×

รู้จักกฎ ‘Spending Cap’ ที่พรีเมียร์ลีกเตรียมโหวตวันนี้

29.04.2024
  • LOADING...
Spending Cap

พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023/24 เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายที่ยังคงสนุกตื่นเต้นกับการลุ้นทั้งแชมป์ โควตาไปสโมสรฟุตบอลยุโรป หรือลุ้นหนีตกชั้น

 

แต่ในวันนี้มีอีกเรื่องที่สโมสรทุกแห่งต้องลุ้นกัน เมื่อจะมีการประชุมวาระสำคัญเกี่ยวกับกฎใหม่ที่ถูกเสนอขึ้น เพื่อหวังจะทำให้การแข่งขันเปิดกว้างขึ้นในอนาคต ไม่ถูกสงวนไว้สำหรับสโมสรในระดับยักษ์ใหญ่แค่เพียงไม่กี่ทีม

 

กฎใหม่ที่ว่าคือ ‘Spending Cap’ หรือกฎเพดานการใช้จ่าย

 

ในการประชุมผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีกวันนี้มีวาระใหญ่ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมานาน แต่ยังไม่เคยมีการเสนอให้เกิดขึ้นจริงๆ มาก่อน

 

ปัญหาของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือความสามารถในการแข่งขันระหว่างสโมสรใหญ่กับสโมสรเล็กต่างกันมากเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มสโมสรที่มีรัฐหนุนหลังเช่น แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีอำนาจทางการเงินเหนือกว่าสโมสรอื่นที่เป็นองค์กรทั่วไปมาก

 

เช่นกันกับสโมสรในกลุ่มที่ได้ไปรายการอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งกำลังจะปรับรูปแบบใหม่และมีเงินรางวัลส่วนแบ่งให้เพิ่มขึ้นไปอีก

 

นั่นทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดความสำเร็จต่างๆ ไว้กับแค่สโมสรไม่กี่แห่งที่มีอำนาจทางการเงินเหนือกว่าสโมสรในระดับกลางและระดับเล็กที่มีโอกาสน้อยกว่า ทำให้เกิดการผลักดันหาทางที่จะควบคุมเรื่องนี้ให้เกิดความสมดุลและการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอีกครั้ง

 

ทางออกที่มีการเสนอกันคือการควบคุมการใช้จ่ายของทุกสโมสรไม่ให้เกินกว่าเพดานการใช้จ่ายที่กำหนดให้

 

แล้วเพดานที่ว่าเป็นอย่างไร?

 

 

‘Spending Cap’ ของพรีเมียร์ลีกที่มีการเสนอกันมีแนวทางคร่าวๆ ด้วยการเสนอให้สโมสรทุกแห่งใช้จ่ายทั้งเรื่องของเงินค่าตัวการย้ายทีมนักฟุตบอล เงินค่าเหนื่อยนักฟุตบอล และเงินส่วนแบ่งให้กับเอเจนต์ (ซึ่งปัจจุบันถือเป็นรายจ่ายสำคัญของสโมสร) ไม่ให้เกินไปกว่า 5 เท่าของสโมสรที่มีรายรับน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีก

 

เช่น ในฤดูกาล 2022/23 ทีมอันดับสุดท้ายของพรีเมียร์ลีกคือ เซาแธมป์ตัน ซึ่งได้รับเงินค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ 104 ล้านปอนด์

 

นั่นหมายถึงหากมีการกำหนด ‘เพดาน’ ว่าให้ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 6 เท่า แปลว่าสโมสรทุกแห่งจะใช้จ่ายได้ไม่เกิน 624 ล้านปอนด์ ซึ่งที่ตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขปลอดภัยสำหรับสโมสรใหญ่แม้แต่แมนฯ ซิตี้ เพราะหากรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเหนื่อย 423 ล้านปอนด์ ค่าเอเจนต์ 51.5 ล้านปอนด์ และค่าตัวซึ่งมีการแบ่งชำระ (Amortisation) อีก 145 ล้านปอนด์ ตัวเลขค่าใช้จ่าย (Spending) ของแมนฯ ซิตี้ยังอยู่ที่ 619.5 ล้านปอนด์เท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดชัดเจนถึงเพดานค่าใช้จ่ายว่าจะคำนวณกันอย่างไร รวมถึงอีกหลายเรื่องที่ยังคงต้องหารือตกลงร่วมกัน

 

  • เพดานจะสูงกว่ารายรับของทีมที่ได้น้อยที่สุดเท่าไร?
  • รายได้ที่นำมาเป็นฐานจะคำนวณรายรับทั้งหมดจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทั่วโลก (Overseas) หรือแค่เฉพาะในสหราชอาณาจักร (Domestic)
  • จะนำค่าใช้จ่ายอะไรมาใช้คำนวณในกฎนี้บ้าง เพราะมีการเสนอว่าควรจะใช้แค่ค่าเหนื่อยอย่างเดียว เพราะกังวลว่าจะมีสโมสรลักไก่หาช่องโหว่ในกฎมาใช้แหกกฎอีก

 

ทั้งนี้เชื่อว่ากฎนี้จะถูกต่อต้านจากสโมสรบางแห่ง เช่น แมนฯ ซิตี้ ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ขณะที่เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เจ้าของรายย่อยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกเป็นข่าวว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

 

 

เหตุผลของฝ่ายแรตคลิฟฟ์เกิดจากความกังวลว่าหากมีการควบคุมกันมากเกินไปจะทำให้สโมสรจากอังกฤษสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับสโมสรคู่แข่งในยุโรป เพราะตอนนี้มีกฎการเงินเพิ่มขึ้นมากมายจนชวนปวดหัวไปหมด เช่น Profit and Sustainability Rules (PSR) ซึ่งสร้างความปั่นป่วนอย่างมากในฤดูกาลนี้กับกรณีการตัดแต้มเอฟเวอร์ตัน และน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ รวมถึงกฎ Squad Cost Control ที่จำกัดไม่ให้สโมสรใช้จ่ายเกินกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของรายรับ

 

แต่สำหรับสโมสรในกลุ่มระดับกลางและระดับเล็ก นี่เป็นโอกาสสำหรับพวกเขาที่จะได้ลืมตาอ้าปากและต่อสู้กับสโมสรยักษ์ใหญ่ได้สูสีขึ้น เพียงแต่ทุกอย่างจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบที่สุด เพราะกฎนี้อาจเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอังกฤษได้เลย

 

สำหรับการโหวตเรื่องนี้จะมีขึ้นในการประชุมวันนี้ (29 เมษายน)

 

ส่วนเสียงที่ต้องการสำหรับการโหวตชนะในวาระนี้อยู่ที่ 14 เสียง หรือเกินกว่า 2 ใน 3

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X