×

SportAccord กับ 5 สิ่งที่เราเรียนรู้จากการประชุมวงการกีฬาโลกครั้งแรกในประเทศไทย

24.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • SportAccord คือการประชุมสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 15-20 เมษายน 2561
  • THE STANDARD ลงพื้นที่การประชุมเพื่อค้นหาเรื่องราวที่น่าสนใจ และ ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากองค์กรกีฬาระดับโลก รวมถึงเข้าร่วมการเสวนาต่างๆ ถึงหนทางพัฒนากีฬาในแต่ละองค์กรและประเภท
  • กีฬาโต้คลื่น หนึ่งในกีฬาที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่โอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เตรียมเปิดเฟสติวัลระหว่างการแข่งขัน เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของกีฬาเต็มรูปแบบ
  • Mind Sport กีฬาทางปัญญากำลังจะถูกผลักดันเข้าสู่หลักสูตรการเรียนจีน เพื่อพัฒนาปัญญาควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาพผ่านกีฬาชนิดอื่นๆ

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นกับวงการกีฬามากมายทั่วโลก โดยเฉพาะการประชุมใหญ่สมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ‘SportAccord 2018’ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นแม่งานในครั้งนี้

 

ภาพรวมของการจัดงานนั้นหลายฝ่ายมุ่งเน้นไปที่การเปิดโอกาสให้ตัวแทนสหพันธ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเดินทางเยี่ยมประเทศไทยของ นายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ที่ทุกคนสนใจคือการผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่ชนิดกีฬาของการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก รวมถึงการผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Youth Olympic ซึ่งประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประเทศแรก ต่อด้วยอินเดีย

 

โดยโอกาสของทั้งมวยไทยและการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคาดว่าจะได้รับการพิจารณามากขึ้น หลังจากที่สหพันธ์และสมาคมได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุม SportAccord ในครั้งนี้

 

แต่ในทางกลับกัน จากการลงพื้นที่การประชุมตลอดหลายวัน THE STANDARD ได้เรียนรู้แง่คิดความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของวงการกีฬาโลกในภาคส่วนและประเทศต่างๆ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยทางเราได้สรุปการประชุมตลอด 5 วันออกเป็น 5 สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการประชุมครั้งนี้

 

กีฬาโต้คลื่น หรือ เซิร์ฟ (Surf) เตรียมนำประสบการณ์ใหม่สู่การแข่งขันโอลิมปิก 2020

 

Fernando Aguerre ประธานสหพันธ์กีฬาโต้คลื่นระหว่างการเสวนา Marketing Influencers ในการประชุม SportAccord

Photo: SportAccord

 

“ในบรรดาสหพันธ์และสมาคมต่างๆ ที่มา ผมว่าพวกคุณเจ๋งสุดแล้ว”

 

เป็นสิ่งที่นักข่าวจากสำนักข่าวกีฬาต่างประเทศพูดกับนาย Fernando Aguerre ประธานสหพันธ์กีฬาโต้คลื่น หรือ International Surfing Association (ISA) ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันกีฬาโต้คลื่นเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น

 

THE STANDARD ได้พบกับ Fernando ก่อนจะเข้าห้องสัมภาษณ์พิเศษกับสื่อต่างประเทศถึงความเคลื่อนไหวในการเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว เราจึงได้รับโอกาสพิเศษเป็นสื่อไทยเพียงที่เดียวที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

 

 

Fernando ได้กล่าวในห้องนั้นถึงการวางแผนเตรียมการต่างๆ ซึ่งเขาเผยว่ากีฬาโต้คลื่นจะนำประสบการณ์​ใหม่สู่การแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้อย่างแน่นอน

 

“สถานที่ได้มีการตกลงกันเมื่อปี 2017 ระหว่างโตเกียว คณะกรรมการโอลิมปิก และสหพันธ์กีฬาต่างๆ สถานที่ของเราอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 1 ชั่วโมง ที่คาบสมุทรชิบะ ซึ่งเป็นสถานที่ใช้สำหรับการแข่งขันโต้คลื่นมาเป็นเวลาหลายปี

 

“แผนของเราไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่จะมีบีชเฟสติวัล จะเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมของกีฬาโต้คลื่น จะมีการพูดถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ความเข้าใจทะเล และมีโยคะ ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับทะเล ดนตรีสด เพราะผมเชื่อว่าหลายคนคงทราบดีว่ามีศิลปินที่อยู่ในวงการเซิร์ฟอย่าง แจ็ค จอห์นสัน และเพิร์ลแจม มาร่วม

 

“เราต้องการจะโชว์วัฒนธรรมการโต้คลื่นทั้งหมด ไม่ใช่แค่การแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก และหวังว่าจะสร้างผลตอบรับที่ดี

 

“เหมือนที่เราเห็นในกีฬา Youth Olympics 2014 หรือ Nanjing Games ที่เมืองนานกิง ประเทศจีน หรือที่ บัวโนส ไอเรส อาร์เจนตินา ที่เราได้ทดลองจัดเฟสติวัล ซึ่งจุดประสงค์หลักของเราคือการเข้าถึงเยาวชนทั่วโลก

 

“สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือ การทำตามแผนของคณะกรรมการโอลิมปิกโตเกียวและสหพันธ์ต่างๆ เราเป็นสหพันธ์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้อะไรต่างๆ ทั้งการเดินทาง การนำเสนอวัฒนธรรมของกีฬาเรา”  

 

Mind Sport กีฬาทางปัญญากำลังจะถูกผลักดันเข้าสู่หลักสูตรการเรียนจีน

 

John Sun ประธานของสหพันธ์การ์ดเกมส์

Photo: SportAccord

 

SportAccord ครั้งนี้ นอกจากกีฬาที่เราคุ้นเคยอย่างฟุตบอล หรือกีฬาที่ต้องออกกำลังกายต่างๆ ภายในงานยังมีตัวแทนจากสหพันธ์กีฬาทางปัญญานานาชาติ International Mind Sports Association หรือ IMSA เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อลงนามเซ็นสัญญารับสหพันธ์การ์ดเกมส์ หรือ Federation of Card Games (FCG) ซึ่งมีสมาชิกถึง 42 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เข้ามาเป็นสมาชิกที่ 7 ของสหพันธ์อย่างเป็นทางการ  

 

John Sun ประธานของสหพันธ์การ์ดเกมส์เผยว่า ทางรัฐบาลจีนกำลังให้ความสนใจและให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนนอกจากมีความแข็งแรงในด้านของสุขภาพร่างกายด้วยกีฬาอื่นๆ แล้ว ยังต้องการส่งเสริมเยาวชนให้มีสมาธิความแข็งแกร่งในด้านของความคิดอีกด้วย

 

John Sun เชื่อว่าที่ผ่านมากีฬาอย่างฟุตบอลมีสื่อกลางเป็นลูกฟุตบอลที่ใช้ในการบริหารสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ในขณะที่การ์ดเกมมีตัวแทนเป็นไพ่ ซึ่งใช้ในการช่วยบริหารสมอง โดยส่วนของการ์ดเกมนั้นมีความพยายามที่จะตัดปัจจัยในเรื่องของโชคออกไป และส่งเสริมการใช้ฝีมือในการเล่นมากกว่า ซึ่งเมื่อตัดเรื่องของโชคออกไป สิ่งที่จะได้จากการเล่นคือการใช้ทักษะ ไหวพริบ และความจำจากการเล่นการ์ดเกม

 

นอกจากนี้ นาย José Damiani ผู้ก่อตั้งสหพันธ์กีฬาทางปัญญาชาวฝรั่งเศสได้เผยว่า กีฬาบริดจ์ หนึ่งในชนิดกีฬาที่อยู่ในสหพันธ์กีฬาทางปัญญา เป็นที่ชื่นชอบของ  ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นอย่างมาก

 

“กีฬาบริดจ์เป็นกีฬาที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเขาเคยกล่าวไว้ว่า วันใดที่ประชาชนชาวจีนเห็นเขาว่ายน้ำ แปลว่าเขาอยู่ในช่วงที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง และเมื่อพวกเขาเห็นผมเล่นบริดจ์ แสดงว่าสภาพจิตใจผมแข็งแรง”

 

Authentic กับการสร้างฐานแฟนกีฬาผ่าน Marketing Influencers

 

 

ข้ามจากความเคลื่อนไหวของสหพันธ์กีฬา มาถึงเครื่องมือการสื่อสารทางตลาดของแต่ละกีฬา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 มีการจัดการประชุมในหัวข้อ Marketing Influencers โดยเชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนของวงการกีฬา ตั้งแต่เจ้าหน้าที่การตลาด อดีตนักกีฬาโอลิมปิก ประธานสหพันธ์ เข้าร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างฐานแฟนคลับผ่านอินฟลูเอนเซอร์

 

หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นหัวข้อที่ครอบคลุมการตลาดในเกือบทุกอุตสาหกรรมที่ปรับตัวกับโลกออนไลน์ ที่ทำให้ผู้คนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ผ่านโซเชียลมีเดียได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเหมือนกับเทคโนโลยีทุกอย่าง คุณจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

บทสรุปในวันนั้น คีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือคำว่า Authentic ซึ่งในภาษาไทยสามารถแปลได้หลายความหมายตั้งแต่ ของแท้ น่าเชื่อถือ และตัวจริง ซึ่งทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่สมาคมกีฬาหรือสหพันธ์ต่างๆ ต้องคำนึงถึงเวลาที่เลือกใช้งานอินฟลูเอนเซอร์

 

Charmaine Crooks ประธานบริษัท NGU Consultants ที่ปรึกษาด้านการตลาดกีฬาเชื่อว่า สหพันธ์กีฬาควรใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ติดตามทั่วโลก

 

“ความไว้ใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสหพันธ์และนักกีฬา เราต้องการให้นักกีฬาจริงใจกับแฟนๆ และเคารพแฟนกีฬา เพราะพวกเขาคือคนที่สร้างพวกเรา”

 

ฝั่งของแบรนด์ Jean-Marc Pailhol หัวหน้าฝ่ายบริหารการตลาดและจัดจำหน่าย ของ Allianz SE การลงทุนกับกีฬาคือการลงทุนต่อความรู้สึกและนวัตกรรม

 

“เราพยายามที่จะสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สำหรับ Influencers Followers และสำหรับเราเอง หน้าที่ของอินฟลูเอนเซอร์คือการส่งต่อคอนเทนต์ พวกเขามีตำแหน่งนี้เพราะผู้คนไว้ใจพวกเขา และคุณภาพของคอนเทนต์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

 

ขณะที่มุมมองจากลีกการแข่งขันที่มีชื่อเสียงอย่างบาสเกตบอล NBA จากสหรัฐฯ วันนี้ มี Sheila Rasu รองประธานด้านการตลาดและการสื่อสารองค์กรมาในฐานะ ตัวแทนของ NBA เผยว่า ทางองค์กรเลือกใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘Micro-Influencers’ ในการเข้าถึงฐานแฟนๆ ที่กว้างขึ้น

 

“เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเราต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นธรรมชาติกับแบรนด์และแฟนๆ”

 

หนึ่งในตัวอย่างที่ Sheila หยิบยกขึ้นมาคือ สมมติว่าหากพวกเขาเลือกใช้นักกีฬาอย่าง เลอบรอน เจมส์ (LeBron James) ไปในประเทศที่ไม่นิยมบาสเกตบอลอาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุด แต่หากพวกเขาเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ในพื้นที่ที่มีความชื่นชอบกีฬาบาสเกตบอลอยู่แล้ว และมียอดผู้ติดตามในพื้นที่ จะให้ช่วยเพิ่มความนิยมและสื่อสารผ่านพวกเขาอาจได้ประโยชน์มากกว่า

 

แต่ประโยคที่เราได้ยินในการเสวนาครั้งนี้ และตอบโจทย์การเลือกใช้แผนการตลาดที่ดีที่สุดคือความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆ สิ่งที่เราต้องการสร้างไม่ใช่ตัวเลขยอดฟอลโลเวอร์หรือจำนวนไลก์ที่มหาศาล แต่เป็นฐานแฟนคลับที่ชื่นชอบคอนเทนต์ของพวกเรา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นโดย Andrew Parsons ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล หรือ IPC พูดถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ด้วยความ Authentic ไว้ว่า

 

“คุณไม่ต้องการฟอลโลเวอร์ คุณต้องการแฟนๆ และผู้บริโภค Authenticity คือสิ่งที่จะมีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง”

 

Engagement คือหัวใจของการเข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียลส์

 

 

“คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ต้องการคอนเทนต์ฟรี และมีสมาธิสั้น”

 

เป็นประโยคที่เราได้ยินภายในเสวนาการใช้สื่อเข้าถึงกลุ่นแฟนกีฬาที่มีชื่อว่ามิลเลนเนียลส์ หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1980-2000  

 

หลังจากงานเสวนาหัวข้อ Marketing Influencers แล้ว มาถึงการเข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียลส์ การออกแบบคอนเทนต์ที่นอกจากจะมีความ Authentic แล้ว พวกเขาต้องออกแบบคอนเทนต์ให้มีความตราตรึงใจของแฟนๆ

 

Motasem El Bawab ผู้บริหารฝ่ายดิจิทัลของสหพันธ์บาสเกตบอล หรือ FIBA เผยว่า “กลุ่มมิลเลนเนียลส์เป็นคนที่ให้ความสนใจกับอะไรบางอย่างในระยะเวลาที่สั้นมาก พวกเขาต้องการที่จะได้รับความเพลิดเพลินและบันเทิง และถ้าเว็บไซต์ไม่อัปเดตข้อมูลข่าวสารภายใน 2 วินาที คุณจะสูญเสียแฟนๆ และถ้าคอนเทนต์ไม่เจ๋งพอ คุณก็จะเสียแฟนๆ เช่นกัน

 

“เราพยายามสร้างคอนเทนต์แบบที่พวกเขาต้องการในเวลาที่พวกเขาต้องการรับชม ขึ้นอยู่กับพื้นที่ กลุ่มอายุ”

 

Motasem ยังได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในการผลิตคอนเทนต์ จากคนเขียนคอนเทนต์เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งหมายถึงการสื่อสารที่เพิ่มจากการอ่าน การฟัง การดู ไปสู่การเพิ่มกราฟิกเข้าไปในคลิป เพื่อช่วยสร้างความบันเทิงให้กับคอนเทนต์ของพวกเขามากขึ้น

 

“FIBA เราพัฒนาการผลิตคลิปสำหรับโซเชียลมีเดียจาก 3 คลิปต่อเกม เป็นเกมละ 700 คลิป”

 

มาถึงมุมมองจากกีฬาอย่างฮอกกี้ Nikki Symmons ผู้บริหารฝ่ายดิจิทัลของสหพันธ์ฮอกกี้โลก หรือ FIH ที่ยอมรับว่าความเปิดกว้างของโลกโซเชียลมีเดียช่วยให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อเองได้ แต่สิ่งสำคัญคือการเป็นสื่อต้องเข้าใจว่าแฟนกีฬาต้องการรับชมอะไรจากกีฬาของพวกคุณ

 

“คุณต้องหาว่าแฟนชื่นชอบอะไรในตัวกีฬาของคุณ เจาะลึกลงไปและนำมาใส่ในคอนเทนต์ของคุณ ร่วมมือกับกีฬาอื่นๆ เรียนรู้สิ่งที่พวกเขาทำ เราไม่ได้เห็นพวกเขาเป็นคู่แข่งเลย เราแค่พยายามจะช่วยกัน”

 

ในมุมของสำนักข่าว Jérôme Martin ผู้บริหารการตลาดกีฬา AFP เผยว่า ทางสำนักข่าวได้ปรับตัวเข้ากับกลุ่มเยาวชนด้วยโครงการ Junior Reporter ที่ทางสำนักข่าวจะส่งนักข่าวเยาวชนเหล่านี้ไปสู่มหกรรมกีฬาใหญ่เพื่อให้ได้ประสบการณ์ในพื้นที่จริง และทดลองนำเสนอในรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มเยาวชนมากขึ้น

 

“เรามีเยาวชนหลายคนที่เริ่มงานที่พย็องชัง เกาหลีใต้ โอลิมปิกฤดูหนาว 2018 และ ทุก 4 ปีรูปลักษณ์ของการนำเสนอก็จะเปลี่ยนไป เราต้องปรับวิธีการทำงาน และเราต้องเปลี่ยนวิธีการคิดของนักข่าวเรา”

 

คุณค่าของกีฬากับเป้าหมายที่ AISTS ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาด้าน Sport Management ต้องการส่งต่อให้กับคนในวงการ

 

 

ก่อนที่การประชุมจะจบลง หลังจากที่เราได้พูดคุยกับผู้คนในหลากหลายมุมมองจากหลากหลายวงการ ทำให้ยากที่จะทำความเข้าใจว่าผู้คนที่เดินทางมารวมกันจากทั่วโลกนี้มีเป้าหมายอย่างไรกับสิ่งที่เรียกว่ากีฬา

 

ระหว่างที่ THE STANDARD กำลังจะเดินออกจากการประชุมพร้อมกับความรู้ที่ได้รับจากการประชุม SportAccord เราก็หยุดที่บูธตัวแทนสถาบันการศึกษาด้านกีฬาที่เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ และได้นั่งพูดคุยกับ Dr.Claude Stricker Excutives Director ของ AISTS ศูนย์วิจัยเพื่อการศึกษาด้าน Sport Management ในโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

พร้อมกับคำถามว่า หากเราจะเดินเข้าสถาบันศึกษาของคุณในวันพรุ่งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณต้องการให้เราเข้าใจเกี่ยวกับกีฬาคืออะไร ซึ่งคำตอบที่ Dr.Cladude ได้ให้ก็น่าสนใจไม่แพ้กับข้อมูลต่างๆ ที่เราได้รับจากการประชุมครั้งนี้เลยทีเดียว

 

“กีฬาเป็นภาษาสากล และเป็นพื้นที่ที่สามารถนำเอาสังคมที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่การเมือง แต่ทั้งองค์กรต่างๆ คนอายุต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่นี้ได้ และใช้กีฬาเป็นสื่อกลางที่ทุกคนสามารถมารวมตัวกันได้

 

 

“เราต้องเปิดพื้นที่ให้คนเรียนรู้กันและกัน เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง และนี่คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอ ผมอยากให้รักษาแก่นของกีฬานี้ไว้ เหมือนดนตรี ศิลปะ ในกีฬาทุกคนสามารถหาทางของตัวเองได้

 

“ในโลกที่ทุกอย่างถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน กีฬาคือสิ่งที่ทำให้เรายังคงเป็นมนุษย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและยังคงเชื่อมโยงสู่โลกแห่งความจริง และไม่ได้ใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงที่เหมือน Matrix เข้าไปทุกวัน

 

 

“จงรักษาคุณค่าของกีฬา เพราะปัญหาที่เราพบในตอนนี้คือความแตกต่างของสังคม การต่อต้านการใช้สารกระตุ้น การตลาด การจัดการแข่งขันต่างๆ อาจทำให้เรามีความเข้าใจกีฬาที่แตกต่างออกไป แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องยึดกับแก่นของกีฬา”

 

 

Photo: SportAccord

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X