วันนี้ (5 มีนาคม) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กล่าวว่า จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการเงินการคลังสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย
พบว่าแหล่งงบประมาณหลักด้านสาธารณสุขในการรับมือการระบาดของโรคโควิดมาจากงบกลางและงบเงินกู้ กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิดระหว่างปี 2563-2565 รวมทั้งสิ้น 444,294 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโควิด เช่น ค่าตรวจคัดกรอง ค่ารักษาพยาบาล ค่าฉีดวัคซีน เป็นต้น ในสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 260,174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- การจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน รวม 77,987 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- ค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง 57,499 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- ส่วนที่เหลือเป็นค่ายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ และองค์กรการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานะเงินบำรุงของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถานะเงินบำรุงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่นเดียวกับภาพรวมของรายได้และอัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าเงินที่อุดหนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพียงพอในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด
ส่วนภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด พบว่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด พบว่ามีความเสี่ยงในการล้มละลายลดลงร้อยละ 30-33 อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลพยายามสร้างกลไกการตัดสินใจด้านการคลังสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิดให้แตกต่างจากสถานการณ์ปกติ แต่กฎระเบียบและวิธีการใช้เงินไม่ได้แตกต่างจากกลไกเดิมมากนัก ส่งผลต่อความรวดเร็วในการตอบสนองต่อการระบาดของโรค