×

ทำไมคนเราถึงวนอยู่หน้าเมนู Netflix อยู่ 30 นาที และจบลงด้วยการปิดทีวีนอน

18.09.2019
  • LOADING...
Netflix

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • อาการหลงทางในเมนูหนังนั้นมักเกิดขึ้นกับพวกเราหลายคน ด้วยความที่หนังมันมี 2,000 เรื่อง แบบให้ดูพร้อมกันทีเดียว หน้าที่ของคนดูอย่างเราคือจ้องเมนูรายชื่อหนัง และการเฟ้นหาหนังที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง หนังที่เราพร้อมจะสละ 2 ชั่วโมงไปกับมัน
  • นี่คือวงจรอุบาทว์ของผู้ชม(เมนู) Netflix, อาจจะเป็นวงจรที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับหลายคน

ถ้าบอกว่าสิ่งที่สนุกที่สุดในการดู Netflix คือการดูเมนู Netflix, เจ้าของ Netflix จะดีใจไหม

 

ถ้าให้เราย้อนกลับไปยัง 4-5 ปีก่อนในยุคที่บริการสตรีมมิงเพิ่งจะมาถึง พวกเราชาวคนดูได้แต่ตั้งคำถามมากมายว่า ถ้าจะต้องมีการจ่ายรายเดือนเพื่อดูหนังอย่างเดียว พวกเราจะคุ้มค่าไหม หนังมันจะเยอะพอหรือเปล่า ในเดือนหนึ่งฉันจะดูเยอะจนเหลือเรื่องละ 20 บาทได้ไหม ถ้าไม่ได้นี่ อย่าสมัครดีกว่า 

 

ความต้องการพื้นฐานแบบนี้จากลูกค้าเป็นสิ่งที่ทำให้สตรีมมิงเซอร์วิสรีบปรับปรุงตัวโดยการที่พวกเขาพยายามกว้านซื้อหนังจากทุกค่ายมาอยู่ในระบบของตัวเองให้มากที่สุด รวมถึงผลิตชิ้นงานของตัวเองเสริมทัพเข้าไป การแข่งขันระหว่างระบบสตรีมมิงแต่ละเจ้านั้น นอกจากตัวคุณภาพของหนังในช่องแล้ว จริงๆ จำนวนหนังก็ดูจะมีผลไม่น้อย ว่าง่ายๆ คือ จะแข่งกันเปิดบุฟเฟต์ ก็ต้องมาดูกันว่าในร้านมีอะไรให้กินบ้าง ถ้าร้านไหนมีหลายอย่าง คนก็จะไปหาร้านนั้น เพราะราคาต่อหัวมันพอๆ กัน 

 

เวลาผ่านไประบบสตรีมมิงหลายราย ได้มาถึงจุดที่มีหนังหลายร้อยหลายพันไตเติลให้ได้เลือกชม แม้มันอาจจะมีไม่หมดครบทุกเรื่องบนโลก แต่ไอ้ 2,000 เรื่องที่พวกเรามี พวกคุณดูหมดแล้วหรือยัง แถมใน 2,000 เรื่องที่มีนั้น ก็แบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก คนที่เน้นอยากดูแต่หนังดราม่าคุณภาพเท่านั้น ก็จะมีเซ็กชันหนังดราม่าคุณภาพให้เลือกประมาณ 200 เรื่อง (เดือนหนึ่งดูหมดไหม) หรือถ้าเน้นแค่หนังตลก เขาก็มีอีก 400 เรื่อง (เดือนหนึ่งดูทันไหม) ด้วยจำนวนที่มหาศาลเยี่ยงนี้ และมีการอัปเดตรายสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ทำให้คนดูหนังยินยอมพร้อมใจจะสมัครบริการเหล่านี้อย่างเต็มใจ นัยว่าเสียค่าสมัครเดือนละ 300 บาท ดูสัก 3 เรื่องก็คุ้มละ (เริ่มปลง) เป็นมิชชันที่ทำได้ไม่ยาก 

 

แต่จริงๆ แล้ว มันยาก, ยากกว่าที่คิดมาก 

 

ในโลกความเป็นจริง อาการหลงทางในเมนูหนังนั้นมักเกิดขึ้นกับพวกเราหลายคน ด้วยความที่หนังมันมี 2,000 เรื่อง แบให้ดูพร้อมกันทีเดียว หน้าที่ของคนดูอย่างเราคือจ้องเมนูรายชื่อหนัง และการเฟ้นหาหนังที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง หนังที่เราพร้อมจะสละ 2 ชั่วโมงไปกับมัน โดยเราจะเริ่มจากการค่อยๆ ไล่หาไปเรื่อยๆ จากเรื่องที่ 1 ไปจนถึงเรื่องที่ 10 ยังไม่เจอหนังที่อยากดู เราก็จะค่อยๆ เดินทางสู่เรื่องที่ 50 ซึ่งอาจจะทำให้เราเจอหนังที่อยากดูสักเรื่องหนึ่ง แต่ในหัวเราจะคิดต่อว่าถ้าเราเดินทางไปสู่เรื่องที่ 150 เราอาจจะเจอหนังที่อยากดูกว่านั้นอีกนะ พอไปถึงเรื่องที่ 150 ก็รู้สึกว่ายังสำรวจไม่หมด ไปอีกนิดหนึ่งน่า เฮ้ย มีเรื่องนี้ด้วยเหรอเนี่ย โห สตรีมมิงเจ้านี้ดีจัง มีหนังเยอะนะ ดีๆ ทั้งนั้นเลย ไหนลองกดไปให้ถึงเรื่องที่ 350 มันจะต้องมีหนังแจ๋วๆ อย่างนี้อีกแน่เลย เอ้อ มีจริงๆ ด้วย แต่เรื่องนี้เคยดูแล้ว ลองหาเรื่องที่ไม่เคยดูดีกว่า เมื่อก้าวสู่เรื่องที่ 560 เจอหนังดีๆ เยอะเลย แต่ตอนนี้ยังไม่มีมู้ดอยากดูแนวนี้ ขอแอดเข้าลิสต์ส่วนตัวไปก่อน ครั้งหน้าจะแวะกลับมาใหม่ ขอลองดูเมนูเรื่องอื่นๆ ต่อดีกว่า

 

เมื่อทะยานสู่การกดเมนูไปยังเรื่องที่ 980 แล้ว เราก็พบว่าเรายังไม่ไปไหนเลย ผ่านไปจะชั่วโมงแล้ว ยังอยู่ที่หน้าเมนู เหนื่อยจัง ง่วงละ นอนดีกว่า 

 

นี่คือวงจรอุบาทว์ของผู้ชม (เมนู) Netflix, อาจจะเป็นวงจรที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับหลายคน และพวกเขาเหล่านั้นยังคงเป็นดั่งดวงวิญญาณที่หลงทางอยู่บริเวณเมนูหลัก และเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการ Add to My List 

 

คำถามคือทำไมพวกเราจึงเป็นแบบนี้กัน ก็ถือว่าโชคดีที่มีคนบนโลกคนอื่นๆ ตั้งคำถามนี้เช่นกัน พวกเราเลยลองทำการศึกษาหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร 

 

จริงๆ เขาเปรียบง่ายๆ ว่า มันคล้ายๆ กับการที่เวลาจะหาอะไรกินแล้วมันมีตัวเลือกร้านอาหารให้เลือกเยอะเกิน สุดท้ายเราก็พบว่าไม่รู้จะกินอะไรอยู่ดี ก็เลยเลือกร้านเดิมๆ ไม่ก็ร้านที่ใกล้ๆ เช่นเดียวกับการที่มีหนังใน Netflix ให้เราเลือกเยอะเกิน เราก็จะงงว่า จะเอาอันไหนดี เพราะโดยพื้นฐานเราก็อยากได้ของที่ดีที่สุด ได้ดูหนังที่เหมาะที่สุด แต่การควานหาจากกองหนังเป็นพันๆ เรื่อง ทำให้เราเหนื่อยและไปไม่ถึงจุดนั้น กลายเป็นว่าพวกหนังดูฟรีบนเครื่องบิน ที่จะมีแค่ประมาณไม่เกิน 100 เรื่องหรือน้อยกว่านั้น อาจจะเป็นอะไรที่ดีกว่า เพราะมีกรอบมีขีดจำกัดที่ช่วยให้เราเลือกได้ง่ายขึ้น ตัดสินใจได้ง่ายกว่า เพราะไอ้การที่เราหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง จริงๆ แล้วมันคือการ ‘หาสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เรามีและมองเห็นในเวลานั้น’ (แม้ว่าสิ่งที่มีและมองเห็นในเวลานั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่โลกนี้มีทั้งหมดจริงๆ) กลายเป็นว่า การมีตัวเลือกเยอะๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอ และหลายๆ ครั้งการมีตัวเลือกน้อยกว่า กลับดีกว่า 

 

จริงๆ แล้วเขาบอกว่า จำนวนตัวเลือกที่เหมาะสมกับคนเราที่สุดอาจจะอยู่ที่ 8-15 ตัวเลือกแค่นั้นเอง เรื่องนี้มีไปถึงขั้นทำการศึกษาสมองเวลาคนต้องเลือกว่าซื้ออะไรสักอย่าง นักวิจัยพบว่าจำนวนตัวเลือก 12 ตัวเลือกคือจำนวนที่สมองในส่วนที่จะคำนวณราคา และส่วนที่คำนวณคุณค่านั้นทำงานได้ดีที่สุด ถ้ามันน้อยกว่านั้นเราจะรู้สึกว่าคนให้ตัวเลือกนั้นขี้โกงเราที่ให้ทางเลือกเราน้อยเกิน แต่ถ้าเยอะกว่านั้นเราจะรู้สึกเหนื่อยเกิน และอาจตกลงไปอยู่ในวังวนที่เรียกว่า Paradox of Choice ซึ่งเป็นสภาวะที่เราจะมองหาสิ่งที่ดีที่สุดไปเรื่อยๆ แบบไม่มีวันจบสิ้น เพราะเราจะรู้สึกตลอดเวลาว่าในตัวเลือกที่เยอะขนาดนี้ มันจะต้องมีสิ่งที่ดีกว่ารอเราอยู่ ผลทางใจที่จะตามมาคือ เราจะเครียดขึ้นในการตัดสินใจ เพราะถ้าเราเลือกตัวเลือกที่ไม่ถูกต้อง เราอาจจะรู้สึกเฟล (มีให้เลือกเยอะขนาดนี้ มึงยังเลือกพลาดอีกเหรอ) จนสุดท้ายเราอาจจะไม่ได้เลือกอะไรเลย เพราะไม่กล้าเลือก หรือไม่ก็ไปเลือกตัวเลือกเซฟๆ เช่น การกลับไปดูหนังเก่าที่เคยดูแล้วเรื่องเดิม 

 

จริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจนะครับ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระบบสตรีมมิง แต่เกิดขึ้นกับแทบทุกอย่างในยุคที่ผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อันเป็นสถานที่ที่ใครสามารถเจออะไรก็ได้ ยิ่งกูเกิล ก็ยิ่งเจอตัวเลือกต่างๆ อีกมากมาย เราจึงต้องการอินฟลูเอนเซอร์, ร้านซีเลกต์ช็อป, เว็บไซต์ที่คอยแนะนำว่าวันเสาร์-อาทิตย์นี้ควรทำอะไรดี หรือระบบอัลกอริทึมต่างๆ ที่ช่วยเลือกช่วยคิวเรตสิ่งต่างๆ มาให้เราหน่อย และเราเชื่อมันไปเลย เพราะตัวเราไม่ต้องการจะเลือกผิด แต่ก็เหนื่อยเกินไปในการที่จะไล่เช็กทุกอย่างบนโลก แต่ถ้าไม่หา ก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ทำการบ้านดีพอ อุตส่าห์อยู่ในยุคที่มีตัวเลือกมากมาย แต่ดันขี้เกียจเสาะหา มักง่ายหรือเปล่า ดังนั้นหาคนที่เราเชื่อใจมากๆ มาชี้นำทางให้เราเลยดีกว่า แก้ไขความรู้สึกผิดได้หมด

 

นี่ขนาดตอนนี้มีแค่บริการสตรีมมิงใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้า ยังมึนขนาดนี้ ในปีถัดๆ ไป สตรีมมิงเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Disney หรือ Apple กำลังจะมาอีก ถ้าใครสมัครสองที่สามที่ ก็คงมีให้เลือกประมาณ 4,000-6,000 เรื่อง คราวนี้ไม่รู้จริงๆว่า เราจะได้ดูหนัง หรือ เราจะได้ดูเมนูหนัง อย่างสนุกสนานกันแน่ 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising