เพราะเชื่อมาตลอดว่าการออกไปสาดน้ำ ประแป้ง เบียดเสียดกับผู้คนมากมาย ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะกับทุกคนในวันหยุดสงกรานต์ วันนี้ THE STANDARD เตรียมทางเลือกใหม่ให้กับคนที่อยากเก็บตัวอยู่เงียบๆ และใช้วันหยุดไปกับซีรีส์ดีๆ นั่งดูได้ยาวๆ แบบไม่ต้องออกไปเปียกที่ไหน แต่ก็สนุกได้ไม่แพ้กัน
A Series of Unfortunate Events (Season 2, 10 EP.)
ภาคต่อของซีรีส์แห่งความโชคร้าย บ้าบอ น่ารำคาญ แต่โคตรสนุก! กับชะตากรรมที่แสนรันทดของพี่น้องตระกูลโบดแลร์ ซีรีส์ของ Netflix ที่สร้างจากนิยาย A Series of Unfortunate Events (อยากให้โลกนี้ไม่มีโชคร้าย) ของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชาวอเมริกัน เลโมนี สนิกเก็ต
สรุปอย่างสั้นสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านฉบับนิยายหรือดูภาค 1 มาก่อน A Series of Unfortunate Events คือการพาไปดูชีวิตสามพี่น้องที่อยู่ๆ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ที่พ่อแม่หายตัวไปในกองเพลิงปริศนาในบ้านของตัวเอง และเค้าลางแห่งความโชคร้ายก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อชีวิตของเด็กทั้ง 3 คนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของมิสเตอร์โพ นายธนาคารผู้มีหน้าที่หาบ้านและผู้ปกครองคนใหม่ให้กับเด็กๆ โดยมีเคานต์โอลาฟ นักแสดงตกอับที่ตามรังควานและทำทุกวิถีทางเพื่อฮุบมรดกก้อนโตที่พ่อแม่ของเด็กๆ ทิ้งเอาไว้ให้
จุดเด่นอย่างแรกของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่ความน่ารักและเฉลียวฉลาดของพี่น้องทั้ง 3 คนที่ต้องใช้ความรู้และอุปกรณ์ทุกอย่างรอบตัวเพื่อเอาตัวรอดจากผู้ใหญ่ที่พร้อมจะยัดเยียดความโชคร้ายให้พวกเขาตลอดเวลา ตั้งแต่ไหวพริบของพี่สาวอย่าง ไวโอเล็ต ที่สามารถหยิบสิ่งของรอบตัวมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิต ความรู้รอบตัวจากนิสัยรักอ่านการของ เคลาส์ พี่ชายคนกลาง และซันนี่ น้องเล็กสุดที่มีความสามารถคือการ ‘แทะ’ ทุกอย่างที่ขวางหน้า และพร้อมที่จะขโมยซีนพี่ๆ อยู่เสมอ
อย่างที่สองเป็นภาคตรงข้ามของพี่น้องทั้งสามคือความ ‘เซ่อซ่า’ น่าหงุดหงิดของตัวละครผู้ใหญ่ทุกตัวในเรื่อง ทั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดซ้ำไปซ้ำมา การปลอมตัวห่วยๆ ที่ดันไม่มีใครดูออก (ยกเว้นเด็กๆ) ความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล การหมกมุ่นอยู่กับชื่อเสียง ฯลฯ ถ้ามองตามเนื่อเรื่อง ความบกพร่องเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องโชคร้ายให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหา แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้น นี่คือตลกร้ายสะท้อนภาพของผู้ใหญ่ในชีวิตจริงที่วางตัวอยู่เหนือเด็กๆ และคอยบงการทุกอย่างด้วยความคิดที่ว่าเป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ แล้วสิ่งที่ดีจะตามมา แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นความคิดเหล่านั้นเองที่ย้อนกลับมาทำให้เด็กๆ ไม่มีวันได้พบกับ ‘โชคดี’ เสียที
จุดเด่นอย่างที่สามคือการให้เวลากับการเล่าเรื่องในซีรีส์ด้วยจำนวน 2 ตอนต่อหนังสือ 1 เล่ม (ซีซันที่ 2 สร้างจากหนังสือเล่มที่ 5-9 จากทั้งหมด 13 เล่ม) ทำให้สามารถเก็บรายละเอียดตามหนังสือได้ค่อนข้างดี มีเวลาในการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือชุดนี้ได้เกือบครบ (บางจุดทำให้เราเข้าใจสัญลักษณ์บางอย่างในหนังสือมากขึ้นด้วย) ยิ่งถ้าเป็นแฟนหนังสือชุดนี้อยู่แล้วก็ไม่น่าผิดหวัง
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนทนดูได้ไม่จบก็คือไม่สามารถอดทนต่อความน่าหงุดหงิดของบรรดาตัวละครผู้ใหญ่ทุกตัวได้จริงๆ แต่เชื่อเถอะว่าถ้าสามารถผ่านจุดนั้นไปได้ ซีรีส์ A Series of Unfortunate Events ให้อะไรได้มากกว่า ‘ความโชคร้าย’ อยู่เยอะทีเดียว
Money Heist (Season 2, 9 EP.)
ใครที่มองหาซีรีส์แนวโจรกรรมระทึกขวัญสนุกๆ เดินเรื่องรวดเร็วฉับไว บีบหัวใจในทุกๆ นาที Money Heist ของ Netflix คือคำตอบที่ใกล้เคียงเรื่องนี้มากที่สุด อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือนึกภาพความฉลาดของแก๊งสุภาพบุรุษนักต้มตุ๋นในแฟรนไชส์หนัง Ocean ทั้ง 3 ภาค รวมกับความบีบคั้นในการปฏิบัติภารกิจที่มาพร้อมกับดราม่าข้นๆ ที่ทุกคนพร้อมที่จะ ‘รัก’ และ ‘แตกหัก’ กันได้ตลอดเวลาแบบที่ซีรีส์แหกคุกอย่าง Prison Break เคยทำเอาไว้ นั่นแหละคือส่วนผสมลงตัวที่รวมอยู่ใน Money Heist ทั้ง 2 ซีซัน
Money Heist เล่าเรื่องกลุ่มโจรที่นำโดยคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ศาสตราจารย์’ ที่รอบรู้และฉลาดเป็นกรด เขารวมตัวอาชญากรตัวเอ้ที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์เพื่อบุกปล้นโรงกษาปณ์ที่มีเงินกว่าหนึ่งพันล้านยูโรซ่อนอยู่ในนั้น โดยมีเงื่อนไขคือทุกคนต้องศึกษาและฝึกซ้อมแผนการร่วมกันนาน 5 เดือน ทุกคนต้องห้ามมีความสัมพันธ์กัน ห้ามรู้จักชื่อจริงกันและกัน และการโจรกรรมครั้งนี้ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
ใน 13 ตอนของซีซันแรกจะแบ่งออกเป็น 3 พาร์ตหลักๆ ตัดสลับกัน คือฝ่ายศาสตราจารย์ที่เป็นคนควบคุมแผนการจากด้านนอก ฝ่ายปฏิบัติการที่ต้องบุกเข้าไปในโรงกษาปณ์โดยมีตัวประกันอีก 67 คนที่ต้องใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรอง และฝ่ายตำรวจที่ต้องหยุดภารกิจครั้งนี้ให้ได้
นอกจากนี้ยังมีการให้เวลาเพื่อเล่าถึงแบ็กกราวด์ตัวละครสำคัญหลายๆ ตัว เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการกระทำและตัดสินใจทั้งหมด ซึ่งจุดนี้ทำได้ดีมากจนบางครั้งเราเกือบลืมเรื่องการปล้นไปเลย และนั่นคือเหตุผลหลักว่าทำไมซีซันแรกต้องมีจำนวนมากถึง 13 ตอน
แต่ละคนก็มีประเด็นขัดแย้งที่แตกต่างกัน แต่ประเด็นใหญ่ที่สุดของ Money Heist คือคอนเซปต์ที่วางเอาไว้ว่า ‘ความรักคือสิ่งที่ทำให้แผนการและทุกอย่างพังทลาย’ เราจะได้เห็นความรักของทั้งเพื่อนร่วมงาน ศัตรู กลุ่มโจร และตัวประกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และพังทลายสลับกับแผนการที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
สุดท้ายในซีซันแรกผู้สร้างก็ช่างใจร้ายกับคนดูด้วยการทิ้งภารกิจนั้นค้างไว้แค่การเจรจาต่อรองครั้งสำคัญระหว่างกลุ่มโจรกับตัวประกัน แล้วก็ตัดจบลงไปเฉยๆ ทำให้หลายคนที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นออกอาการหงุดหงิดกันเป็นแถบ แต่คราวนี้เราบอกข่าวดีให้สบายใจกันได้ว่าผลสรุปของภารกิจปล้นของกลุ่มโจรหน้ากากในชุดฮู้ดแดงครั้งนี้ได้จบสิ้นลงเป็นที่เรียบร้อย! (แต่จะมีครั้งต่อไปหรือเปล่า ต้องลุ้นกันต่อไป)
ในซีซัน 2 ปรับลดลงเหลือแค่ 9 ตอน เพราะได้เล่าแบ็กกราวด์หลายอย่างไปหมดแล้ว ทำให้เหลือแค่การหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างปฏิบัติภารกิจกันแบบจุใจ ไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ของปฏิบัติการ 128 ชั่วโมงของการปล้นจะออกมาถูกใจหลายคนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือภาคนี้ดำเนินเรื่องฉับไว บีบหัวใจ และมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นเยอะกว่าเดิมมากแน่นอน
Santa Clarita Diet (Season 2, 10 EP.)
แนะนำสำหรับคนที่ชอบดูซีรีส์คอเมดี้เบาๆ ผ่อนคลายสมองแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก Netflix ก็จัดให้ เรื่องราวว่าด้วยครอบครัวแสนสุขที่อยู่ดีๆ คุณแม่แสนสวยก็ติดเชื้อโรคที่ทำให้เธอกลายเป็นซอมบี้หน้าใสที่กินได้แต่เนื้อ ซึ่งสามีและลูกก็แสนดีที่เป็นธุระจัดการหา ‘อาหาร’ มาให้ และช่วยกันปกปิดความลับนี้ไว้เป็นอย่างดี
เนื้อเรื่องหลักๆ มีเท่านี้เลยจริงๆ แต่ความสนุกอยู่ที่ความวายป่วงที่เกิดขึ้นจากแผนการสวาปามคนที่เอาจริงๆ ก็ประหลาดไม่แพ้โรคที่คุณแม่เป็นเท่าไร รวมถึงมุกตลกหน้าตายที่บางอันก็อาจจะถึงขั้นเรียกได้ว่าหน้าด้าน (คำชม) ที่ดูแล้วคิดว่า เฮ้ย จะเล่นกันแบบนี้จริงๆ เหรอ บวกกับการครีเอตเมนูเนื้อสดเลือดสาดที่ดูแล้วสมจริง สะอิดสะเอียน แต่ก็ชวนขำไปพร้อมๆ กัน ทั้ง 10 ตอนจะแบ่งการออกอากาศสั้นๆ ประมาณ 30 นาที ทำให้ดูไปได้เรื่อยๆ ไม่กินพลังงานมากนัก และที่สำคัญ แค่ได้นั่งดูการกลับมารับบทนำอีกครั้งของ ดรูว์ แบร์รีมอร์ ก็คุ้มแล้ว
ในภาคแรก เนื้อเรื่องไปจบตรงที่การพยายามหาทางรักษาอาการป่วยของคุณแม่ แต่ดูเหมือนว่ามีแต่จะยิ่งหนักข้อขึ้นทุกวัน โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะรักษาได้ผลหรือเปล่า เพราะเราเองก็ยังไม่ได้ดูเหมือนกัน แต่วางแผนไว้แล้วว่าจะหาคำตอบนั้นในช่วงสงกรานต์นี้แน่นอน
Good Doctor (Season 1, 18 EP.)
Good Doctor ทีวีซีรีส์ของ ABC Studios ที่เพิ่งจบซีซันแรกไปหมาดๆ และกลายเป็นขวัญใจมหาชนชาวอเมริกัน ผลงานของ เดวิด ชอร์ ทีมสร้างเดียวกับ M.D. House ที่เคยโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน
จุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นซีรีส์รีเมกเวอร์ชันอเมริกา Good Doctor เป็นซีรีส์เกาหลีชื่อเดียวกันที่ออกอากาศในปี 2013 โดยสถานี KBS ซึ่งในขณะนั้นก็ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกมากมาย รวมทั้งได้รับรางวัล Best TV Drama จาก Baeksang Arts Awards
Good Doctor เล่าเรื่องราวของอัจฉริยะออทิสติกที่เพิ่งเรียนจบแพทย์ และมีความฝันจะเป็นศัลยแพทย์ประจำโรงพยาบาล ด้วยความที่เขาเป็นเด็กกำพร้าและมีภูมิหลังครอบครัวที่ไม่น่าจดจำนัก พี่ชายที่มีอยู่คนเดียวซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดก็เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เนื้อเรื่องค่อยๆ เผยปมชีวิตของเขาออกมาทีละน้อย พร้อมๆ กับปัจจุบันที่เขาเริ่มทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาล รวมทั้งการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มองว่าเขาไม่สามารถเป็นแพทย์ที่ดีได้ด้วยภาวะออทิสติกของเขา
ทั้งสองเวอร์ชันมีความดีงามไปคนละแบบ ทางฝั่งต้นฉบับเกาหลีเน้นไปที่เรื่องการใช้ชีวิตของนายแพทย์หนุ่มในฐานะกุมารแพทย์ เรื่องการเมืองในโรงพยาบาล ปมดราม่าของครอบครัว และความรักที่คนดูต้องลุ้นเอาใจช่วย ในขณะที่เวอร์ชันอเมริกาปรับให้เขาเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ผ่าตัด และทำให้เรารู้จักโรคภัยไข้เจ็บเคสหายากต่างๆ รวมไปถึงเรื่องราวทางสังคมที่ชวนให้คิดต่อเป็นการบ้าน อย่างประเด็น #Metoo ที่เข้ากับสถานการณ์ช่วงปลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับการยอมรับตัวเองของคนไข้เด็กหญิงที่โดยเพศสภาพแล้วเป็นเด็กผู้ชาย เป็นต้น
Good Doctor เวอร์ชันอเมริกา ซีซันแรกมีทั้งหมด 18 ตอน
https://www.youtube.com/watch?v=fYlZDTru55g
Lost in Space (Season 1, 10 EP.)
Lost in Space เป็นซีรีส์แนวดราม่าวิทยาศาสตร์ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า เมื่อมนุษย์โลกครอบครองอาณานิคมในจักรวาลได้ และครอบครัวโรบินสันได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่จะขึ้นไปสร้างชีวิตใหม่บนโลกใบใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่เหตุฉุกเฉินระหว่างการเดินทางทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนเส้นทางและลงจอดที่ดาวเคราะห์ พวกเขาจะต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ห่างจากโลกใบเก่าหลายร้อยปีแสง
ซีรีส์ของ Netflix เรื่องนี้เป็นการรีเมกซีรีส์ระดับตำนานชื่อเดียวกันในปี 1965 และเคยทำเป็นหนังใหญ่ในปี 1998 แต่ Lost in Space ในเวอร์ชันนี้ก็ไม่ได้แค่รีเมกง่ายๆ ก๊อบปี้เวอร์ชันดั้งเดิมมาทุกกระเบียดนิ้ว หรือเน้นความมันกับฉากที่ถือว่ายกระดับวงการทีวี แต่ยังแฝงด้วยบริบทสังคมต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนซึ่งเรากำลังเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าเรื่องราวของบทบาทผู้หญิง พลังของเยาวชน การที่คนพยายามอพยพครอบครัวไปในที่ที่เปิดกว้างกว่าเพราะแรงกดดันของสังคมที่อยู่ปัจจุบัน และเรื่องสีผิวที่มีการเปลี่ยนตัวละครลูกสาวคนโต จูดี้ โรบินสัน ให้เป็นผิวสี
ซีรีส์ Lost in Space ใช้เวลาถ่ายทำนาน 7 เดือน ซึ่งยกกองไปถ่ายที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยโปรดักชันดีไซเนอร์ของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ รอสส์ เดมป์สเตอร์ ที่เคยฝากผลงานในหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง Godzilla และ Elysium ส่วนคนที่มาควบคุมวิชวลเอฟเฟกต์ก็คือ แจบบาร์ ไรซานี ที่เคยทำเรื่อง Iron Man และ Game of Thrones มาแล้ว
Versailles (Season 1, 10 EP.)
Versailles ซีรีส์สัญชาติฝรั่งเศสที่เล่าถึงเหตุการณ์ในพระราชวังแวร์ซายส์ช่วงปี 1667 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในวัย 28 ปี ตัดสินใจย้ายพระราชวังจากกรุงปารีสมาสู่พระราชวังแวร์ซายส์ และรวมศูนย์อำนาจการปกครองรวมถึงการบริหารประเทศเอาไว้ในมือ
การก่อสร้างพระราชวังที่หรูหราและยิ่งใหญ่เพื่อรองรับข้าราชบริพารหลายหมื่นชีวิต ค่าใช้จ่ายมหาศาล ทั้งสิ่งจำเป็นและความฟุ่มเฟือยของราชสำนักทำให้เกิดการขูดรีดภาษีจากประชาชน เมื่อบวกรวมสงครามช่วงท้ายรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสโค่นล้มระบบกษัตริย์ช่วงปี 1789-1799 ในรัชสมัยของกษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ในซีรีส์ Versailles เราได้เห็นความงดงามของพระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริง นอกเหนือจากงานสร้างที่พิถีพิถัน ซีรีส์ยังลงรายละเอียดในเรื่องเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทำให้เห็นถึงวิธีการแต่งกายของเหล่าราชสำนักในฝรั่งเศส
และแม้ว่าในซีซันแรก Versailles จะเน้นไปที่เรื่องราวรักสามเส้าระหว่างพระเจ้าหลุยส์, เจ้าชายฟิลิปป์ ดยุคแห่งออร์เลอ็อง พระอนุชา และเจ้าหญิงอองริแยตต์แห่งอังกฤษ คู่สมรสของเจ้าชายฟิลิปป์ รวมถึงเรื่องชู้สาวของเหล่าขุนนางและราชนิกุลที่ใช้ชีวิตในแวร์ซายส์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เข้าใจเรื่องราวการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้นคือการได้เห็นภาพการประชุมของคณะรัฐมนตรี รวมถึงการเปิดพระราชวังเพื่อต้อนรับอาคันตุกะจากดินแดนต่างๆ ทั้งฉากการต้อนรับคณะของเจ้าชายจากแอฟริกา และการส่งเจ้าหญิงอองริแยตต์ไปเป็นตัวแทนฝรั่งเศสเพื่อเจรจาทางการทูตกับพี่ชายของเธอที่ปกครองอังกฤษในขณะนั้น
ซีรีส์ Versailles สร้างโดยสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศส Canal+ ซีซันแรกออกอากาศเดือนพฤศจิกายน 2015 ซีซันที่ 2 ออกอากาศในเดือนมีนาคม 2017 และซีซันที่ 3 ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นซีซันสุดท้ายนั้นจะออกอากาศในปี 2018 นี้
The Push
เรื่องนี้ไม่ใช่ซีรีส์ แต่เป็นหนังสารคดียาว 1 ตอน อีกหนึ่งออริจินัลคอนเทนต์ของ Netflix ที่เราอยากแนะนำ
The Push คือสารคดีจำลองเหตุการณ์ทางสังคมเพื่อหาคำตอบว่า ‘เราจะถูกบงการด้วยแรงกดดันทางสังคมที่คุ้นเคยให้ทำการฆาตกรรมได้หรือไม่’ ผลงานกำกับของ แดร์เรน บราวน์ นักแสดงมายากลในรูปแบบจิตวิทยาที่โด่งดังจากการทำรายการโทรทัศน์ที่ประเทศอังกฤษ
โดยทีมงานได้คัดเลือกบุคคลเข้ามาทำการทดลอง เซตให้เขาคือผู้ปรารถนาดีที่จะสามารถระดมทุนจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ขาดโอกาส โดยเครื่องมือที่ทีมงานใช้ในการ ‘ผลักดัน’ หรือ Push ผู้ทำการทดลองคือสิ่งที่เรียกว่า ‘การจำนนทางสังคม’ (Social Compliance) ซึ่งตัวผู้ถูกทดลองจะค่อยๆ ถูกกดดันจากสถานการณ์เล็กๆ ตั้งแต่ให้ช่วยโกหกเรื่องป้ายติดอาหารมังสวิรัติ ทำร้าย ปลอมตัวเป็นคนอื่น ไปจนถึงจุดสุดท้ายของบททดสอบว่าเมื่อสถานการณ์กดดันถึงที่สุด เขาจะสามารถ ‘ผลัก’ คนคนหนึ่งให้ตกลงมาจากตึกเพื่อ ‘ผลประโยชน์ร่วม’ บางอย่างที่ถูกกดดันมาตั้งแต่ต้นได้หรือไม่
นอกจากตัวบทที่เขียนมาได้ดีแล้ว สิ่งที่ต้องชมอย่างมากคือการเล่นใหญ่ของทีมงาน ที่จำลองเหตุการณ์ สถานที่ นักแสดงที่มาเล่นเป็นหน้าม้าได้สมจริงมาก (ถึงขนาดสร้างหุ่นปลอมที่เหมือนคนจริงมากๆ ขึ้นมาได้) ผู้ถูกทดลองไม่มีทางที่จะสงสัยได้เลยว่านี่คือสถานการณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา เขาทำได้เพียงตกกระไดพลอยโจนไปตามบทที่ถูกเขียนไว้ (บางช่วงเราถึงกับสงสารผู้ถูกทดลองที่ถูกบีบคั้นมากๆ จนแทบไม่อยากดูต่อเหมือนกัน) เพื่อหาคำตอบเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
และสิ่งที่ผู้ถูกทดลองตัดสินใจจะไม่ใช่เพียงแค่ตอบคำถามในหนังเท่านั้น แต่ช่วยให้คำตอบที่กว้างขึ้นถึงการถูกผลักดันให้เราเข้าไปอยู่ในภาวะต้องจำนนต่อสังคมไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้เป็นอย่างดี