ตลอดช่วงระยะเวลาหลายสัปดาห์ เป็นช่วงที่ไม่ใช่แค่โลกทั้งใบที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่มั่นคง อันเป็นผลจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและไม่มีใครจะสามารถจับได้ไล่มันทัน
โลกกีฬาเองก็อยู่ในสภาวะอ่อนไหวไม่แตกต่างกันครับ และผลกระทบของมันเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
จากรายการที่ถูกเลื่อนหรือยกเลิกทางตะวันออก ณ เข็มนาฬิกาเดินไป รายการกีฬาในทางตะวันตกเองก็เริ่มได้รับผลกระทบด้วยแล้ว และจากการประเมินสถานการณ์แล้ว มีแนวโน้มที่สถานการณ์จะแย่ลงเรื่อยๆ ตามการผกผันของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส
สัปดาห์ที่แล้ว ฟุตบอลยูโรปา ลีก ในเกมระหว่างอินเตอร์ มิลานและลูโดโกเร็ตส์ ต้องแข่งขันภายในสนามปิด ไม่มีผู้ชมแม้แต่คนเดียว จากนั้นมีการประกาศให้กีฬาทุกประเภทในอิตาลี หากจะจัดการแข่งขัน ต้องทำไปโดยไม่มีผู้ชมจนถึงวันที่ 3 เมษายน หลังสถานการณ์ในอิตาลีเข้าขั้นใกล้วิกฤต
สัปดาห์นี้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเริ่มมีการพูดถึงการแข่งขันในสนามปิดเช่นเดียวกัน
แน่นอนครับ ผมเชื่อว่าทุกคน ‘เข้าใจ’ ในเหตุผลและความจำเป็น
แต่มันก็อดไม่ได้ที่จะมีคำถามเกิดขึ้น
หากการแข่งขันกีฬา ไม่ว่าจะเป็นประเภทอะไรก็ตาม จะดำเนินไปโดยไม่มีผู้ชมจริง เช่นนั้นมันจะยังเป็น ‘กีฬา’ ในแบบที่เรารู้จักกันอยู่ไหม
คุณค่าของมันจะยังหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน
ในเชิงของความรู้สึกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า การแข่งขันกีฬาที่ไร้คนดูนั้นไม่ต่างอะไรจากการที่ร่างกายมีเพียง ‘ชีวิต’ แต่ไร้ ‘ชีวา’ โดยสิ้นเชิง
เพราะเกมกีฬา ถึงจะเป็นเรื่องระหว่างนักกีฬา คนต่อคน ทีมต่อทีม โดยมีผลการแข่งขันเป็นหมุดหมายและปลายทาง แต่สิ่งที่มีความหมายไม่ได้น้อยไปกว่ากันคือ การมีส่วนร่วมของผู้ชมที่เข้ามาเป็นขวัญ กำลังใจ หรือต่อให้เป็นเสียงที่ก่นด่าให้นักกีฬาเดือดเล่น (เหมือนกรณีล่าสุดที่ เอริค ไดเออร์ มีเรื่องกับแฟนบอลสเปอร์ส)
มันทำให้การแข่งขันมีชีวิต
เสียงของกองเชียร์นั้นสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นในสนามได้ เหมือนในเกมยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกรอบรองชนะเลิศเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ที่ลิเวอร์พูลพลิกสถานการณ์กลับมาเอาชนะบาร์เซโลนาได้อย่างสุดมันที่แอนฟิลด์
หากวันนั้นไม่มีเหล่าเดอะ ค็อปแล้ว ลิเวอร์พูลจะกลับมาคว้าชัยชนะราวปาฏิหาริย์ได้ไหม
เช่นเดียวกับในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันรอบชิงชนะเลิศในฤดูกาลที่แล้ว หากไร้ซึ่งเสียงเชียร์จากผู้ชมแล้ว การแข่งขันระหว่าง โนวัค ยอโควิช และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ จะกลายเป็นการต่อสู้ในระดับ Epic อีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การแข่งขันได้ไหม
สายสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬาและกองเชียร์นั้นลึกซึ้ง พวกเขาต่างส่งพลังถึงกันและกันโดยไม่รู้ตัว
นักกีฬาสู้-กองเชียร์ฮึด นักกีฬาท้อ-กองเชียร์หงอย นักกีฬาถอดใจ-กองเชียร์ปลุกเร้า
พลังที่ถูกส่งถึงกันสะท้อนไปมา ทำให้การแข่งขันกีฬามีชีวิต
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่คิดเอาเองนะครับ มีการศึกษาถึงผลกระทบของกองเชียร์ที่มีต่อเกมการแข่งขันและนักกีฬาอย่างจริงจัง
ในปี 2014 University of Naples ได้ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบของกองเชียร์เจ้าบ้านที่มีต่อทีมและนักกีฬา โดยดูในเรื่องของจำนวนเกมที่มี 2 ทีม ที่ใช้สนามแข่งขันเดียวกัน ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเรื่องของการเป็นเจ้าบ้าน-ทีมเยือน
สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างคือ ‘จำนวนกองเชียร์’ ที่มีของทั้งสองทีมว่าจะทำให้เกิดความแตกต่างกันแค่ไหนในเกมลักษณะนี้ (เช่น โรมดาร์บี หรือมิลานดาร์บี ที่ใช้สนามแข่งแห่งเดียวกัน)
ผลปรากฏว่า ทีมไหนที่มีจำนวนแฟนบอลมากกว่า จะมีส่วนช่วยทำให้ทีมมีโอกาสได้ประตูมากกว่าถึง 0.45 ประตู
และแน่นอนครับว่า ย่อมมีผลถึงโอกาสในการคว้าชัยชนะที่มากกว่าด้วย
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่ทีมที่มีกองเชียร์มากกว่าจะได้รับ ‘ความเมตตา’ จากผู้ตัดสินสูงกว่าอีกทีม เพราะเสียงกองเชียร์ที่ดังกว่านั้นมีอิทธิพลต่อการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินด้วยเช่นกัน (แม้ว่าผู้ตัดสินจะไม่อยากยอมรับก็ตาม)
การแข่งขันกีฬาที่ไม่มีคนดู จึงเปรียบเหมือน ‘ฝันร้าย’ สำหรับคนรักกีฬา
การเตรียมตัวเตรียมใจนั้นแตกต่าง ความกดดันก็แตกต่าง ไม่มีอะไรที่เหมือนเดิมเลย
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พิเศษ เพราะโลกทั้งใบกำลังเผชิญกับสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน กับสิ่งที่รับมือได้ยาก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน
เมื่อคิดถึงจุดนี้ แม้วงการกีฬาจะต้องได้รับผลกระทบร้ายแรง ซึ่งการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมนั้นคงไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นแค่การเริ่มต้น เพราะมันอาจจะบานปลายไปถึงการสั่งระงับการแข่งขัน
ต่อให้จะเป็นรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลกอย่างกีฬาโอลิมปิก ที่ลงทุนลงแรงกันไปมากมายมหาศาลแค่ไหนก็ตาม
ไม่มีอะไรสำคัญกว่าชีวิต
ต่อให้ ‘จำใจ’ ก็ต้องเข้าใจในความ ‘จำเป็น’
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล