรจีบ, ตู้เพลง, โทรศัพท์บ้าน, เพจเจอร์, สมุดเพลง, เพลงยอดฮิตของวงหินเหล็กไฟ ไปจนถึงคำพูดติดปากและมุกตลกต่างๆ ที่คนในยุคนั้นต่างคุ้นเคยออกมาได้ครบถ้วน และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้เติบโตมาในยุค 90 ก็จะได้สัมผัสกับมนตร์เสน่ห์ของยุคแอนะล็อกที่ไม่ได้มีให้เห็นแล้วในยุคนี้
ไปจนถึงการพาเราเข้าไปสำรวจบรรยากาศของบ้านเมตตา เพื่อนำเสนอว่าเหล่านักเรียนอาชีวะยุค 90 ที่ต้องเข้าไปอยู่ภายในนั้น พวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง อาหารที่กินเป็นอย่างไร สังคมภายในนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงการลงโทษของผู้คุมที่ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างสมจริง
และหนึ่งในองค์ประกอบที่เราชื่นชอบมากที่สุด คือการออกแบบคาแรกเตอร์ของตัวละครทุกตัวที่มีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง ไม่มีใครโดดเด่นกว่าใคร ซึ่งเราต้องขอปรบมือให้กับนักแสดงทุกคนที่ถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของแต่ละตัวละครออกมาได้อย่างมีมิติ
เริ่มต้นที่ จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี นักร้องนำวง Taitosmith ในบทบาทของบิลลี่ ที่ถูกครอบครัวผลักไสไล่ส่งเพราะชอบสร้างเรื่องเดือดร้อนอยู่เสมอ, เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ในบทบาทของ ดา ที่รักและห่วงใยเพื่อนฝูงเหมือนเป็นครอบครัวของตัวเอง รวมถึง นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต และ โจ๊ก-อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ ในบทบาทของ โอ๋ และ มด ที่ถ่ายทอดความน่าเกรงขามและความไม่กลัวใครออกมาได้อย่างมีเสน่ห์
ส่วนนักแสดงที่เราชื่นชอบมากที่สุดและอยากกล่าวถึงเป็นการส่วนตัวคือ ภูมิ รังษีธนานนท์ ในบทบาทของ รูแปง ที่เรียกว่าเป็นตัวแย่งซีนประจำเรื่องก็คงจะไม่ผิดนัก ทั้งฝีปากและท่าทางยียวนกวนประสาท คำคมต่างๆ นานาที่ดูเหมือนจะมากเกินความพอดี แต่กลับลงตัวอย่างน่าประหลาด ไปจนถึงความใจกล้าบ้าบิ่นและความคมเข้มของเขาเมื่อต้องเผชิญกับคู่อริ ภูมิก็นำเสนอออกมาได้ดีไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าการแสดงของภูมิในบทบาทของรูแปง คือตัวละครที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างน่าจดจำ
เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ถูกนำเสนอออกมาได้อย่างลงตัว มันจึงยิ่งส่งผลให้แกนหลักสำคัญของภาพยนตร์ที่ผู้กำกับและทีมสร้างต้องการจะนำเสนอทรงพลังมากขึ้นเป็นเท่าตัว นั่นคือการพาผู้ชมไป ‘ทำความรู้จัก’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ เหล่านักเรียนอาชีวะยุค 90 ผ่านบริบทต่างๆ ที่พวกเขาต้องพบเจอ มากกว่าที่จะพาเราไปหาคำตอบว่าทำไมพวกเขาถึงตีกัน
ยกตัวอย่างเช่น เราจะได้เห็นว่าครอบครัวของบิลลี่เลือกที่จะกระทำกับตัวของบิลลี่อย่างไร แล้วมันส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของบิลลี่อย่างไร และสิ่งเหล่านี้มันส่งผลมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างบิลลี่กับดาและรูแปงอย่างไร
ขณะเดียวกัน ผู้กำกับอย่างพุฒิก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของเหล่านักเรียนอาชีวะเพียงแง่มุมเดียวเท่านั้น เพราะพุฒิยังนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นด้วยว่า การกระทำของทุกตัวละครภายในเรื่องมันส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนรอบข้างอย่างไร ผลของการกระทำเหล่านั้นมันส่งต่อความคิดและความรู้สึกของพวกเขาอย่างไร และพวกเขาจะจัดการแก้ไขและเรียนรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร
ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีเหตุผลที่หนักแน่นขนาดไหนมารองรับ การทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวะล้วนเป็นการสร้างความเดือดร้อนและบาดแผลทั้งกายและใจแก่คนรอบข้างอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
แต่ถ้าหากเราต้องการจะหาคำตอบจริงๆ ว่า ‘อะไร’ ที่ทำให้พวกเขาเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และ ‘ทำไม’ พวกเขาถึงรักเพื่อนพ้องและสถาบันมากขนาดนี้
การได้ลองเข้าไปสำรวจเรื่องราวในทุกแง่มุมของพวกเขาเพื่อ ‘ทำความเข้าใจ’ ก็ดูจะเป็นหนทางที่เหมาะสม ในการพาเราไปสู่ต้นตอของปัญหาและค้นหาวิธีการแก้ไขอย่างถูกต้อง มากกว่าการตัดสินพวกเขาเพียงแค่เปลือกนอก
และภาพยนตร์เรื่อง 4KINGS ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นั้น
4KINGS เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่